Saturday, September 23, 2023
More

    รถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต เชื่อมโยงการเดินทาง ยกระดับคุณภาพชีวิต

    ปี 2563 คือเป้าหมายในการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต อีกหนึ่งโครงข่ายระบบรางที่จะมาช่วยต่อขยายความสุข เพิ่มความสะดวกในการเดินทางเชื่อมต่อจากย่านปทุมธานี เข้าสู่ใจกลางเมือง


    เชื่อมโยงการเดินทางย่านปทุมธานีสู่กลางเมือง

    โครงการนี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง มีแนวเส้นทางเริ่มต้นต่อเนื่องจาก แนวเส้นทางของโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (BTS) ที่สถานีหมอชิตข้ามทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ บริเวณห้าแยกลาดพร้าว ผ่านแยกรัชโยธิน แยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปจนถึงบริเวณแยกหลักสี่ แล้วเบี่ยงออกด้านขวาขนานไปตามอุโมงค์ทางลอดแยกหลักสี่ และเบี่ยงเข้าสู่เกาะกลางดังเดิม ไปจนถึงบริเวณสะพานใหม่หน้าตลาดยิ่งเจริญ โดยเมื่อขบวนรถไฟฟ้าถึงประมาณกิโลเมตรที่ 25 ของถนนพหลโยธินแนวเส้นทางจะเบี่ยงไปทางด้านทิศตะวันออก (ด้านเหนือของพื้นที่ประตูกรุงเทพฯ) ข้ามคลองสอง ผ่านบริเวณด้านข้างของสถานีตำรวจภูธรคูคต เข้าสู่บริเวณเกาะกลางของถนนลำลูกกา และสิ้นสุดที่บริเวณคลองสอง (บริเวณสถานีคูคต) รวมระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร


    โครงสร้างทางวิ่งเป็นทางยกระดับตลอดเส้นทาง มีสถานีรวม 16 สถานี ประกอบด้วย สถานีห้าแยกลาดพร้าว, สถานีพหลโยธิน 24, สถานีรัชโยธิน, สถานีเสนานิคม, สถานี ม.เกษตรศาสตร์, สถานีกรมป่าไม้, สถานีศรีปทุม, สถานีกรมทหารราบที่ 11 สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ, สถานีพหลโยธิน 59, สถานีสายหยุด, สถานีสะพานใหม่, สถานี รพ.ภูมิพลอดุลยเดช, สถานีพิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ, สถานีแยก คปอ. และสถานีคูคต

    มีสถานีที่เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟฟ้าและระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ อยู่ 7 สถานี คือ สถานีห้าแยกลาดพร้าว สถานีศรีปทุม สถานีกรมทหารราบที่ 11 สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ สถานีสะพานใหม่ สถานีแยก คปอ. และ สถานีคูคต โดยมีอาคารจอดแล้วจร (Park&Ride) 2   แห่ง และศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า (Depot) 1 แห่ง

    เร่งเปิดสถานีห้าแยกลาดพร้าว สิงหาฯ 62

    สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้าง ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 มีความก้าวหน้ารวม 84.34% โดยมีกำหนดก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จครบ 100% ในปี 2562 และคาดว่าจะสามารถคืนพื้นผิวถนนได้ทั้งหมด 100% ได้ในต้นปี 2562 เช่นกัน

    โดยคุณภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า รฟม. จะเร่งรัดการก่อสร้างโครงสร้างสถานีให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จากนั้นจะประสานงานให้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ดำเนินการต่อในส่วนของการติดตั้งระบบอาณัติ สัญญาณ ทดสอบระบบและการเดินรถ โดย กทม. แจ้งว่าจะเร่งงานในส่วนของสถานีห้าแยกลาดพร้าวก่อน ซึ่งสามารถทำได้ภายใน 6 เดือน คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการ 1 สถานีนี้ได้ในเดือนสิงหาคม 2562 ส่วนที่เหลือตลอดสายถึงคูคต คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการอีกประมาณ 1 ปี ซึ่งจะเปิดเดินรถตลอดสายได้ในปี 2563 ตามแผนงานที่กำหนดไว้

    สำหรับเหตุผลที่เร่งดำเนินการเปิดให้บริการสถานีห้าแยกลาดพร้าวก่อน เพื่อบรรเทาความแออัดของผู้โดยสารที่สถานีรถไฟฟ้า BTS หมอชิต ให้กระจายมาใช้บริการที่สถานีห้าแยกลาดพร้าว ซึ่งจะสามารถเชื่อมต่อการเดินทางกับสายสีน้ำเงินที่สถานีพหลโยธินได้อย่างสะดวก อีกทั้งเชื่อว่าจะช่วยลดปริมาณการจราจรหนาแน่นบริเวณห้าแยกลาดพร้าว ถนนพหลโยธิน รวมถึงถนนวิภาวดีได้

    Green Line รักษ์สิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์คนทุกกลุ่ม

