Thursday, October 5, 2023
More

    กทม. เตรียมเปิดบริการรถไฟฟ้าสายสีทอง กลางเดือน ธ.ค. 63 นำร่อง 3 สถานี

    กทม. เตรียมเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีทอง กลางเดือน ธ.ค. 63 พร้อมเก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสายทันที สถานีที่เปิดบริการระยะที่ 1 ของรถไฟฟ้าสายสีทองประกอบด้วยสถานีกรุงธนบุรี สถานีเจริญนคร และสถานีคลองสาน ให้บริการช่วงเวลา 06:00-24:00 น.

    การก่อสร้าง และติดตั้งระบบของโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ในภาพรวมมีความก้าวหน้า 96%


    เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2563 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ผู้บริหารบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และผู้บริหาร บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการก่อสร้าง และร่วมทดสอบระบบการเดินรถ โครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง สายสีทอง ระยะที่ 1 ช่วง สถานีกรุงธนบุรี-สถานีสำนักงานเขตคลองสาน

    พบการก่อสร้างและติดตั้งระบบของโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ในภาพรวมมีความก้าวหน้า 96% แบ่งเป็น
    – ความก้าวหน้างานโยธา 98%
    – ความก้าวหน้างานระบบการเดินรถ 92%
    ซึ่งขณะนี้ขบวนรถไฟฟ้าที่จะให้ใช้วิ่งบริการได้รับมอบครบ 3 ขบวน 6 ตู้แล้ว และอยู่ระหว่างการทดสอบระบบการเดินรถ โดยคาดว่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 45 วัน ในการทดสอบความพร้อม ตรวจเช็คข้อบกพร่องต่าง ๆ เพิ่มเติม

    รถไฟฟ้าสายสีทองเปิดอย่างเป็นทางการ 3 สถานี กลางเดือนธ.ค. 63

    โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีทองอย่างเป็นทางการทั้ง 3 สถานีได้ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งจะเก็บค่าโดยสารทันที ในอัตรา 15 บาทตลอดสาย โดยเบื้องต้นจะเปิดให้บริการในช่วงเวลา 06:00-24:00 น.

    “การทดสอบระบบ จะทดลองจนหมดข้อสงสัย ไม่มีข้อบกพร่อง เพื่อให้มีความสมบูรณ์ และปลอดภัยที่สุดแล้วจึงจะเปิดให้บริการ ซึ่งคาดว่าในระยะแรกจะมีผู้โดยสารประมาณ 42,000 คน-เที่ยวต่อวัน

    และรายได้จากค่าโดยสารจะเป็นของ กทม. แต่ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ด้วยว่าหากผู้โดยสารไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ภาคเอกชนจะต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนรายได้ในส่วนที่ขาดทุนไปด้วย” พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กล่าว

    รายละเอียดแผนการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทองระยะที่ 2

    ผู้ว่าราชการ กทม. ยังกล่าวอีกว่า รถไฟฟ้าสายสีทองจะไม่มีช่วงโปรโมชั่นให้ทดลองใช้บริการฟรี เนื่องจากโครงการนี้ลงทุนก่อสร้างโดยภาคเอกชน ประมาณ 2,500 ล้านบาท กทม. จึงไม่สามารถกำหนดได้ ขึ้นอยู่กับการตัดสินของภาคเอกชน

    สำหรับแผนการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีทองระยะที่ 2 อีก 1 สถานี คือ สถานีประชาธิปกนั้น ผู้ว่าราชการ กทม. บอกว่าขอให้เปิดใช้งานรถไฟฟ้าสายสีทองระยะที่ 1 แล้ว ประมาณ 6 เดือน จากนั้นจะประเมินว่าผู้โดยสาร และผลประกอบการเป็นอย่างไร หากเป็นไปในทิศทางบวกก็จะพิจารณาเรื่องการก่อสร้างอีก 1 สถานีที่เหลือต่อไป

    อย่างไรก็ดี การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสึทองระยะที่ 1 จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในย่านฝั่งธนฯ ที่จะมีทางเลือกในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบริเวณสถานีคลองสาน ซึ่งเป็นที่ตั้งของหน่วยงานราชการหลายแห่ง อาทิ
    – โรงพยาบาลตากสิน
    – สำนักการศึกษา
    – สำนักงานเขตคลองสาน
    – สน.ปากคลองสาน

    ซึ่งจะช่วยให้การเดินทางมาติดต่อราชการของประชาชนสะดวกมากขึ้น โดยรถไฟฟ้าสายสีทองยังเชื่อมต่อการเดินทางระบบ ล้อ ราง เรือ รองรับผู้โดยสารจากรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สถานีกรุงธนบุรี และเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีแดงในอนาคต รวมทั้งยังเชื่อมการเดินทางของประชาชนที่ใช้บริการเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยาอีกด้วย

    สถานีที่เปิดบริการระยะที่ 1 ของรถไฟฟ้าสายสีทองประกอบด้วยสถานีกรุงธนบุรี สถานีเจริญนคร และสถานีคลองสาน

    นอกจากนี้การพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าดังกล่าวยังช่วยเพิ่มมูลค่าของที่ดินบริเวณแนวรถไฟฟ้า เสริมสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่ และจะเป็นจุดไฮไลต์อีกแห่งหนึ่งที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยว อันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ได้ทางหนึ่งด้วย

    ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง
    – ระยะทางรวม 2.75 กิโลเมตร
    – 4 สถานี

    วิ่งตามแนว
    – ถนนกรุงธนบุรี
    – ถนนเจริญนคร
    – ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน

    การดำเนินงานแบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยในปัจจุบันเป็นการดำเนินการระยะที่ 1 ระยะทาง 1.80 กิโลเมตร ประกอบด้วย
    – สถานีกรุงธนบุรี (G1)
    – สถานีเจริญนคร (G2)
    – สถานีคลองสาน (G3)

    ระบบรถไฟฟ้าเป็นระบบ Automated Guideway Transit (AGT) หรือระบบขนส่งมวลชนแบบนำทางอัตโนมัติ หรือรถไฟฟ้าระบบ Automated People Mover (APM) เป็นระบบล้อยาง โดยรถที่นำมาใช้เป็นรถไฟฟ้ารุ่น Bombardier Innovia APM 300 ความเร็วสูงสุดที่ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง จำนวน 3 ขบวน ขบวนละ 2 ตู้ ความจุผู้โดยสาร 138 คน/ตู้ ตู้รถไฟฟ้ามีความกว้าง 2.8 เมตร ความยาว 12.75 เมตร ความสูง 3.5 เมตร ประตูมีความกว้าง 1.9 เมตร ความสูงของพื้นรถ 1.1 เมตร คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารเมื่อเปิดให้บริการ อยู่ที่ประมาณ 42,000 เที่ยว-คน/วัน