Wednesday, December 6, 2023
More

    สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา สวนสาธารณะเชื่อมชุมชนที่ทอดข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา

    “สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” หนึ่งความสำเร็จของการพัฒนาเมืองสู่อนาคต

    “สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” (Chao Phraya Sky Park) คือการปรับปรุงภูมิทัศน์ทางสัญจรบนโครงสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณช่องกลางสะพานพระปกเกล้า หรือก็คือโครงสร้างเดิมของโครงการรถไฟฟ้าลาวาลิน ที่ถูกทิ้งร้าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์มานานกว่า 30 ปี จนได้รับการเรียกขานกันจนติดปากว่า “สะพานด้วน” ให้กลายเป็นทางเดิน และทางจักรยานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเชื่อมต่อระบบการสัญจรระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนคร โดยมีต้นไม้ และพืชพันธุ์ให้ความร่มรื่นตลอดเส้นทาง

    โดยการปรับปรุงสะพานด้วน สู่แลนด์มาร์คแห่งใหม่นี้ มีที่มาจากการจัดทำแผนแม่บทโครงการ “กรุงเทพ 250” ของ กรุงเทพมหานคร และศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ที่ต้องการอนุรักษ์ และฟื้นฟูเมืองย่านเมืองเก่า ให้มีความน่าอยู่ และสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาเมืองในอนาคต ควบคู่ไปกับการเชื่อมโยงความหลากหลาย ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ “กรุงเทพฯ 250 อนาคต โอกาส ความหลากหลายของทุกคน” ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของวาระสำคัญในการเฉลิมฉลองการสถาปนา 250 ปี กรุงรัตนโกสินทร์ และ 100 ปี ประชาธิปไตยไทย ในปี พ.ศ. 2575


    อีกทั้งยังเป็นแผนงานที่สอดคล้องกับนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ให้เรื่องนี้เป็น 1 ใน 9 ภารกิจเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการทันที เพื่อให้การพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ เป็นรูปธรรม และเป็นไปตามนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนโยบายที่ 4 คุณภาพชีวิตที่ดี (Care) ดูแลคุณภาพชีวิตประชาชน สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ

    จุดประกายไอเดียฟื้นฟูซากรถไฟฟ้าลาวาลิน

    โดยในขณะนั้น คณะทำงาน UddC นำโดย ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการ UddC และหัวหน้าโครงการกรุงเทพฯ 250 ได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจและสอบถามความคิดเห็นตามขั้นตอนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งได้รับการตั้งคำถามจาก คุณประดิษฐ์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานชุมชนบุปผาราม ว่าทำไมไม่เอาสะพานด้วนที่ทิ้งไว้เฉย ๆ มาทำอะไรให้เกิดประโยชน์

    จากคำถามนั้น กลายเป็นการจุดประกายไอเดียก่อให้เกิดการสานต่อโครงการ ปรับปรุงฟื้นฟูภูมิทัศน์สะพานด้วน และผลักดันให้เป็นหนึ่งในโครงการนำร่องภายใต้แผนการอนุรักษ์ฟื้นฟูเมืองย่านนำร่อง ย่านกะดีจีน-คลองสาน โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) เป็นที่ปรึกษาและจัดทำแบบการพัฒนาเบื้องต้น โดยในระยะแรกเรียกชื่อโครงการว่า “พระปกเกล้า Sky Park”

    ต่อมาสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กทม. ได้ว่าจ้าง บริษัท เอส จี อาร์ เอนเตอร์ไพร์ส จำกัด ผู้ชนะการประกวดราคา ในวงเงิน 122,713,000 บาท ให้เป็นผู้ดำเนินการ โครงการพระปกเกล้า Sky Park มีกำหนดเวลาดำเนินการ 360 วัน (เริ่มลงนามในสัญญา 28 มีนาคม 2562 และครบกำหนดสัญญา 23 มีนาคม 2563)

