เมอร์เซอร์ (Mercer) บริษัทบริหารจัดการทรัพย์สิน สัญชาติอเมริกัน เผยรายงานการสำรวจ เมืองที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดสำหรับชาวต่างชาติ ปี 2564 พบกรุงเทพฯ ขยับลงมาอยู่อันดับที่ 46 จากอันดับที่ 35 เมื่อปี 2563 ส่วนเมืองอาชกาบัต ประเทศเติร์กเมนิสถาน ติดอันดับ 1
Mercer เผยว่าการจัดอันดับในปีนี้ ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจ เพราะโควิด-19
Mercer ใช้เกณฑ์การวัด ด้วยการเปรียบเทียบราคาสิ่งของมากกว่า 200 รายการใน 209 เมืองใหญ่ทั่วโลก อาทิ
– ราคาที่อยู่อาศัย
– การคมนาคม
– อาหาร
– ความบันเทิง
และใช้นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเมืองหลักสำหรับการเปรียบเทียบ ทั้งใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เป็นมาตรฐานหลักของการเทียบกับค่าเงินสกุลอื่น เพื่อช่วยให้บริษัท และรัฐบาลทั่วโลก พิจารณาว่า ควรจ่ายเงินแก่ลูกจ้างต่างชาติ เป็นจำนวนเท่าใด
โดย Mercer ยังเผยว่า การจัดอันดับในปีนี้ ได้รับผลกระทบมาจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจ อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็น
– ข้อจำกัดด้านการเดินทาง
– รูปแบบการทำงานจากที่บ้าน
และสถานการณ์โควิด-19 ที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ รวมถึงการจ้างงานทางไกลระหว่างประเทศ
10 เมืองแรก มีค่าครองชีพแพงสุดสำหรับชาวต่างชาติ ปี 2564
ผลสรุปพบว่า 10 เมืองแรก ที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดสำหรับชาวต่างชาติ ปี 2564 ได้แก่
1.อาชกาบัต ประเทศเติร์กเมนิสถาน (จากอันดับ 2 ในปี 2563)
2.ฮ่องกง เขตบริหารพิเศษฮ่องกง (จากอันดับ 1 ในปี 2563)
3.เบรุต ประเทศเลบานอน (จากอันดับ 45 ในปี 2563)
4.โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (จากอันดับ 3 ในปี 2563)
5.ซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (จากอันดับ 4 ในปี 2563)
6.เซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน (จากอันดับ 7 ในปี 2563)
7.สิงคโปร์ ประเทศสิงคโปร์ (จากอันดับ 5 ในปี 2563)
8.เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (จากอันดับ 9 ในปี 2563)
9.ปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน (จากอันดับ 10 ในปี 2563)
10.เบิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (จากอันดับ 8 ในปี 2563)
46.กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย (จากอันดับ 35 ในปี 2563)
สรุปภาพรวมการจัดอันดับ เมืองที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดสำหรับชาวต่างชาติ ปี 2564
ภาพรวมพบว่า 9 เมืองใน 10 อันดับแรก ล้วนเป็นเมืองที่อยู่ในท็อป 10 มาตั้งแต่ปี 2563 มีเพียงเมืองเบรุต ประเทศเลบานอน ที่พุ่งขึ้นมาติดอันดับ 3 จากอันดับ 45 ในปีก่อน
เหตุจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง เพราะวิกฤตการเงินครั้งใหญ่ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตลอดจนเหตุระเบิดที่ท่าเรือเบรุต เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2563
ส่วนอันดับ 1 อย่างเมืองอาชกาบัต ประเทศเติร์กเมนิสถาน พบว่าสาเหตุหลัก ๆ มาจากวิกฤตเศรษฐกิจ มากกว่าจากการมีเศรษฐกิจเฟื่องฟูแบบหลายเมือง ที่ติดอยู่ในท็อป 10 ปีนี้
ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อสูงขั้นรุนแรงในประเทศ ทั้งด้วยความที่เศรษฐกิจของประเทศเติร์กเมนิสถาน ต้องพึ่งพาการส่งออกแก๊สธรรมชาติเป็นหลัก ส่งผลให้ต้องประสบปัญหาอย่างหนัก จากสถานการณ์ราคาพลังงานโลกตกต่ำ เมื่อปี 2557
ส่วนเมืองที่ค่าครองชีพถูกที่สุดสำหรับชาวต่างชาติ ปี 2564 หรืออันดับที่ 209 ตกเป็นของเมืองบิชเคก ประเทศคีร์กีซสถาน
ขณะที่กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย พบว่าขยับลงมาอยู่อันดับที่ 46 จากอันดับที่ 35 เมื่อปี 2563