Wednesday, May 24, 2023
More

    น้ำเน่าเจ้าพระยา .. ถึงเวลาอนุรักษ์เพื่ออนาคต

    คืนชีวิตสู่ชุมชนลุ่มน้ำเจ้าพระยา
    สายน้ำผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยมาอย่างยาวนาน แต่ในปัจจุบันความสมดุลของแม่น้ำลำคลองต่างๆ ถูกทำลายไปมาก ส่งผลต่อผู้คนและชุมชนในวงกว้าง วันนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันคืนชีวิตสู่ลุ่มเจ้าพระยา เพื่อให้กรุงเทพฯ กลับมาเป็นเมืองแห่งสายน้ำดังเดิม

    ปัญหาของลุ่มน้ำเจ้าพระยา
    จากคุณภาพน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน หากไม่มีการดำเนินการที่จะเป็นการลดและควบคุมปริมาณของเสียที่จะระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยา คุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาก็จะเสื่อมโทรมลง โดยเฉพาะลุ่มแม่น้ำตอนล่าง หรือแถบจังหวัดสมุทรปราการและกรุงเทพมหานคร

    ด้วยอัตราการเจริญเติบโตของประชากรและการประกอบกิจการทั้งจากภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม พบว่า แหล่งกำเนิดมลพิษในแม่น้ำเจ้าพระยา 71% มาจากชุมชน และอีกกว่า 18% มาจากมลพิษโรงงานอุตสาหกรรม

    ผลตรวจคุณภาพน้ำของศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่สะพานนนทบุรีถึงศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการเน่าเสีย เพราะมีค่าดีโอหรือค่าออกซิเจนละลายน้ำ (DO-Dissolved Oxygen) ที่ต่ำกว่า 2 มิลลิกรัม/ลิตร


    น้ำบริเวณสะพานกรุงเทพฯ เน่าสุด (0.69 มก./ล. ) ถัดมาที่สะพานพระพุทธยอดฟ้า (0.69 มก./ล.) นอกนั้นก็มีปากคลองพระโขนง (1.02 มก./ล.) กรมชลประทานสามเสน (1.17 มก./ล.) วัดบางนา (1.18 มก./ล.) ปากคลองสำโรง (1.32 มก./ล.) ท่าน้ำนนทบุรี (1.74 มก./ล.) และศาลากลางจังหวัดสมุทรปราการ (1.74 มก./ล.) 

    เมื่อต้นปัญหาเกิดจากชุมชน การแก้ปัญหาที่ตรงจุดที่สุดก็ต้องเริ่มที่ชุมชน

    นำศาสตร์พระราชาเยียวยาชุมชน
    แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสายหลักของประเทศที่สำคัญทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคหลักของประชากรหลายล้านคน ซึ่งก่อนหน้านี้มีโครงการหลากหลายเกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียในลุ่มน้ำเจ้าพระยา

    ล่าสุด เกิดโครงการ “รักษ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ร่วมกันพัฒนาและจัดการน้ำอย่างยั่งยืน” โดยความร่วมมือจาก ไอคอนสยาม ร่วมมือกับมูลนิธิชัยพัฒนา และองค์กรพันธมิตรต่างๆ ร่วมสืบสานน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาโดยรอบในพื้นที่คลองเป้าหมายจำนวนคลอง 7 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ใน 3 เขตของกรุงเทพฯ ได้แก่ เขตคลองสาน เขตตลิ่งชัน และเขตบางกอกน้อย

    การดำเนินการเริ่มจากการลงพื้นที่สำรวจสภาพแวดล้อมแหล่งน้ำที่แท้จริง และวิเคราะห์สภาพค่าความสกปรกของน้ำได้ (BOD)  ซึ่งจะสัมพันธ์กับการเลือกวิธีบำบัดน้ำเน่าเสียได้อย่างเหมาะสมกับปัญหาของพื้นที่นั้นๆ ให้สำเร็จในช่วงปี 2560 ระหว่างเดือนมีนาคม–ธันวาคม 

    ส่วนวิธีการปรับปรุงคุณภาพน้ำเสียในเชิงอนุรักษ์มีหลากหลายวิธี เช่น การจัดเก็บเศษขยะต่างๆ ในคลอง, การขุดลอกคลอง, การตกแต่งกิ่งไม้เพื่อเปิดให้แสงลงสู่แหล่งน้ำ, การใช้วัชพืชหรือพืชบำบัดน้ำเสีย, การติดตั้งถังดักไขมันในบ้านเรือน,  การติดตั้งเครื่องกังหันชัยพัฒนา หรือการติดตั้งเครื่องกลเติมอากาศ  เป็นต้น