    จากสะพานด้วนสู่แลนด์มาร์คใหม่แห่งแม่น้ำเจ้าพระยา

    “สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” มีทางเดินและทางจักรยาน ยาว 280 เมตร ความกว้าง 8.50 เมตร และมีระยะห่าง 0.80 เมตร จากช่องทางเดินรถสะพานพระปกเกล้าทั้งสองฝั่ง และความสูงคงที่วัดจากระดับพื้นดินที่ 9.00 เมตร และมีการติดตั้งราวกันตกความสูง 2-3 เมตร พร้อมทั้งติดตั้งลิฟต์สำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุที่มาใช้บริการ

    ด้านภูมิสถาปัตยกรรม มุ่งเน้นการใช้งาน บำรุงรักษาง่าย โดยเลือกใช้พันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร มีต้นมะกอกน้ำเป็นไม้ยืนต้นหลัก และพันธุ์พืชอีกนานาชนิด อาทิ ชาข่อย ใบต่างเหรียญ รัก หญ้าหนวดแมว ยี่โถ ชงโค ต้อยติ่ง เอื้องหมายนา เป็นต้น ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวและต้นไม้ให้เมือง อีกทั้งพืชบนสวนลอยฟ้ายังมีประโยชน์กับแมลงและระบบนิเวศโดยรวมด้วย

    นอกจาก “สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” จะเป็นเส้นทางเชื่อมการสัญจรระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนครแล้ว ยังเชื่อมสวนป่ากรุงเทพมหานครเฉลิมพระเกียรติ เชิงสะพานพระปกเกล้า เขตคลองสาน เข้ากับสวนสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในเขตพระนครอีกด้วย ซึ่งสามารถใช้เป็นเส้นทางเชื่อมโยงทางสัญจรสู่พื้นที่ต่อเนื่องบริเวณคลองรอบกรุงรัตนโกสินทร์ อาทิ บริเวณคลองโอ่งอ่าง ซึ่งมีการปรับภูมิทัศน์โดยกรุงเทพมหานคร และย่านอื่น ๆ อาทิ คลองถม สะพานหัน พาหุรัด ปากคลองตลาด เป็นต้น

    จุดชมวิวแม่น้ำเจ้าพระยาแบบ 360 องศา

    นอกจากจะเป็นแหล่งนันทนาการริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้สำหรับพักผ่อน และออกกำลังกายแล้ว ยังเป็นจุดชมวิวกลางแม่น้ำเจ้าพระยาที่สวยงามที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยออกแบบให้มีจุดชมวิว 360 องศา เหนือแม่น้ำเจ้าพระยา แบ่งจุดชมวิวออกเป็น 3 จุด ประกอบด้วย ลานอรุณรุ่ง ใจเจ้าพระยา และลานตะวันรอน เพื่อส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแลนด์มาร์ค แห่งใหม่ของกรุงเทพมหานครที่มีชีวิตชีวา

    ซึ่งเมื่อขึ้นไปอยู่บน “สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” เราจะได้เห็นวิวที่สวยงามของแม่น้ำเจ้าพระยา และอาคารสถานที่สำคัญ มีเอกลักษณ์ ที่อยู่โดยรอบทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำ ไม่ว่าจะเป็น

    – สะพานพระพุทธยอดฟ้า
    – พระบรมธาตุมหาเจดีย์วัดประยุรวงศาวาส
    – วัดซางตาครูส
    – วัดกัลยาณมิตร
    – ชุมชนกุฎีจีน
    – พระปรางค์วัดอรุณ
    – อาคารไปรษณียาคาร
    – ศาลเจ้าพ่อกวนอูคลองสาน

    รวมถึงตลาดยอดพิมาน และห้างสรรพสินค้าไอคอนสยาม ซึ่งล้วนแต่เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ให้เดินทางท่องเที่ยวได้อย่างต่อเนื่อง และนับเป็นใจกลางแหล่งท่องเที่ยวที่มีความหลากหลายทางด้านศิลปะและวัฒนธรรม

    “สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” ช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้รถยนต์ในพื้นที่ได้ถึงร้อยละ 15

    นอกจากนั้น Urban Design and Development Center (UddC) ยังได้ให้ข้อมูลตัวเลขที่น่าสนใจเกี่ยวกับ สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา ไว้ด้วย นั่นคือ

