เทศกาลกินเจที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับทั้งผู้บริโภคดั้งเดิม กลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนที่กินเจ ลดละการบริโภคเสื้อสัตว์ ขณะเดียวกันมีผู้ที่หันมากินเจเพื่อสุขภาพมากขึ้น ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัว รวมทั้งประชาชนบางกลุ่มยังกังวลผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 จึงเป็นปัจจัยที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการกินเจและปีนี้อาจจะไม่คึกคักหากเทียบกับปีก่อนๆ
ความสะดวก และปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ เปลี่ยนพฤติกรรมกินเจของคนกรุง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สำรวจพฤติกรรมคนกรุงเทพฯ เทศกาลกินเจในปี 2563 โดยมองว่า ความสะดวก และปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อการเข้าร่วมเทศกาลกินเจของคนกรุงเทพฯ และคาดการณ์ว่า การเข้าร่วมกิจกรรมกินเจของคนกรุงเทพฯ ในปีนี้น้อยลง เนื่องจากมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 63.0 จากกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจ รวมถึงความสะดวก/หาทานง่าย การกินเจตามกระแส และความอยากลองทาน เป็นปัจจัยที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นสำหรับกลุ่มเข้าร่วมกินเจ ซึ่งกลุ่มที่ยังคงกินเจจะอยู่ในกลุ่มช่วง 35-55 ปีขึ้นไปมากที่สุด เป็นกลุ่มที่ทานเจเป็นประจำและมีความพร้อมด้านรายได้ รวมถึงความไม่สะดวก ปัจจัยด้านราคา สะท้อนภาวะเศรษฐกิจมีผลต่อการเข้าร่วมกินเจในปีนี้
ปัจจัยโควิด-19 กระทบพฤติกรรมคนกรุงฯ ที่กินเจ 33% โดยส่วนใหญ่ จะควบคุมค่าใช้จ่าย
ประชาชนร้อนละ 87.5 ของผู้ที่เข้าร่วมกินเจยังคงกังวลต่อการแพร่ะบาดโควิด-19 มีเพียงร้อยละ 33.0 ของกลุ่มกินเจที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งในกลุ่มนี้แยกเป็นร้อยละ 81.8 ปรับพฤติกรรมโดยใช้วิธีควบคุมการใช้จ่ายการเลือกซื้ออาหาร รวมถึงลดวันและจำนวนมื้อลง ขณะเดียวกันภายใต้สถานการณ์ที่อาจไม่เอื้ออำนวย ยังมีประชาชนบางกลุ่มร้อยละ 18.2 ที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ใช้เวลานี้ หันมาเพิ่มการกินเจ สะสมบุญ โดยเฉพาะกลุ่มคนวัยทำงานที่มีกิจการส่วนตัว อายุ 40-44 ปีขึ้นไป และเป็นกลุ่มที่กินเจบางมื้อในสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 75.0
ภาวะเศรษฐกิจ การระบาดโควิด-19 ส่งพฤติกรรมการกินเจของคนกรุงเทพฯเปลี่ยนแปลงไป
– จำนวนมื้อที่กินเจ ปรับลดลง ซึ่งกลุ่มคนที่กินเจบางมื้อมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากเดิมที่กินเจ 6 วันตลอดช่วงเทศกาลเจในปีก่อน ลดเหลือเพียง 5 วัน เฉลี่ยมีการปรับลดถึง -12.3% ปัจจัยดังกล่าวถือเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการและจำหน่ายอาหารเจในแต่ละวัน
– งบประมาณกินเจเฉลี่ยต่อมื้อปรับลดลง โดยกลุ่มที่กินทุกมื้อปรับงบประมาณลงจาก 105 บาทต่อมื้อในปีที่ผ่านมา ลดเหลือเพียง 100 บาทต่อมื้อ และกลุ่มที่กินเจบางมื้อปรับลดลงจาก 100 เป็นมื้อละ 92 บาทคิดเป็นงบประมาณเฉลี่ยต่อมื้อที่ลดลงประมาณ -5.9%
– ร้านค้าแผงลอย/ริมทาง/ตลาดสด เป็นช่องทางการกินเจที่คนกรุงเทพฯ เลือกเป็นลำดับแรกในปีนี้ มีสัดส่วนร้อยละ 30.1 ของช่องทางทั้งหมด ต่างจากปีก่อนที่เลือกซื้อจากร้านอาหารเจโดยตรง สอดคล้องกับผลสำรวจพบว่า ปัจจัยคนกินเจในปีนี้ คือการชั่งน้ำหนักทางด้านราคายังมีสูงกว่าปีก่อน ร้านแผงลอย ริมทางหรือในตลาด ตอบโจทย์มากที่สุดในปีนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ตลอดช่วงเทศกาลกินเจปี 63 จะมีเม็ดเงินค่าใช้จ่ายประมาณ 3,930 ล้านบาท ซึ่งหดตัวร้อยละ 17.4 จากปีก่อน โดยเป็นการปรับลดลงทั้งในฝั่งของจำนวนผู้เข้าร่วม รวมถึงค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อมื้อที่ลดลง
กลยุทธ์การค้า ความท้าทายของผู้ประกอบการอาหารเจในปีนี้
สำหรับกลุ่มคนกินเจ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลักคือ กลุ่มที่กินเจทุกมื้อตลอดช่วงเทศกาล และกลุ่มที่กินเจบางมื้อ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ ถึงแม้ว่าทั้ง 2 กลุ่มจะไม่มีความแตกต่างทางด้านวัตถุประสงค์ แต่ความต่างก็คือกลุ่มคนที่กินเจทุกมื้อ จะให้น้ำหนักด้านสุขภาพในสัดส่วนที่สูงกว่า เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ทานทุกมื้อตลอด 9 วัน ขณะที่กลุ่มกินเจบางมื้อ จะเพิ่มน้ำหนักของการหาอาหารเจทานที่มีความสะดวกสูง ยิ่งเข้าถึงอาหารเจง่าย ยิ่งจูงใจให้คนกลุ่มนี้เข้ามาทานมากขึ้น
หากผู้ประกอบการต้องการจับตลาดคนกินเจทุกกลุ่ม ควรให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การตลาดที่สอดกลยุทธ์ด้านราคาอาหารที่ต้องไม่แพง กลยุทธ์ด้านความหลากหลายของเมนูอาหารที่ใช้วัตถุดิบแตกต่าง กลยุทธ์ด้านสุขภาพที่เน้นโภชนาการ และกลยุทธ์ด้านความสะดวกเพื่อเพิ่มการเข้าถึงลูกค้า
สำหรับเทศกาลกิจเจในปีนี้ ผู้ประกอบการอาจจะได้รับผลกระทบจากการเข้าร่วมเทศกาลที่ไม่คึกคักมากเท่าปีก่อน คงต้องมีการบริหารต้นทุนวัตถุดิบประเภทผักผลไม้ ซึ่งปีนี้ราคามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาอาหารเจ อีกทั้งติดตามพฤติกรรมการกินเจที่มีความแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มลูกค้า เพื่อจัดเตรียมกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับความต้องการได้อย่างเหมาะสม