ปัญหารุกล้ำลำคลอง ทำให้ด้อยประสิทธิภาพด้านการระบายน้ำ จากข้อมูลของสำนักการระบายน้ำ ระบุว่าคลองสายหลักในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 9 คลอง คือ คลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร คลองบางซื่อ คลองบางเขน คลองลาดบัวขาว คลองประเวศบุรีรมย์ คลองพระโขนง คลองพระยาราชมนตรี และคลองสามวา ถูกรุกล้ำทั้งหมดจำนวน 1,161 คลอง (รวมคลองสายย่อยทั้งหมดในกรุงเทพฯ) มีจำนวนบ้านเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำกว่า 23,500 หลัง ซึ่งจำนวนบ้านเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำลำคลองดังกล่าว ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการระบายน้ำลดลงและเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑล จนสร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมเป็นวงกว้าง รัฐบาลจึงมีมาตรการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดรุกล้ำแนวลำคลองและทางระบายน้ำ เพื่อไม่ให้มีสิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางระบายน้ำ ทำการสร้างเขื่อนคอนกรีตและประตูระบายน้ำ มีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพฯ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติร่วมกันกำหนดมาตรการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางระบายน้ำ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนริมคลอง
74 ชุมชนริมคลอง เตรียมย้ายภายในปี 2561
แม้มาตรการดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลและกรุงเทพมหานครที่ต้องการให้เกิดการพัฒนาพื้นที่แนวลำคลอง เพิ่มประสิทธิภาพทางระบายน้ำให้ดียิ่งขึ้น แต่ก็ต้องมีการรื้อและย้ายบ้านเรือนประชาชนที่บุกรุกพื้นที่ลำคลองเพื่อเปิดทางให้กรุงเทพฯสามารถดำเนินการก่อสร้างเขื่อนและประตูระบายน้ำได้
จากกรณีดังกล่าว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จึงได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยใหม่แก่ผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนริมคลองเพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลดังกล่าว และเพื่อให้การแก้ไขปัญหาชุมชนริมคลองเป็นไปตามแนวทางที่กำหนด พอช. จึงได้จัดทำ “โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง” เพื่อแก้ไขปัญหาชุมชนริมคลองขึ้น ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี พ.ศ. 2559-2568 โดยเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบอนุมัติงบประมาณรวมกว่า 4,061 ล้านบาท เป้าหมาย 74 ชุมชน 11,004 ครัวเรือน โดยจัดสรรจากโครงการบ้านมั่นคงมาใช้จ่ายในโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองและสนับสนุนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เพื่อสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัย การมีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีอีกทั้งประชาชนได้อยู่อาศัยบนที่ดินราชพัสดุอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เป็นวาระเร่งด่วนภายใน 3 ปี ระหว่าง ปี 2559-2561 และได้มีการกำหนดพื้นที่ดำเนินโครงการ 2 คลองเป้าหมาย คือ คลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร รวมมีผู้รับผลประโยชน์ทั้งสิ้น 64,869 คน
ภาครัฐเน้นสร้างความมั่นคงของชีวิตชุมชนริมคลอง
จากการรายงานผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือน ของสำนักสถิติแห่งชาติ ปี 2559 ระบุว่า มีสัดส่วนคนจนในกรุงเทพฯ 1.18 แสนคน ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคน 2,644-3,173 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนกรุงเทพฯ กลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งที่อยู่อาศัยที่มีประสิทธิภาพในระบบสังคมและเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ ได้ จึงนับเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการรุกล้ำแนวลำคลองเพื่อการอยู่อาศัยดังกล่าว
การดำเนินงานตามมาตรการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดรุกล้ำแนวลำ คลองและทางระบายน้ำด้านที่อยู่อาศัยครั้งนี้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. ได้ใช้ประสบการณ์ในการทำงาน “โครงการบ้านมั่นคง” ที่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2546 เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนแออัดมาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน ด้วยการเน้นให้คนในชุมชนเป็นหลักในการจัดการตนเองด้านที่อยู่อาศัย และพัฒนาคุณภาพชีวิตร่วมกันของคนในชุมชนและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวได้มุ่งเน้นการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนในการจัดการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เกิดการแบ่งปันพื้นที่เพื่อรองรับสมาชิกที่รุกล้ำริมคลองและการกันพื้นที่ส่วนกลางเป็นพื้นที่สาธารณะที่ชุมชนใช้ร่วมกัน เปลี่ยนจากชุมชนผู้รุกล้ำอย่างผิดกฎหมายเป็นผู้เช่า โดยการใช้สหกรณ์ของชุมชนในการเช่าพื้นที่ราชพัสดุจากกรมธนารักษ์ นำไปสู่การจัดระบบระเบียบการอยู่อาศัยโดยชุมชน การสร้างสังคมและความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ทำให้เกิดระบบการดูแล ระบบสาธารณูปโภคและคุณภาพชีวิตที่ดี มีการทำงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นับเป็นการคืนพื้นที่คลองให้กรุงเทพฯ สามารถสร้างเขื่อนระบายน้ำได้ ขณะเดียวกันประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนริมคลองจะได้รับการพัฒนาให้มีความมั่นคงในการอยู่อาศัยและถูกต้องตามกฎหมาย ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ดี ชุมชนที่เข้มแข็ง รวมทั้งคลองและพื้นที่ริมคลองก็จะได้รับการพัฒนาให้เป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชนและคนกรุงเทพฯ ได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งถือเป็นการทำงานร่วมกันในรูปแบบประชารัฐ ที่ชุมชนและหน่วยงานของรัฐร่วมกันดำเนินการเพื่อให้ได้เป้าหมายร่วมกันคือ “คืนความสุขให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนกรุงเทพฯ”
เปิดตัวชุมชนนำร่อง
ถึงแม้ว่าโครงการดังกล่าวจะมีความชัดเจนว่าจะแล้วเสร็จตรงตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่ แต่ก่อนที่จะดำเนินมาตรการอย่างเต็มรูปแบบก็ได้มีการกำหนดพื้นที่รูปธรรมนำร่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองและดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ ปี 2558 คือชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญ ซอยพหลโยธิน 54 เขตสายไหม จำนวน 64 หลังคาเรือน ปัจจุบันชาวชุมชนเข้าอยู่อาศัยแล้วตั้งแต่ต้นปี 2560
นายสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการ พอช. เผยว่า ชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญเป็นชุมชนนำร่องตามโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง เนื่องจากคนในชุมชนมีความพร้อม และให้ความสำคัญกับนโยบายของรัฐบาล โดยใช้เวลากว่า 1 ปี จึงสร้างบ้านเสร็จทั้งชุมชน รวม 64 ครัวเรือน ซึ่งชุมชนศาลเจ้าพ่อสมบุญจะเป็นก้าวแรกในการพัฒนาชุมชนอย่างรอบด้าน ทั้งด้านการจัดระบบการอยู่อาศัยร่วมกัน การบริหารจัดการชุมชน การพัฒนาสิ่งแวดล้อม การพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ และคนพิการ จึงเป็นบ้านที่มากกว่าคำว่าบ้าน
สำหรับแผนพัฒนาคุณภาพชีวิต ชุมชนมีแผนพัฒนาคุณภาพชีวิต หลังจากมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ชุมชนยังได้ร่วมวางระเบียบกติกาการอยู่ร่วมกัน พร้อมกับแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน คือ
1) การจัดการสุขภาพคนในชุมชนและการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส
2) การพัฒนาอาชีพเพื่อสร้างเศรษฐกิจ ตลาดชุมชน และลดภาระหนี้สินของชุมชน
3) การจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมในชุมชน
4) การพัฒนาระบบ ความปลอดภัยของชุมชน ตลอดจนสนับสนุนให้คนในชุมชนได้เข้าร่วมทำในกิจกรรมตามความสมควรและศักยภาพของชุมชน การเสริมสร้างพลังชุมชนให้มีจิตสำนึกของความเป็นเจ้าของและความรับผิดชอบต่อการบริหารโครงการฯ และพัฒนาชุมชนร่วมกัน นอกจากนั้นชุมชนยังได้จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อสนับสนุนให้คนในชุมชนมีกองทุนในการก่อสร้างบ้าน และเอื้อประโยชน์ด้านสินเชื่อกับสมาชิกเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยในชุมชนอีกด้วย
การสร้างเขื่อนระบายน้ำคืบหน้า 36%
ด้านความคืบหน้าในการก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำคอนกรีตเพื่อป้องกันน้ำท่วมมีความคืบหน้าแล้วกว่า 36% ซึ่งตามแผนการงานจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 1,260 วัน หรือเสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายน 2562 งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 1,645 ล้านบาท อย่างไรก็ตามยังช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ เนื่องจากปัญหาอุปสรรคสำคัญคือประชาชนบางส่วนที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการ
อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครก็ได้เร่งรัดให้บริษัทผู้รับเหมา คือ บริษัท ริเวอร์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผนงานที่กำหนดไว้ ขณะที่ตัวแทนบริษัทฯ ชี้แจงว่าประชาชนจำนวนมากยังไม่ยอมรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวก่อสร้างเขื่อนฯ ทำให้ไม่สามารถเข้าไปตอกเสาเข็มได้
ทั้งนี้ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวย้ำว่า คณะทำงานได้ลงพื้นที่เจรจาสร้างความเข้าใจ เพื่อให้เห็นประโยชน์ส่วนรวมในการเข้าร่วมโครงการ ให้โครงการสามารถเดินหน้าไปได้ด้วยดี สำหรับโครงการคลองลาดพร้าวถือเป็นโครงการที่สำคัญมาก อย่างไรก็ตามต้องผลักดันให้บรรลุผลสำเร็จให้ได้ เพื่อให้คุณภาพชีวิตพี่น้องชุมชนริมคลองดีขึ้น อีกทั้งช่วยให้การระบายน้ำมีประสิทธิภาพ ส่วนผู้ที่ไม่เข้าร่วมคงต้องใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจต่อไป ในส่วนของโครงการได้ดำเนินการไปแล้วตามแผน หากไม่สามารถเรียกร้องอะไรเพิ่มเติมได้ ท้ายสุดก็ต้องใช้มาตรการทางกฎหมาย