    ด้านศาสตราจารย์ ดร. เกษม จันทร์แก้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม มูลนิธิชัยพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปิดเผยว่า มูลนิธิชัยพัฒนาได้นำองค์ความรู้ในด้านการบำบัดน้ำเสีย  โดยยึดตามพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ว่า “…ให้ใช้ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ  เป็นเทคโนโลยีอย่างง่าย ใครๆ ก็สามารถทำได้ และมีวัสดุหาได้ในท้องที่…” มาดำเนินการในโครงการนี้

    ทั้งนี้การใช้เทคโนโลยีการบำบัดน้ำเสียที่เรียบง่ายและใช้ธรรมชาตินี้  แบ่งเป็น 2 ระบบ  ได้แก่  วิธีการพึ่งพาธรรมชาติ โดยใช้สาหร่ายสังเคราะห์แสงเพื่อเติมออกซิเจนให้จุลินทรีย์หายใจและย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสีย  และ ระบบที่สองคือ ระบบพืชและหญ้ากรองน้ำเสีย โดยใช้พืชและหญ้าที่มีคุณสมบัติกรองและดูดซับของเสียที่อยู่ในน้ำ

    สำหรับการบำบัดน้ำเสียจากชุมชน ซึ่งเป็นผลจากการประกอบกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน  ส่งผลให้เกิดสารอินทรีย์ ซึ่งประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน เป็นองค์ประกอบหลักในน้ำเสีย ซึ่งน้ำเสียเหล่านี้สามารถบำบัดได้ โดยการประยุกต์ใช้แนวการบำบัดน้ำเสียตามแนวพระราชดำริ โดยอาศัยแสงแดด และสายลม เพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำให้มีความเหมาะสม สำหรับจุลินทรีย์ และสาหร่ายสีเขียวในน้ำ  ซึ่งช่วยในการย่อยสลายสารอินทรีย์ เพื่อปรับปรุงคุณภาพน้ำ และป้องกันไม่ให้เกิดก๊าซที่มีกลิ่นเหม็น ซึ่งเป็นผลจากการย่อยสลายสารอินทรีย์ด้วยจุลินทรีย์ที่ไม่ใช้ออกซิเจน  ส่งผลรบกวนต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ในเขตริมคลองอีกด้วย

    ปัจจุบันมีหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ยื่นความประสงค์ขอให้มูลนิธิชัยพัฒนาเข้าไปช่วยเหลือในการบำบัดน้ำเสียในแหล่งน้ำสาธารณะที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของคนที่อาศัยในชุมชนโดยรอบอย่างเร่งด่วนเป็นจำนวนมาก อาทิ วัด โรงพยาบาล สถานที่ราชการ อื่นๆ 

    รวมพลังทุกภาคส่วนช่วยกัน
    สำหรับการดำเนินโครงการรักษ์ลุ่มน้ำเจ้าพระยาฯ  ได้เริ่มดำเนินการในเบื้องต้นไปแล้วในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยคณะทำงานได้ลงพื้นที่สำรวจในเขตคลองสาน คลองวัดทองเพลงเป็นแห่งแรก และคลองสมเด็จเจ้าพระยา เป็นแห่งที่  2 

    นอกจากนี้ ยังมีคลองเป้าหมายอีก 5 แห่ง อาทิ คลองวัดสุวรรณ และคลองสาน เขตคลองสาน, คลองวัดทอง เขตบางกอกน้อย, คลองลัดมะยม และคลองมหาสวัสดิ์ เขตตลิ่งชัน เป็นต้น ที่จะลงพื้นที่สำรวจศึกษาลักษณะกายภาพของแต่ละพื้นที่ เพื่อวางแผนการบำบัดน้ำเน่าเสียได้อย่างเหมาะสมกับปัญหาของพื้นที่เหล่านั้น โดยมีเป้าหมายจะดำเนินการให้แล้วเสร็จทุกพื้นที่ ภายในปี 2560 เพื่อทำให้คุณภาพน้ำในคลองเหล่านี้มีความสะอาด ช่วยทำให้สมดุลทางธรรมชาติกลับสู่ภาวะปกติดังเดิม

    ขณะที่กรมเจ้าท่าได้จัดระเบียบน่านน้ำไทย พร้อมบังคับใช้ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2560 ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญมีเจตนารมณ์เพื่อควบคุมการปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดลงไปในแม่น้ำ ลำคลอง ทะเล ชายหาดสาธารณะ เพื่อประโยชน์ในการรักษาลำน้ำสำหรับการพาณิชยนาวี การเกษตรกรรม และการป้องกันอุทกภัย ระบุให้เจ้าของสิ่งปลูกสร้างต้องแจ้งรายละเอียดถึง 22 มิถุนายนนี้ หากเพิกเฉยจะดำเนินการสูงสุดตามกฎหมาย 

    แม้จะเป็นเรื่องยากที่แม่น้ำเจ้าพระยาจะกลับมาดีดังเดิม แต่หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันน่าจะช่วยให้บรรเทาลงได้ มิเช่นนั้นอนาคตอาจไม่มีน้ำใสๆ ในแม่น้ำเจ้าพระยาให้ลูกหลานเห็นอีกต่อไป


