แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จะส่งผลกระทบต่อประเทศในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการค้าการลงทุน เศรษฐกิจหยุดชะงัก แต่การก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า อันเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ ยังคงต้องเดินหน้าต่อ ภายใต้การบริหารจัดการของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หน่วยงานรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเร่งรัดดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้าทั้งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
สายสีส้มสร้างคืบหน้ากว่า 80%
เริ่มที่โครงการแรก กับ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ส่วนตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ซึ่งเป็นโครงการที่หลายคนรอคอย เพราะนอกจากจะมีแนวเส้นทางเชื่อมกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก เข้าสู่ในกลางเมือง ทำให้เดินทางสะดวกแล้ว ยังผ่านสถานที่ราชการ หน่วยงาน ย่านธุรกิจการค้า และแหล่งที่อยู่อาศัย ชุมชน คอนโดมิเนียม เป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบัน รฟม. เร่งรัดงานก่อสร้างให้มีความก้าวหน้างานโยธาในภาพรวม ทั้ง 6 สัญญา ได้ 82.56% ซึ่งเร็วกว่าแผนงาน 0.41%
โดยมีรายละเอียดความคืบหน้า สำหรับสัญญาที่ 1 งานก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งและสถานีใต้ดินช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – รามคำแหง 12 มี CKST Joint Venture เป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง มีความคืบหน้า 89.02%, สัญญาที่ 2 งานก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่ง และสถานีใต้ดินช่วงรามคำแหง 12 – หัวหมาก มี CKST Joint Venture เป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง มีความคืบหน้า 84.19%
สัญญาที่ 3 งานก่อสร้างทางวิ่งและสถานีใต้ดินช่วงหัวหมาก – คลองบ้านม้า มี ITD เป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง มีความคืบหน้า 80.06%, สัญญาที่ 4 งานก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งและสถานียกระดับ ช่วงคลองบ้านม้า – สุวินทวงศ์ มี UNIQUE เป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง มีความคืบหน้า 72.65% สัญญาที่ 5 งานก่อสร้างอาคารศูนย์ซ่อมบำรุง และอาคารจอดแล้วจร มี CKST Joint Venture เป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง มีความคืบหน้า 83.66% และ สัญญาที่ 6 งานก่อสร้างระบบราง มี UNIQUE เป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง มีความคืบหน้า 74.82%
โดยปัจจุบัน งานก่อสร้างสถานีใต้ดิน ทั้ง 10 สถานี อยู่ระหว่างดำเนินงานสถาปัตยกรรมและงานระบบต่าง ๆ ประกอบด้วย งานติดตั้งกระเบื้องพื้นและผนัง งานติดตั้งราวบันได งานระบบลิฟต์และบันไดเลื่อน งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล เป็นต้น โดยสถานีที่มีความคืบหน้ามากที่สุด คือ สถานีวัดพระราม ๙ และ สถานี กกท. ส่วนงานก่อสร้างสถานียกระดับ ทั้ง 7 สถานี อยู่ระหว่างดำเนินงานติดตั้งโครงหลังคาและช่องแสง งานก่อฉาบโครงลิฟต์ งานก่อสร้างชั้นจำหน่ายบัตรโดยสาร งานติดตั้งบันไดเลื่อน งานติดตั้งงานระบบต่างๆ ภายในสถานี โดยสถานีที่มีความคืบหน้ามากที่สุดคือสถานีเคหะรามคำแหง
สำหรับงานก่อสร้างระบบรางรถไฟฟ้า อยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งรางและเทพื้นรางทางวิ่งรถไฟฟ้าใต้ดินจากสถานีลำสาลีไปยังสถานีศรีบูรพา คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการโครงการฯ ได้ในปี 2567
โมโนเรลเหลือง–ชมพูพร้อมเปิดตลอดสายปี 2565
ขณะที่รถไฟฟ้า Monorail 2 เส้นทางแรกในประเทศไทย ที่หลายคนอยากใช้บริการ ก็มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง มีความก้าวหน้าโดยรวม 79.60% แบ่งเป็นความก้าวหน้างานโยธา 84.19% และความก้าวหน้างานระบบรถไฟฟ้าและงานเดินรถ (M&E) 73.62%
ปัจจุบันมีความคืบหน้าที่สำคัญในส่วนของสถานีลาดพร้าว ถนนรัชดาภิเษก ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินงานสถาปัตยกรรมของสถานี เช่น งานเทพื้น ปูพื้น ก่อผนังห้อง งานคอนกรีต เป็นต้น โดยสถานีนี้ตั้งอยู่ใกล้กับอาคารจอดแล้วจรสถานีลาดพร้าว ของรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) ซึ่งจะกลายเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าทั้งสองสายในอนาคต