อย่างไรก็ตามการสร้างเขื่อนระบายน้ำดังกล่าว หากแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำได้มากขึ้น ซึ่งจากเดิมคลองลาดพร้าวกว้างประมาณ 15-20 เมตร จะกว้างขึ้นถึง 35 เมตร ส่วนระดับความลึกต่ำกว่าระดับน้ำทะเล 1 เมตร และเมื่อทำการขุดลอกจะทำให้ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลถึง 3 เมตร ประสิทธิภาพในการระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาจะสูงขึ้น
โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง ไม่เพียงแต่จะสร้างภาพลักษณ์และสิ่งแวดล้อมที่ดีเท่านั้นแต่ยังช่วยลดผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมให้คนกรุงเทพฯ ได้อีกด้วย แต่การดำเนินงานครั้งนี้กระทำด้วยความถ้อยทีถ้อยอาศัยเพื่อสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนริมคลองเพื่อนำไปสู่คำกล่าวของรัฐบาลที่ว่า “คืนความสุขให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนกรุงเทพฯ” อย่างยั่งยืนและเป็นธรรม
พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก
“การจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด และการก่อสร้างที่อยู่อาศัยรุกล้ำแนวคลองและทางระบายน้ำ คลองลาดพร้าว พื้นที่เขตสายไหม งานปักเสาเข็มสร้างเขื่อนมีเป้าหมาย 46 กิโลเมตร แล้วเสร็จ 15 กิโลเมตร สรุปโครงการในภาพรวมของคลองลาดพร้าวปัจจุบันอยู่ที่ 36% ช้ากว่าเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งยังมีอุปสรรคปัญหาพอสมควร แต่โครงการดังกล่าวถือเป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะต้องผลักดันให้ประสบความสำเร็จให้ได้ เพื่อคุณภาพชีวิตประชาชนที่อยู่ริมคลองให้ดีขึ้น”
คุณสมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
“ความคืบหน้าในการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว ขณะนี้มีบ้านที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว 1,158 หลังใน 18 ชุมชน และกำลังก่อสร้าง จำนวน 1,224 หลัง และมีพื้นที่พร้อมก่อสร้าง อีกจำนวน 161 หลัง รวมถึงที่จะก่อสร้างใหม่ที่นี่อีก 280 หลัง รองรับ 7 ชุมชนจากคลองลาดพร้าว ปัจจุบันโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง ภายใต้มาตรการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาชุมชนแออัดรุกล้ำแนวลำคลองและทางระบายน้ำ มีการดำเนินงานทั้งในชุมชนเดิมและชุมชนที่ซื้อที่ดินใหม่แล้ว รวม 29 ชุมชน คิดเป็น 37.57% ของจำนวนบ้านที่จะสร้างทั้งหมดตามเป้าหมาย 74 ชุมชน ตามวาระเร่งด่วน 3 ปีแรก ระหว่าง ปี 2559-2561 ของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี พ.ศ. 2559-2568 และยังดำเนินการต่อไปเพื่อความสำเร็จตามแผนงานที่กำหนดว่าจะต้องเสร็จสิ้นในเดือน มิถุนายน 2562”
[English]
Efforts to Revive Bangkok Canals Now Underway
After canals in Bangkok have suffered encroachment for years, the government has kicked off a plan to reclaim those canals.
The Department of Drainage and Sewerage of the Bangkok Metropolitan Administration (BMA) reported that over 23,500 houses have been encroaching on canals in the city alone and they should be blamed for ineffective sewerage and drainage system and severe flooding in Bangkok and surrounding cities in 2011.
As parts of the government’s plan to address the encroachment problem and to prevent the repeat of such a crisis, various ministries joined the BMA to implement a set of measures, which was decided to be first implemented along Khlong Lat Prao and Khlong Prem Prachakorn, where 74 communities and 11,004 households have been living.
In order to boost the efficiency of the sewerage and drainage system, some houses will have to be disassembled and removed to allow the BMA to construct levees and watergates. The Cabinet approved over THB4 billion for this particular project and, so far, only 37.57% has been completed due to the fact that many people have not cooperated with the authorities yet.
The latest economic and social survey by the National Statistical Office suggested that there are around 118,000 poor people living in Bangkok and each makes between 2,655 and 3,173 baht each month — a living condition that is believed to have contributed to the encroachment of Bangkok canals as they have not been financially able to find suitable living quarters in the city.
The success of the revival of Bangkok canals is hoped to not only help avoid major floods but improve the image of the city’s canals and environmental status.