Wednesday, December 6, 2023
More

    กทม. มีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมสูงสุดกว่าร้อยละ 35.52 ของพื้นที่ทั้งหมด 1,571.13 ตร.กม.

    สภาวิศวกร ผนึก สำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เผยบิ๊กเดต้าคำนวณพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เผยให้เห็นถึงพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีความเสี่ยงน้ำท่วมถึง 35.52 % โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ บางนา คลองเตย และรามคำแหง พร้อมเสนอการแก้ไขด้วยการเปิดตัวต้นแบบถังเก็บน้ำแก้มลิง และแก้มลิงในซอย เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาฝนตกน้ำท่วมสำหรับชาวกรุงเทพ และเตรียมเสนอข้อมูลภาครัฐเพื่อเป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ


    บางนา คลองเตย และรามคำแหง พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมมากสุดใน กทม.

    ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร และอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อประชาชนคนเมือง สภาวิศวกร ร่วมกับ สำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) สจล. ใช้บิ๊กเดต้า คำนวณพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เพื่อเตรียมหาแนวทางรับมือที่ยั่งยืน ตลอดจนนำมาประยุกต์ใช้ในการจัดโซนนิ่ง เมืองขนาดใหญ่ โดย 5 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ พื้นที่แหล่งน้ำ การใช้ประโยชน์ที่ดิน การคมนาคม (ถนนสายหลัก) พื้นที่น้ำท่วมปี พ.ศ. 2552-2562 และระดับความสูงของพื้นที่ โดยจากการวิเคราะห์ 70 จุดเสี่ยงภัยน้ำท่วมบริเวณ ถนน ยังพบว่า กรุงเทพฯ มีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมสูงสุดกว่าร้อยละ 35.52 ของพื้นที่ทั้งหมด 1,571.13 ตารางกิโลเมตร โดยเฉพาะเขตพื้นที่บางนา คลองเตย และรามคำแหง

    เผยความสามารถบิ๊กเดต้า แสดงกราฟิก 70 เมื่อมีปริมาณน้ำฝนถึง 60 มิลลิเมตร/ชม.

    บิ๊กเดต้า สามารถเผยให้เห็นถึงกราฟิก 70 จุดเสี่ยงน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพฯ ประกอบด้วย 56 จุดเสี่ยงน้ำท่วมทันที่ หากมีปริมาณน้ำฝนเกิน 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง เช่น ถนนพระราม 3 ช่วงตลาดฮ่องกงปีนัง-แยก ณ ระนอง ถนนงามวงศ์วาน ช่วงแยกเกษตร ถนนรัชดาภิเษก แยกพระราม 9-แยกห้วยขวาง ถนนแจ้งวัฒนะ มรก.พน. ถนนรามคำแหง ช่วงมหาวิทยาลัยรามคำแหง ถนนอโศกมนตรี และ ถนนพัฒนาการ แยกศรีนครินทร์-คลองบ้านป่า และในส่วน 14 จุดเสี่ยงน้ำท่วม กรณีมีปริมาณน้ำฝนไม่เกิน 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ได้แก่ ถนนแจ้งวัฒนะ จากคลองประปา-คลองเปรมประชากร ถนนรัชดาภิเษก บริเวณหน้าธนาคารกรุงเทพ และ ถนนพหลโยธิน บริเวณหน้าตลาดอมรพันธ์และแยกเกษตร

    “แก้มลิงยักษ์ใต้ดิน” ต้นแบบแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังอย่างยั่งยืน

    แนวคิดผลักดันเทคโนโลยีวิศวกรรมอย่าง “แก้มลิงยักษ์ใต้ดิน” อีกหนึ่งทางออกในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน โดยอ้างอิงข้อมูลจากโครงสร้างกรุงเทพฯ ที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ถนนต่ำกว่าแหล่งน้ำ ซึ่งเมื่อฝนตกลงมา น้ำจึงระบายไม่ได้เพราะ ถนนหลักและท่อระบายน้ำอยู่สูงกว่าซอย แม้กรุงเทพฯ จะมีอุโมค์ยักษ์ระบายน้ำในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง แต่ด้วยขีดความสามรถในการระบายน้ำ และปัญหาขยะอุดตัน ทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้เต็มประสิทธิภาพ จึงมีน้ำรอระบายบนถนนมากเกินไป ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าว สามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมในต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน อาทิ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ถนนออร์ชาร์ด สิงคโปร์ ฮ่องกง และมาเลเซีย

    เผยวิธีการสร้าง “แก้มลิงยักษ์ใต้ดิน” และ “แก้มลิงในซอย” ช่วยระบาย

    สำหรับนวัตกรรม “แก้มลิงยักษ์ใต้ดิน” โดยใช้วิธีเปิดหน้าดินเป็นช่องเล็กๆ แล้วใช้เครื่องมือเจาะคว้านดินด้านใน สร้างเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ พร้อมกับสร้างท่อระบายน้ำหลัก 4 ท่อ เชื่อมกับระบบท่อระบายอื่นๆ ของ กทม. เพื่อลำเลียงน้ำฝนบนพื้นถนน กักเก็บไว้ใต้ดินเพื่อรอระบายไปยังแหล่งน้ำ ซึ่งแนวคิดนี้สามารถนำร่องศึกษาในพื้นที่สวนเบญจกิติ บนพื้นที่ 130 ไร่ มีขอบเขตการให้บริการครอบคลุมพื้นที่ 900,000 ตารางเมตร และสามารถรับน้ำได้กว่า 100,000 ลูกบาศก์เมตร รวมถึงเตรียมเสนอแก้มลิงในซอย เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมท้ายซอย ซึ่งจะช่วยจัดการปัญหาน้ำท่วมขังได้ภายใน 15 นาที