Wednesday, December 7, 2022
More

    กทม.เร่งปรับปรุงภูมิทัศน์คลองในกรุงเทพฯ ส่งเสน่ห์จากวัฒนธรรมชุมชน ลงถนนคนเดิน

    อ่านแผนขยายการดำเนินการปรับภูมิทัศน์คลองรอบเกาะรัตนโกสินทร์ และคลองอื่น ๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร พร้อมทิศทางถนนคนเดินที่ใช้อัตลักษณ์ของคนในชุมชนเป็นจุดขาย

    เปิดเส้นทางพัฒนาคลองในกรุงเทพฯ

    หลังความสำเร็จในการปรับภูมิทัศน์คลองโอ่งอ่างที่เปลี่ยนให้เป็นถนนคนเดินทุกวันศุกร์-อาทิตย์ ทุกสัปดาห์ สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร เผยว่าเตรียมปรับปรุงภูมิทัศน์ และพัฒนาสภาพแวดล้อมคลองรอบเกาะรัตนโกสินทร์ต่อเนื่อง


    ทั้งกวดขันไม่ให้มีผู้ค้ารุกล้ำตั้งวางแผงค้า และขอความร่วมมือเจ้าของอาคารทาสีในบริเวณนั้นให้เป็นโทนเดียวกัน

    โดยเส้นทางพัฒนา อย่าง
    – คลองโอ่งอ่างจากสะพานโอสถานนท์ – สะพานดำรงสถิต
    – โครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. พร้อมทางเดินคลองรอบกรุง (บางลำพู)
    – โครงการก่อสร้างเขื่อนเป็นแบบลายอิฐจากบริเวณถนนพระรามที่ 4 ถึงประตูระบายน้ำสามเสน
    ดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด

    ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่
    – โครงการก่อสร้างและปรับปรุงเขื่อน ค.ส.ล. คลองโอ่งอ่างถึงคลองบางลำพู
    ตั้งแต่สะพานดำรงสถิตถึงป้อมพระสุเมรุ กำหนดแล้วเสร็จปี 2565

    – โครงการปรับปรุงผนังเขื่อนเป็นแบบลายอิฐจากบริเวณถนนพระรามที่ 4
    ไปทางคลองมหานาค คาดแล้วเสร็จปลายปี 2563

    โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองคูเมืองเดิม อยู่ระหว่างการออกแบบ

    นอกจากนี้ ยังมีโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองคูเมืองเดิม (คลองหลอด) ซึ่งอยู่ระหว่างการออกแบบโดยสำนักการโยธา กทม. เมื่อแล้วเสร็จจะขอจัดสรรงบประมาณ เพื่อดำเนินการก่อสร้างต่อไป

    โครงการถนนคนเดิน และการพัฒนาพื้นที่ริมคลองโอ่งอ่างระยะ 2

    สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่ริมคลองโอ่งอ่างระยะ 2 สำนักงานเขตพระนครได้ตรวจสอบแนวเขตคลองพร้อมประสานเจ้าของอาคารให้เตรียมรื้อย้ายอาคาร ส่วนที่รุกล้ำพื้นที่ริมคลอง เพื่อให้สำนักการระบายน้ำเข้ามาพัฒนาพื้นที่เตรียมขยายการดำเนินการถนนคนเดินในระยะต่อไป

    ส่วนการตั้งวางแผงค้าตามโครงการถนนคนเดิน เป็นนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อลดผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจหลังโควิด-19 โดยแบ่งผู้ค้าเป็น 2 ประเภท ได้แก่
    – ผู้ค้าประเภทแผงค้าชั่วคราว ประมาณ 190 แผง
    – ผู้ค้าประเภทร้านค้าหรือบ้านพักอาศัยลักษณะถาวรตลอดริมคลองโอ่งอ่าง

    สำหรับรูปแบบการจัดงานจะแตกต่างกันไปตามสภาพพื้นที่วิถีชุมชนดั้งเดิม เพื่อความเหมาะสม และเป็นการชั่วคราวตามระยะเวลาของโครงการ ที่มีเฉพาะวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมจัดระเบียบและดูแลพื้นที่ เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535