นอกจากนี้ ยังมีความคืบหน้าในส่วนของสถานีศรีกรีฑา ถนนศรีนครินทร์ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินงานยกติดตั้งงานระบบในอาคาร งานติดตั้งผนัง งานปูพื้น ประตูกั้นชานชาลา เป็นต้น โดยสถานีนี้จัดเป็นสถานีที่สูงที่สุดของโครงการฯ มีความสูงอยู่ที่ประมาณ 17.87 เมตร (จากระดับพื้นถนน ถึง ชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร) โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ ภายในปี 2565
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี มีความก้าวหน้าโดยรวม 76.51% แบ่งเป็นความก้าวหน้างานโยธา 79.39% และความก้าวหน้างานระบบรถไฟฟ้า 72.81% ปัจจุบันมีความคืบหน้าที่สำคัญในส่วนของสถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด และสถานีแจ้งวัฒนะ 14 ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการติดตั้งโครงหลังคา ชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร และชั้นชานชาลา รวมถึงได้มีการดำเนินการติดตั้งทางขึ้น-ลง ภายในสถานี เป็นต้น โดยคาดว่าโครงการฯ จะสามารถเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบได้ภายในปี 2565
เร่งคืนพื้นผิวจราจรในส่วนที่การก่อสร้างแล้วเสร็จ
นอกจากเราจะได้เห็นภาพของงานโยธาที่ก้าวหน้าแล้ว เรายังเริ่มเห็นภาพของการคืนพื้นผิวจราจรในส่วนที่การก่อสร้างแล้วเสร็จ เช่นโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ได้คืนผิวจราจรและเกาะกลางถนนรัชดาภิเษก ฝั่งขาเข้า ตรงข้ามห้างเอสพลานาด บริเวณพื้นที่ก่อสร้างสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยทำการซ่อมแซมผิวจราจรและบาทวิถี ให้กลับคืนสู่สภาพปกติ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนสัญจรผ่านได้ดังเดิม นอกจากนี้ ทางผู้รับจ้างฯ กำลังดำเนินงานก่อสร้างเสาตอม่อเชิงทางลงทางยกระดับรามคำแหง เพื่อคืนพื้นที่ผิวจราจรในบริเวณดังกล่าวให้ประชาชนได้สัญจรได้ตามปกติในเดือนธันวาคม 2564 นี้
ทั้งนี้ รฟม. ยังคงเดินหน้าก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าทุกสายทางเพื่อให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ พร้อมเน้นย้ำเป็นพิเศษให้ผู้รับจ้างก่อสร้างทุกรายดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด COVID-19 อย่างเคร่งครัดและเข้มงวด อาทิ การตรวจคัดกรองวัดอุณหภูมิก่อนเข้าพื้นที่ปฏิบัติงานทุกครั้ง การสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาการปฏิบัติงาน การจัดจุดให้บริการเจลแอลกอฮอล์และอ่างล้างมือ การห้ามแรงงานก่อสร้างเดินทางออกนอกพื้นที่ปฏิบัติงานและที่พัก การห้ามแรงงานก่อสร้างเดินทางออกนอกเส้นทางขณะโดยสารรถรับส่งระหว่างที่พักและพื้นที่ปฏิบัติงาน และจัดเว้นระยะห่างของที่นั่งในรถไม่ให้แออัด การห้ามแรงงานก่อสร้าง พาบุคคลภายนอกเข้ามาในพื้นที่ปฏิบัติงานและที่พักโดยเด็ดขาด การจัดการเรื่องสุขอนามัยภายในที่พักให้สะอาด ปราศจากการแพร่เชื้ออยู่เสมอ เช่น ฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อบริเวณที่พัก เปลี่ยนระบบอาบน้ำ จากเดิมที่ใช้อ่างอาบน้ำรวม เป็นระบบฝักบัว แยกเฉพาะคน และจัดให้มีการแยกภาชนะในการรับประทานอาหาร เช่น แก้วน้ำ ช้อนส่วนตัว เป็นต้น รวมถึงให้มีการสร้างความรู้เกี่ยวกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 เช่น การจัด SafetyTalk พูดคุยก่อนการเริ่มปฏิบัติงาน การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ เช่น โปสเตอร์ บอร์ดประชาสัมพันธ์ และเสียงตามสาย เป็นต้น
นอกจากนี้ได้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในอาคารสำนักงานโครงการฯ ด้วยการตรวจคัดกรองอุณหภูมิ ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ เว้นระยะห่าง จัดประชุมด้วยระบบ Video Conference แทนการนั่งประชุมรวมกลุ่มในอาคารสำนักงานโครงการฯ และให้ผู้ปฏิบัติงานในอาคารสำนักงานโครงการฯ ปฏิบัติงานในที่พักอาศัย (Work From Home) ให้มากที่สุด โดยหมุนเวียนสลับกันเข้ามาปฏิบัติงาน รวมถึงเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดบริเวณจุดที่สัมผัสร่วมกันในอาคารสำนักงานโครงการฯ เช่น บานจับประตู ปุ่มกดลิฟต์ ราวบันได เครื่องลงเวลาเข้าออกงาน และห้องน้ำ ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะยังคงดำเนินไปจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จะกลับสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคและสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน