Thursday, May 25, 2023
More

    กทม. พัฒนาช่องทางรายงานค่าฝุ่น PM2.5 เล็งทำระบบแจ้งเตือนผ่าน SMS

    นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. กล่าวว่า กทม.พัฒนาช่องทางในการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศแจ้งเตือนค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ แบบ Real Time ผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่ www.bangkokairquality.com, www.air4bangkok.com, Facebook : กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักงานประชาสัมพันธ์ และเพิ่มรายงานผ่านแอปพลิเคชัน AirBKK เพื่อแสดงผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศครอบคลุมพื้นที่ที่ไม่มีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของ กทม.และกรมควบคุมมลพิษ

    โดยแสดงผลข้อมูลรายชั่วโมง และแสดงเป็นระดับสี ตามเกณฑ์ดัชนีคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ พร้อมทั้งบอกแนวทางการปฏิบัติ และการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพในกรณีที่ระดับคุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยประชาชนสามารถดาวน์โหลดเวอร์ชั่นทดลองใช้สำหรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์


    นอกจากนี้ ในอนาคตมีแผนพัฒนาเพื่อปรับปรุงระบบประมวลผลให้สามารถรองรับการเฝ้าระวัง และการพยากรณ์คุณภาพอากาศให้ครอบคลุมสารมลพิษที่สำคัญทุกชนิด รวมถึงการจัดทำระบบรายงาน และแจ้งเตือนผ่านข้อความทางโทรศัพท์มือถือ (SMS) ส่วนการปฏิบัติงานของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ เดิมมี 37 สถานี ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตั้งอีก 13 สถานี คาดจะแล้วเสร็จภายในเดือน ก.พ. 2563 ซึ่งจะทำให้ กทม. มีสถานีตรวจวัด PM 2.5 ทั้งหมด 50 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ 50 เขต

    ด้าน นายชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 68 แห่ง จัดเตรียมเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ในการป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 พร้อมรับสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน โดยดำเนินการ ดังนี้ ในสถานการณ์ปกติ ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อยู่ในระดับไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ดำเนินการประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนัก ให้ความรู้ในการป้องกันและดูแลตนเองแก่ประชาชนในพื้นที่และเด็กนักเรียน

    ส่วนในสถานการณ์ที่ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เกินมาตรฐานมากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ดำเนินการเฝ้าระวังประชาชนกลุ่มเสี่ยง สถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อยู่ในระดับ 50 – 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ออกหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ และเมื่อค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อยู่ในระดับ 76 – 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน ดำเนินการติดตามเยี่ยมผู้ป่วยกลุ่มสี่ยงในพื้นที่ทันที

    ขณะที่ นายสุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวว่า สำนักการแพทย์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักอนามัย สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขต และหน่วยงานภายนอก จัดกิจกรรมหน่วยแพทย์และสาธารณสุขเคลื่อนที่ให้บริการพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากค่าฝุ่นละออง PM 2.5

    รวมทั้งจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องฝุ่นละออง PM 2.5 แนวทางการป้องกันโรคที่อาจเกิดจากฝุ่น คำแนะนำวิธีปฏิบัติตนเมื่ออยู่ในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่นละอองสูง โดยประชาชนสามารถดูได้ที่แอปพลิเคชัน BKK Connect และ FB Fanpage สำนักการแพทย์

    ส่วนของโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ได้กำชับให้ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างใกล้ชิด เพื่อออกปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วยยามจำเป็น จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีฝุ่นละออง PM 2.5 เกิน 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จัดเครื่องกรองอากาศ PM 2.5 เพื่อใช้ในโรงพยาบาล จัดเตรียมยาเวชภัณฑ์ หน้ากากอนามัย เพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชน รวมทั้งฉีดพ่นละอองน้ำจากสปริงเกอร์บนชั้นดาดฟ้าของตึกที่ได้ดำเนินการติดตั้งไว้แล้ว เพื่อลดภาวะฝุ่นละอองในบริเวณพื้นที่โรงพยาบาล นอกจากนี้ ได้เปิดบริการ Hotline 1646 สายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ตอบปัญหาให้คำปรึกษาข้อมูลสุขภาพ หากเกิดอาการผิดปกติจาก PM 2.5 ต้องการพบแพทย์จะต่อสายไปยังศูนย์ BFC : Bangkok Fast & Clear ศูนย์บริหารราชการฉับไว ใสสะอาด ของแต่ละโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ต่อไป

    ทั้งนี้ สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 จะมีค่าที่สูงในช่วงเวลาเช้ามืด และลดลงในช่วงสายถึงบ่าย และจะมีค่าสูงอีกครั้งในช่วงเวลากลางคืนจนถึงช่วงเช้ามืด ประชาชนจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของตนเอง หมั่นตรวจสุขภาพร่างกาย ตำแหน่งที่พักอาศัย หรือสถานที่ที่จะต้องเดินทางไปประกอบกิจกรรมต่างๆ เปรียบเทียบกับค่าฝุ่นเพื่อประเมินสถานการณ์ มีความตระหนักและเลือกวิธีปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมโดยไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป