ตามที่รัฐบาลมีแผนงานในการเร่งรัดพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ทั่วทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อรองรับการเดินทางและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทำให้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้านี้ คนเมืองจะได้เห็นโครงข่ายรถไฟฟ้าเปิดให้บริการเพิ่มขึ้นอีกหลายสายและจะมีรถไฟฟ้าวิ่งให้บริการเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมากเพื่อรองรับความต้องการของประชาชน ซึ่งในแต่ละโครงการจะเลือกใช้รถไฟฟ้าที่มีรูปแบบแตกต่างกันออกไปตามลักษณะของโครงการ ดังนั้น ในวันนี้เราจึงจะชวนผู้อ่านทุกท่าน มาทำความรู้จักกับรถไฟฟ้าที่อยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมและมีบทบาทสำคัญในการเดินหน้าพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ว่าในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้นี้ เราจะได้นั่งรถไฟฟ้ารุ่นใด หน้าตาเป็นแบบไหน และมีคุณสมบัติพิเศษแตกต่างอย่างไรกันบ้าง
รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง
เริ่มกันที่เส้นทางรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม หรือ รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ซึ่งมีระยะทาง 23 กม. จำนวน 16 สถานี เป็นรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายหลักที่มีแนวเส้นทางเชื่อมระหว่างกรุงเทพมหานครและจังหวัดนนทบุรี ดังนั้น เพื่อรองรับปริมาณของผู้โดยสารอย่างเพียงพอ รถไฟฟ้าสายนี้จึงใช้รถไฟฟ้าขนาดใหญ่หรือ Heavy Rail รุ่น Sustina S24 Series ผลิตโดย บริษัท เจแปน ทรานสปอร์ต เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (Japan Transport Engineering Company หรือ J-TREC) ณ เมืองโยโกฮามะ ประเทศญี่ปุ่น โดยตัวรถไฟฟ้าผลิตจากเหล็กกล้าไร้สนิม (Stainless steel) ใช้เทคโนโลยีมาตรฐานสากลในการออกแบบเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานในระบบขนส่งมวลชนภายในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีอายุการใช้งานได้นานถึง 30 ปี
สำหรับแนวคิดในการออกแบบ ได้คำนึงถึงความทันสมัย โดยลวดลายที่ใช้ออกแบบมีลักษณะลายเส้นสื่อถึงความรวดเร็ว ภายในขบวนรถไฟฟ้าได้ออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อให้เหมาะสมกับคนไทย สามารถใช้งานได้สะดวกสบาย ประกอบด้วยที่นั่ง ราวจับ รวมทั้งหน้าจอแสดงแนวเส้นทางแบบเคลื่อนไหว เสียงประกาศสำหรับแจ้งข้อมูลให้แก่ผู้โดยสาร กล้องโทรทัศน์วงจรปิด 4 ตำแหน่งต่อตู้ เพื่อความปลอดภัยภายในขบวนรถ และพื้นที่สำหรับรถเข็นคนพิการ (Wheelchair) 2 ตำแหน่งต่อตู้
ทั้งนี้รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงมีขบวนรถไฟฟ้าที่จัดเตรียมไว้บริการทั้งหมด 21 ขบวนรวม 63 ตู้โดยรถไฟฟ้า 1 ขบวนมีความยาว 65.78 เมตรความกว้าง 3.15 เมตรความสูง 3.92 เมตรประกอบด้วย 3 ตู้ได้แก่ตู้รถมอเตอร์ขับเคลื่อนแบบมีห้องควบคุม (Mc-car) 2 คันและตู้รถพ่วง (T-car) 1 คันสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากสุด 1,187 คนซึ่งรถไฟฟ้าจะวิ่งให้บริการประชาชนด้วยอัตราความเร็วเฉลี่ย 35 กม./ชม. และสามารถเร่งความเร็วสูงสุดได้ 80 กม./ชม.
รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน
สำหรับรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล หรือ รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางซื่อ รวมถึงส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – หลักสอง และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ ปัจจุบันมีรถไฟฟ้าให้บริการในระบบทั้งหมด 54 ขบวน แบ่งเป็นรถไฟฟ้ารุ่นแรก 19 ขบวน และรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ 35 ขบวน โดยรถไฟฟ้ารุ่นแรกที่ให้บริการตั้งแต่รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน เริ่มเปิดให้บริการเดินรถจากสถานีหัวลำโพง – สถานีบางซื่อ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2547 นั้น เป็นรถไฟฟ้าขนาดใหญ่หรือ Heavy Rail ผลิตโดย บริษัท ซีเมนส์ โมบิลิตี้ จำกัด สาธารณรัฐออสเตรีย ใช้เทคโนโลยีมาตรฐานสากลในการออกแบบเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานในระบบขนส่งมวลชนภายในกรุงเทพมหานคร มีอายุการใช้งานได้นาน 30 ปี ตัวรถภายนอกได้รับการออกแบบให้มีรูปร่างทันสมัย สะดุดตา โดยเฉพาะในช่วงเริ่มเปิดให้บริการในระยะแรก ได้สร้างความแปลกใหม่และเป็นที่สนใจของประชาชนผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก
สำหรับรถไฟฟ้า 1 ขบวนมีความยาว 65.10 เมตรความกว้าง 3.12 เมตรความสูง 3.86 เมตรประกอบด้วยตู้โดยสาร 3 ตู้สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากสุด 1,140 คนซึ่งรถไฟฟ้าจะวิ่งให้บริการประชาชนด้วยอัตราความเร็วเฉลี่ย 35 กม./ชม. และสามารถเร่งความเร็วสูงสุดได้ 80 กม./ชม.
ปัจจุบันรถไฟฟ้ารุ่นแรกนี้ยังคงวิ่งให้บริการประชาชนอยู่ทั้งหมด 19 ขบวนรวม 57 ตู้โดยบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานให้บริการเดินรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วงได้ทำการปรับปรุงขบวนรถไฟฟ้ารุ่นดังกล่าวเพื่อรองรับการใช้งานที่เพิ่มมากขึ้นเช่นติดตั้งกล้องวงจรปิดจำนวน 4 ตำแหน่งต่อตู้ทำสีภายในขบวนรถใหม่เพิ่มเสาราวจับแบบ 3 ก้านและเพิ่มห่วงจับเป็นสามแถวติดตั้งหน้าจอแสดงแนวเส้นทางแบบเคลื่อนไหวและเพิ่มไฟส่องสว่างบริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างตู้ (Gangway) เพื่อให้มีความสม่ำเสมอของแสงสว่างในขบวนรถเป็นต้น
ขบวนรถไฟฟ้า Blue Line รุ่นใหม่ดีไซน์ทันสมัย
สำหรับขบวนรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ล่าสุดที่ รฟม. ได้นำมาเสริมทัพการให้บริการในระบบรถไฟฟ้า MRT สาย สีน้ำเงิน เพื่อรองรับการขยายเส้นทางจากช่วงหัวลำโพง – หลักสอง และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ นั้น มีการประกอบตัวโครงรถไฟฟ้าที่โรงงาน Bozankaya เมืองแองการ่า สาธารณรัฐตุรกี ตัวรถไฟฟ้าได้รับการผลิตและประกอบโดยบริษัท ซีเมนส์ โมบิลิตี้ จำกัด สาธารณรัฐออสเตรีย และมีการทดสอบระบบต่างๆ ของตัวรถในขณะที่รถเคลื่อนที่บนรางทดสอบที่ศูนย์ทดสอบเมือง Wildenrath สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
ด้านการออกแบบตัวรถไฟฟ้านั้น ได้เน้นให้มีรูปลักษณ์ที่ทันสมัย และคำนึงถึงความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล มีความแข็งแรงและทนทานต่อสภาพแวดล้อมในกรุงเทพมหานคร โดยมีอายุการใช้งานได้นานถึง 30 ปี ภายในตัวรถไฟฟ้ามีการติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับการใช้งาน เช่น การติดตั้งกล้องวงจรปิดถึง 4 ตำแหน่งต่อตู้ เพื่อความปลอดภัยภายในขบวนรถไฟฟ้า มีการจัดพื้นที่ไว้สำหรับรถเข็นผู้พิการ 2 ตำแหน่งต่อตู้ มีการติดตั้งหน้าจอแสดงแนวเส้นทางแบบเคลื่อนไหว การติดตั้งไฟส่องสว่างในห้องผู้โดยสารและบริเวณทางเดินระหว่างตู้โดยสารแบบหลอด LED ติดตั้งเสาจับ 3 เสาและราวจับ 3 แถวต่อตู้ เป็นต้น
สำหรับรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ 1 ขบวน มี 3 ตู้ ประกอบด้วยตู้รถมอเตอร์ขับเคลื่อนแบบมีห้องควบคุม (Mc-car) 2 ตู้ และตู้รถพ่วง (T-car) 1 ตู้ สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากสุด 1,134 คน ซึ่งรถไฟฟ้าจะวิ่งให้บริการประชาชนด้วยอัตราความเร็วเฉลี่ย 35 กม./ชม. และสามารถเร่งความเร็วสูงสุดได้ 80 กม./ชม.
