วันที่ 16 ธันวาคม 2563 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดให้บริการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต จำนวน 7 สถานี พร้อมเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีทองระยะที่ 1 รวม 3 สถานี ได้แก่ สถานีกรุงธนบุรี, สถานีเจริญนคร และสถานีคลองสาน
2 เส้นทางรถไฟฟ้าเปิดใหม่ จะให้บริการฟรีจนถึงวันที่ 15 มกราคม 2564
โดยทั้ง 2 เส้นทางจะให้บริการฟรีจนถึงวันที่ 15 มกราคม 2564 จากนั้นจะเก็บค่าโดยสาร
– สายสีเขียว คาดว่าค่าโดยสารสูงสุดจะไม่เกิน 65 บาท
– สายสีทอง จะเริ่มเก็บค่าโดยสารคงที่ 15 บาทตลอดสาย ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. 64 เป็นต้นไป
7 สถานีเปิดใหม่ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่เปิดให้บริการเพิ่ม 7 สถานีนี้ ประกอบด้วย
– สถานีพหลโยธิน59 (N18)
– สถานีสายหยุด(N19)
– สถานีสะพานใหม่(N20)
– สถานีโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช (N21)
– สถานีพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ(N22)
– สถานีแยกคปอ.(N23)
– สถานีคูคต (N24)
และส่งผลให้เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีเส้นทางให้บริการจากคูคต – สมุทรปราการ ซึ่งเชื่อมต่อการเดินทางถึง 3 จังหวัด ได้แก่
– สมุทรปราการ
– กรุงเทพฯ
– ปทุมธานี
ทั้งยังถือได้ว่าเป็นรถไฟฟ้าสายแรกในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีด้วย
ระยะทางรวมกว่า 68 กิโลเมตร มีสถานีให้บริการ 59 สถานี มีรถไฟฟ้าให้บริการมากที่สุด ถึง 98 ขบวน 392 ตู้ สามารถรองรับผู้โดยสารทั้งระบบได้สูงสุด กว่า 1,500,000 เที่ยว/คนต่อวัน
โดยคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารจะเพิ่มมากขึ้น จากปัจจุบันจำนวนผู้โดยสารในส่วนต่อขยายช่วงสถานีห้าแยกลาดพร้าว(N9) – สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (N17) เฉลี่ยในวันทำการที่ 132,200 เที่ยว/คนต่อวัน จะเพิ่มขึ้นเป็น 252,200 เที่ยว/คนต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัว
จุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า 5 สาย ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว
มีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าอีก 5 สาย โดยที่เปิดให้บริการคือ
– เชื่อมรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ที่สถานีพญาไท
– เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินถึง 5 จุด ที่สถานีอโศก, สถานีศาลาแดง, สถานีหมอชิต, สถานีห้าแยกลาดพร้าว และสถานีบางหว้า
– เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีทองที่สถานีกรุงธนบุรี
และภายในปี 2565 จะเชื่อมรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างใหม่อีก 2 สายคือ
– เชื่อมกับสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ
– เชื่อมกับสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ที่สถานีสำโรง
นอกจากนี้ ยังมีอาคารจอดแล้วจรเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า จำนวน 2 แห่ง ณ สถานีแยกคปอ. และสถานีปลายทางคูคต รองรับจำนวนรถได้รวม 1,755 คัน ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่เดินทางได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น โดยเปิดให้บริการฟรีถึง 1 ม.ค.64
เปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 1 อย่างเป็นทางการ
ซึ่งในวันเดียวกันนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้เป็นประธานเปิดการเดินรถโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรอง สายสีทอง ระยะที่ 1 (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-สถานีคลองสาน) พร้อมทั้งทดลองโดยสารขบวนรถไฟฟ้าสายสีทองจากสถานีกรุงธนบุรีถึงสถานีคลองสาน
รถไฟฟ้าสายสีทองแม้จะมีระยะทางเพียง 1.8 กิโลเมตร แต่ถือเป็นระบบรองที่มีประสิทธิภาพ เพราะเชื่อมโยงการเดินทางของเราในทุกโหมด ทั้ง “ล้อ ราง เรือ” โดยเชื่อมรถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีลม ที่สถานีกรุงธนบุรี และในอนาคตจะเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ที่สถานีประชาธิปก และสายสีแดง (หัวลำโพง-มหาชัย) ที่สถานีคลองสาน
นอกจากนี้ ยังเชื่อมการเดินทางทางน้ำ สำหรับผู้โดยสารที่จะใช้บริการเรือข้ามฟาก และเรือด่วนเจ้าพระยาที่ท่าเรือคลองสาน และท่าเรือไอคอนสยาม โดยจะให้บริการฟรี 1 เดือน ระหว่างวันที่ 16 ธ.ค.63 – 15 ม.ค. 64 เริ่มเก็บค่าโดยสารคงที่ 15 บาทตลอดสาย ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. 64 เป็นต้นไป
3 สถานีที่เปิดให้บริการของรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 1
รถไฟฟ้าสายสีทองจะเป็นระบบนำทางอัตโนมัติ Automated People Mover (APM) ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือเป็นรถไฟฟ้าที่ใช้ล้อยาง มีขนาดเล็ก แต่มีประสิทธิภาพในการขนส่งผู้โดยสารในพื้นที่เชื่อมต่อเข้าสู่ระบบหลัก
สำหรับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีทอง ระยะที่ 1 มี 3 สถานี ได้แก่
– สถานีกรุงธนบุรี
– สถานีเจริญนคร
– สถานีคลองสาน
ให้บริการด้วยรถไฟฟ้ารุ่น Bombardier Innovia APM 300 จำนวน 3 ขบวน ขบวนละ 2 ตู้ ความจุผู้โดยสาร 138 คน/ตู้ มีที่จอดรถวีลแชร์ตู้ละ1 คัน ตู้รถไฟฟ้ามีความกว้าง 2.89 เมตร ความยาว 12.75 เมตร ความสูงของรถ 3.5 เมตร
สามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดที่ 80 กม./ชม. คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารอยู่ที่ประมาณ 42,000 เที่ยว/คนต่อวัน มีความถี่ในช่วงเวลาเร่งด่วน 5-6 นาที และเปิดให้บริการ เวลา 06:00-24:00 น.
ความคืบหน้าการปรับปรุง และคืนผิวถนนจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง
สำหรับการปรับปรุง และคืนผิวถนน ขณะนี้ได้คืนผิวถนนกรุงธนบุรีเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ถนนสมเด็จเจ้าพระยาจะคืนผิวถนนครบทั้งหมดในวันที่ 22 ธ.ค. 63 ส่วนถนนเจริญนครได้ประสานกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการประปานครหลวง (กปน.) ที่อยู่ระหว่างขุดวางท่อใต้ดิน โดยได้รับแจ้งว่าจะทยอยคืนผิวถนนให้ตั้งแต่เดือนม.ค.64 ไปจนถึงเสร็จสิ้นในเดือนเม.ย.64