    – 280 x 8.5 x 9 คือ ความยาว x ความกว้าง x ความสูงของสวนลอยฟ้า (ม.)
    – 22,400 คือ ขนาดพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด (ตร.ม.)
    – 200 คือ จำนวนสถานที่ท่องเที่ยว มรดกวัฒนธรรม ศาสนสถาน สาธารณูปโภคทางปัญญา ฯลฯ โดยรอบโครงการ
    – 26 คือ จำนวนสถานศึกษาของฝั่งพระนคร-ฝั่งธนบุรีที่นักเรียนสามารถใช้สะพานเดินข้ามไปเรียน
    – 76 คือ ค่าคะแนนการเดินเท้า (walkscore) ที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 49 เมื่อสวนลอยฟ้าเปิดใช้งาน (คะแนนเต็ม 100)
    – 15 คือ ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลง เนื่องจากอัตราการใช้รถยนต์ในพื้นที่ต่ำลงเมื่อสวนลอยฟ้าเปิดใช้งาน (ร้อยละ)
    – 172 คือ จำนวนต้นไม้ที่ปลูกเพิ่มในโครงการ
    – 0 คือ จำนวนต้นไม้เดิมในพื้นที่โครงการที่ถูกตัดทิ้ง

    “สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” นับเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง เป็นต้นแบบของการฟื้นฟูเมืองที่ให้ผลสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ ที่แสดงให้เห็นว่าการฟื้นฟูเมือง การพัฒนาพื้นที่สีเขียว การพัฒนาพื้นที่สาธารณะประโยชน์เพื่อส่วนรวม ไม่จำกัดอยู่เฉพาะโครงการที่ต้องลงทุนด้วยเม็ดเงินมหาศาล ต้องมีพื้นที่กว้างขวาง หรือต้องเป็นเมกะโปรเจกต์เสมอไป อีกทั้งยังทำให้เห็นถึงพลังการขับเคลื่อนโครงการจากหลายหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร UddC การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กรมเจ้าท่า (จท.) ที่ร่วมกันผลักดันจนโครงการสำเร็จ และจุดที่สำคัญที่สุดก็คือเป็นโครงการที่เกิดจากความต้องการและการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง

    สวนลอยฟ้าเจ้าพระยาเปิดให้บริการทุกวัน เวลา 05:00 – 20:00 น.

    จากพระปกเกล้า Sky Park สู่ชื่ออย่างเป็นทางการ คือ “สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” (Chao Phraya Sky Park) ที่ได้รับคัดเลือกตามโครงการประกวดตั้งชื่อ ชิงเงินรางวัล 15,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ โดยผู้ที่ชนะการประกวด ได้แก่ นายชัยหวัง อะมริด อายุ 78 ปี

    โดยวันนี้ สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา พร้อมเปิดให้ทุกคนได้ไปใช้บริการ พร้อมกับสัมผัสบรรยากาศการท่องเที่ยวในอีกรูปแบบหนึ่งแล้ว

    โดยประชาชนและนักท่องเที่ยว สามารถไปใช้บริการได้ทุกวันในช่วงเวลา 05:00 – 20:00 น. ทั้งนี้ ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของสำนักงานสวนสาธารณะ กทม. อย่างเคร่งครัด

    การเดินทางไปยัง สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา ด้วยรถประจำทาง เรือด่วนเจ้าพระยา และ MRT

    สำหรับการเดินทางไป “สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” ไปได้หลายวิธีดังนี้

    – โดยสารรถประจำทางมาลงที่ใต้สะพานพุทธ ได้แก่ สาย 3, 7ก, 9, 42, 8, 73, 73ก และ 82
    – เดินทางด้วยเรือด่วนเจ้าพระยาขึ้นที่ท่าสะพานพุทธ (เฉพาะเรือด่วนธงสีส้ม) และเรือประจำทาง (แบบธรรมดา ไม่มีธง)
    – การใช้บริการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน สามารถมาลงที่สถานีสนามไชยออกทางออก 4 ก็สามารถเดินไปถึงได้ในระยะประมาณ 800 เมตร