    ทั้งนี้ รฟม. เดินหน้าพัฒนาโครงการนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (2560-2579) เพื่อเป็นระบบขนส่งมวลชนที่ปลอดภัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีประสิทธิภาพ และเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม โดยจัดสิ่งอำนวยความสะดวก และระบบรักษาความปลอดภัย ไว้ครบครัน อาทิ ทางลาดสำหรับผู้พิการ ลิฟต์ บันไดเลื่อน ห้องจำหน่ายบัตรโดยสาร ประตูกั้นชานชาลา กล้อง CCTV ห้องน้ำสาธารณะ และในอนาคตจะก่อสร้างสกายวอล์ก เชื่อมพื้นที่ใกล้เคียง เช่น สถานีโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช ทางทิศใต้ของสถานีจะมีการจัดทำ Sky Walk เชื่อมไปยังอาคารคุ้มเกล้า ของโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนด้วย นอกจากนี้ตลอดเส้นทางยังตกแต่งรายละเอียดของสถานี ด้วยสีเขียวทั้งหมด ทั้งกำแพงสถานี รางรถไฟ เพื่อให้เข้ากับชื่อเส้นทาง และสอดรับกับธีมรักษ์โลกรักสิ่งแวดล้อม

    คาดมีผู้โดยสาร 2.5 แสนเที่ยว-คน/วัน

    เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต นี้มีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 15.4% และคาดการณ์ว่าเมื่อเปิดให้บริการ ในปี 2564 จะมีผู้โดยสารประมาณ  250,000 เที่ยว-คน/วัน โดยเส้นทางนี้จะเป็นเส้นทางที่เป็นรถไฟฟ้าที่เชื่อมต่อระหว่างตัวเมืองชั้นนอก ปริมณฑล และใจกลางเมืองเข้าด้วยกัน นับว่าเป็นเส้นทางที่มีศักยภาพมากที่สุดอีก 1 เส้นทาง

    ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ Economic Intelligence Center (EIC) ซึ่งเป็นหน่วยงานกลยุทธ์ของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) วิเคราะห์ข้อมูลไว้ว่า เมื่อรถไฟฟ้าเส้นทางนี้แล้วเสร็จจะเพิ่มความสะดวกในการเดินทางเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพฯ ของผู้อยู่อาศัยย่านสะพานใหม่-คูคต อ.ลำลูกกา และบริเวณใกล้เคียง โดยอีไอซีคาดว่าหากผู้อยู่อาศัยย่านดังกล่าวมีความต้องการเดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ ชั้นในด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง แต่ถ้าเปลี่ยนใช้ระบบรถไฟฟ้าเดินทางจากสถานีคูคตถึงสถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิจะใช้เวลาเพียง 35 นาที เพิ่มความสะดวกให้ผู้โดยสารในการเดินทางเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพฯ ด้วย

    โครงการอสังหาฯ เพิ่ม-ราคาที่ดินพุ่ง

    นอกจากความสะดวกในการเดินทางแล้ว ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่ได้รับปัจจัยบวกจากรถไฟฟ้าเส้นทางนี้ด้วย โดยมีข้อมูลจาก บริษัท บาเนีย (ประเทศไทย) บริษัทเทคโนโลยีที่พัฒนาเกี่ยวกับบิ๊กดาต้าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ได้สำรวจโครงการที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต-คูคต เมื่อเร็วๆ นี้ พบว่าโครงการที่อยู่อาศัยตามเส้นทางส่วนต่อขยายในระยะ 5 กิโล-เมตร ขนานไปกับเส้นทางรถไฟฟ้า มีบ้านเดี่ยว-บ้านแฝด  268 โครงการ ทาวน์โฮม 290 โครงการ และคอนโดมิเนียม 425 โครงการ

    ด้านราคาที่ดิน ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) สำรวจพบว่าการเปลี่ยนแปลงของราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวม 6 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม โดยกำหนดให้ปี 2555 เป็นปีฐานพบว่าในไตรมาส 3 ปี 2561 ดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลมีค่าเท่ากับ 219.2 จุด ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 217.8 จุด และปรับเพิ่มขึ้น 31.6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปีที่แล้วที่มีค่าดัชนีเท่ากับ 166.5 จุด ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินเปล่าที่อยู่ใกล้แนวเส้นทางการก่อสร้างรถไฟฟ้า

    ขณะเดียวกัน ราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในแต่ละทำเลที่มีเส้นทางรถไฟฟ้าผ่านกับราคาที่ดินในทำเลที่ไม่มีโครงการรถไฟฟ้าผ่าน พบว่าทำเลที่มีแผนการลงทุนโครงการลงรถไฟฟ้าในอนาคต มีราคาสูงกว่า 66.7% เนื่องจากราคาที่ดินปรับเพิ่มจากฐานราคาเดิมที่ยังไม่สูงมากนัก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่แถบชานเมือง ส่วนทำเลที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า จะมีราคาสูงกว่า 51.6%