    ดร. รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์
    “ฝั่งธนบุรีมีโอกาสย้อนกลับมาเป็นเมืองแห่งสายน้ำ ซึ่งไม่เหมือนกรุงเทพฯ ที่ยากจะหวนกลับ ถ้าเราไม่แก้ไขตอนนี้ เราเองจะเป็นภาระของประเทศ ก่อนจะทำโครงการใดๆ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ตรัสเสมอว่าให้ลงไปคุยกับชุมชนก่อน ถามว่าเขาอยากทำไหม หากทำโดยไม่สนใจชุมชน โครงการจะไม่มีทางสำเร็จ”

    นรินทร์ ทิจะยัง ผอ.สำนักงาน ททท.สำนักงานกรุงเทพมหานคร
    “อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไม่สามารถละเลยความปลอดภัย ความสะอาด สิ่งแวดล้อมได้เลย ปัจจุบันนักท่องเที่ยวนิยมเที่ยวแบบวิถีชุมชน ทำให้เขาเข้าถึงพื้นที่ได้มากขึ้น ดังนั้นเราต้องสร้างความสวยงาม ความสะอาดให้ชุมชน ให้นักท่องเที่ยวได้เห็น”

    กริชเพชร ชัยช่วย ผอ.สำนักความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมทางน้ำ กรมเจ้าท่า
    “กฎหมายคือส่วนหนึ่งที่จะทำให้โครงการสำเร็จ กรมเจ้าท่าออกกฎหมายเพื่อควบคุมการปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดลงไปในแม่น้ำ ลำคลอง โดยประกาศใช้แล้ว กำหนดโทษมากขึ้น เพื่อจะเปลี่ยนพฤติกรรมคน ใช้ประโยชน์ส่วนตัวน้อยลง เห็นแก่ประโยชน์สาธารณะมากขึ้น”

    พงศ์พร สุดบรรทัด อุปนายกสมาคมการค้าธุรกิจในแม่น้ำเจ้าพระยา
    “เอกชนและชุมชนต้องเข้ามาร่วมมือกับภาครัฐ ณ ตอนนี้คลองฝั่งธนบุรีมีคุณภาพกว่ากรุงเทพฯ เราจึงต้องร่วมมือกันเพื่อไม่ให้คลองฝั่งธนบุรีกลายเป็นคลองที่น้ำไม่มีคุณภาพแบบกรุงเทพฯ ที่ไม่สามารถแก้ไขได้อีกแล้ว ยังไม่สายถ้าทุกฝ่ายช่วยกัน”

    ขวัญหทัย ชลสุข ประธานชุมชนซอยวนาวรรณ ชุมชนริมน้ำเจ้าพระยา
    “เป็นโอกาสดีที่ชุมชนจะช่วยกันพัฒนาคลอง ตอนนี้เรามีเกาะพิงแล้ว หลายภาคส่วนเข้ามาช่วยเรา ที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของคนในชุมชนแล้วว่าพร้อมจะทำกันหรือยัง  เราจะไม่ใช้วิธีโบราณแบบชุมชนใครชุมชนมันต่อไป แต่ต่อจากนี้ถ้าชุมชนไหนจะทำกิจกรรมอะไรเราต้องร่วมมือกัน”

    นายสุพจน์ ชัยวัฒน์ศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอคอนสยาม 
    “ไอคอนสยามให้ความสำคัญในการร่วมสร้างความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม จึงได้ดำเนินพันธกิจต่อสังคม 3 เรื่องหลัก ได้แก่ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา,  มีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนและส่งเสริมต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น และการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทยอันดีงามที่อยู่คู่กับวิถีคนริมน้ำเจ้าพระยา”

    [English]
    Bringing the Chao Phraya Back to Live

    Rivers have always been a part of the life of Thai people. However at present, the quality of the water in the Chao Phraya, which is a major river in the country, is in an appalling state. The growth in population, agriculture and industries has taken its toll on the river. Of all the amount of toxins that contaminate the Chao Phraya, 71% comes from communities along the river and more than 18% comes from factories.

    The Water Watch and Monitoring System for Warning Center had conducted a test on the water quality in the Chao Phraya and found that the water in the areas between Nonthaburi Bridge and Samut Prakarn City Hall is stale with a Dissolved Oxygen (DO) level below 2mg/litre. The stalest area is found at Krungthep Bridge with the DO level at 0.69mg/litre. Accordingly, ICONSIAM together with the Chaipattana Foundation and allied organizations have conducted the “Preserving and Improving Chao Phraya River with a Sustainable Water Management” Project. This project is adopting the philosophy of the late King Rama IX concerning wastewater management to help preserve the natural resources and environment in 7 canals along the Chao Phraya in Klong San, Taling Chan and Bangkok Noi districts. Another helping hand comes from the Marine Department. They are ready to enforce a law to prevent any encroachment upon public waterways.