รถไฟฟ้า Monorail ชมพู – เหลือง
มาถึงรถไฟฟ้าน้องใหม่ที่ใช้สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ซึ่งทั้ง 2 โครงการได้รับการออกแบบให้เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) แบบคร่อมราง บนทางวิ่งยกระดับเหนือแนวเกาะกลางถนน ทำหน้าที่เป็นระบบขนส่งมวลชนระบบรอง (Feeder) ป้อนผู้โดยสารเข้ารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายหลัก ดังนั้น รถไฟฟ้าที่จะนำมาวิ่งให้บริการในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ นี้ จึงเป็นรถไฟฟ้าขนาดเบา หรือ Light Rail Transit สำหรับรองรับปริมาณผู้โดยสารที่ไม่หนาแน่นมากนัก โดยทั้ง 2 โครงการ ใช้รถไฟฟ้ารุ่น Bombardier Innovia Monorail 300 ผลิตโดยบริษัท CRRC Puzhen Bombardier Transportation System (PBTS) ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเป็นขบวนรถแบบ 4 ตู้ต่อขบวน ประกอบด้วยตู้ A-C-D-B มีความยาวของขบวนรถ 50.47 เมตร ความกว้าง 3.162 เมตร ความสูง 3.019 เมตร แต่ละตู้ของรถไฟฟ้ามีจำนวนประตูทั้งหมด 4 ประตู แบ่งออกเป็นฝั่งละ 2 ประตู
ภายในห้องโดยสารของขบวนรถมีอุปกรณ์ความปลอดภัยอย่างครบครัน อาทิ กล้อง CCTV เครื่องตรวจจับควัน ปุ่มติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ควบคุมรถ ถังดับเพลิง และที่เปิดประตูฉุกเฉิน ฯลฯ รวมถึงมีระบบที่สำคัญอีก เช่น ระบบประกาศข้อมูลสำหรับผู้โดยสาร และมีจอ LCD สำหรับแจ้งชื่อสถานี โดยติดตั้งอยู่บริเวณเหนือประตูรถไฟฟ้า ระบบ Intercom เพื่อให้ผู้โดยสารภายในขบวนรถสามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่เดินรถในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ระบบความปลอดภัยในตัวรถประกอบด้วย กล้อง CCTV จำนวน 4 กล้องต่อตู้ ระบบตรวจจับควัน (Smoke Detector) และถังดับเพลิงจำนวน 2 ถังต่อตู้ นอกจากนี้ รถไฟฟ้ารุ่นนี้ ยังมีความพิเศษโดดเด่นที่การควบคุมด้วยระบบอาณัติสัญญาณ (Signaling) โดยใช้เทคโนโลยี Communication Based Train Control (CBTC) รุ่น Cityflo 650 แบบไร้คนขับ (Driverless) รวมถึงส่วนล้อของรถไฟฟ้า Monorail จะเป็นล้อยางแบบเติมก๊าซไนโตรเจน ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท คือล้อหลักสำหรับขับเคลื่อน (Load Wheel) มีจำนวน 4 ล้อต่อตู้ (2 ล้อต่อโบกี้) และสำหรับประคอง (Guide Wheel) จำนวน 12 ล้อต่อตู้ (6 ล้อต่อโบกี้)
ทั้งนี้ ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู จะมีรถไฟฟ้าวิ่งให้บริการจำนวน 42 ขบวน และสายสีเหลือง จำนวน 30 ขบวน ซึ่งในช่วงแรกการให้บริการจะเป็นขบวนรถไฟฟ้าแบบ 4 ตู้ต่อขบวน รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 17,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง และในระยะต่อไปยังสามารถเพิ่มจำนวนตู้โดยสารได้สูงสุด 7 ตู้ต่อขบวน รองรับผู้โดยสารได้ประมาณ 28,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง โดยให้บริการด้วยความเร็วเฉลี่ย 35 กม./ชม. และสามารถเร่งความเร็วสูงสุดได้ 80 กม./ชม. ซึ่งขณะนี้ ขบวนรถไฟฟ้า Monorail ได้ถูกทยอยส่งมายังประเทศไทย เพื่อเตรียมทดสอบระบบก่อนเปิดให้บริการประชาชน โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการแก่ประชาชนเป็นอย่างเป็นทางการได้ในปี 2565
ได้เห็นรูปร่างหน้าตาขบวนรถไฟฟ้าแต่ละโครงการแล้วทำให้เราได้ทราบว่ารถไฟฟ้าแต่ละเส้นทางก็มีความแตกต่างกันออกไปและถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการเดินทางที่หลากหลายแต่ทั้งหมดยังคงคำนึงถึงวัตถุประสงค์หลักคือเพื่อการเดินทางที่สะดวกสบายปลอดภัยตามมาตรฐานสากลสามารถรองรับการใช้งานของผู้ใช้บริการทุกประเภทพัฒนาคุณภาพการเดินทางและคุณภาพชีวิตของประชาชน