    เสริมศักยภาพทำเลทองแห่งอนาคต

    นอกจากจะเป็นรถไฟฟ้าสายหลัก และวิ่งตรงเข้าสู่ย่านใจกลางเมือง รถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) ช่วงหมอชิต-คูคต ยังผ่านพื้นที่ศูนย์กลางความเจริญและแหล่งพาณิชยกรรมสำคัญๆ หลายจุด เช่น โรงเรียนหอวัง, ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว, ยูเนี่ยนมอลล์, โลตัส เอ็กซ์เพรส, สถานีตำรวจนครบาลพหลโยธิน, เมเจอร์ รัชโยธิน, กรมพัฒนาที่ดิน, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, ธนาคารเพื่อการเกษตรฯ, กรมส่งเสริมเพื่อการเกษตร,  กรมป่าไม้, การทางพิเศษแห่งประเทศไทย, กรมวิทยาศาสตร์ทหารบก, โรงเรียนบางบัว, มหาวิทยาลัยศรีปทุม, กรมทหารราบที่ 11, กรมทางหลวงชนบท, อู่รถโดยสารประจำทาง ขสมก. เขตการเดินรถที่ 1 บางเขน, วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร, อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ, สำนักงานเขตบางเขน, ตลาดยิ่งเจริญ, โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช, กองทัพอากาศ, กรมแพทย์ทหารอากาศ และ พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ

    ส่งผลให้พื้นที่ตลอดแนวเส้นทางมีศักยภาพเป็นย่านธุรกิจใหม่ (New CBD) ที่ยังมีศักยภาพในการพัฒนาได้อีกมาก เริ่มตั้งแต่บริเวณห้าแยกลาดพร้าว ต่อเนื่องถึงบริเวณรัชโยธิน แยกเกษตรฯ–หลักสี่ ไปจนถึงสะพานใหม่-ลำลูกกา ซึ่งมีความน่าสนใจในการพัฒนาเป็นศูนย์รวมอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ ศูนย์พาณิชยกรรม  แหล่งจับจ่ายใช้สอยและความบันเทิง รวมไปถึงย่านที่อยู่อาศัย เพื่อรองรับกับปริมาณผู้ที่ต้องการอยู่อาศัย และคนทำงานที่เพิ่มขึ้น และเพื่อให้สอดรับกับโครงการศูนย์คมนาคมพหลโยธิน ที่จะมีการพัฒนาอาคารสำนักงาน โรงแรม ที่อยู่อาศัย รวมทั้งสถานีกลางบางซื่อ ที่จะเป็นฮับในการเดินทางระดับภูมิภาค

    การพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่ จะมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนชีวิตของเราทุกคนให้ดีขึ้น คนที่พักอาศัยอยู่ย่านชานเมืองสามารถใช้รถไฟฟ้า เข้ามาทำงาน และทำกิจกรรมต่างๆ ได้สะดวกขึ้น ทำให้มีทางเลือกในการเดินทางเพิ่มมากขึ้น มีส่วนช่วยให้สุขภาพจิตและสุขภาพร่างกายของคนเมืองไม่ต้องเครียดกับปัญหาการจราจรสาหัสเช่นที่ผ่านมา นับเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และส่งเสริมการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
    __________

    คุณสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข – ผู้ช่วยผู้ว่าการ รักษาการรองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะ ผู้อำนวยการโครงการ

    “โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เหนือ) ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จะช่วยรองรับการเดินทางของประชาชน ด้วยระบบรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ หรือ Heavy Rail Transit System โดยรถไฟฟ้าจะเป็นแบบ 4-6 ตู้ต่อหนึ่งขบวน สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 50,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง ในสถานีมีสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับการใช้งานของผู้โดยสารทุกกลุ่ม รวมถึงจะมีทางเดินยกระดับ (Sky Walk) อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน ขณะนี้ โครงการมีความคืบหน้ารวม (ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2561) เท่ากับ 84.34% มีกำหนดก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จภายในปี 2562 และเปิดให้บริการได้ภายในปี 2563 ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม เพื่อพัฒนาและยกระดับการเดินทาง ให้สะดวก รวดเร็ว ตรงเวลา และปลอดภัย ตลอดจนช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรที่ติดขัด”

    [English]
    Green Line Electric Rail 
    System, Another Passage to Better Quality of Life
    The year 2020 is the time when the new Green Line (North) : Mo Chit-Saphan Mai-Khu Khot rail system will be operational and make help it even more convenient for residents of Pathum Thani to travel to the center of Bangkok.

    This 19-kilometer electric rail line is equipped with 16 stations — nine of which will be connected with other lines and public transport systems and two of them will be located next to two separated Park & Ride buildings.  And, one of the stations will be where a depot is located.

    As of November 15, 84.34% of the project was completed and the entire civil engineering parts are set to be wrapped up by The First Quarter.

    The Mass Rapid Transit Authority of Thailand (MRTA) is determined to conclude the project by the planned deadline before handing over it to the Bangkok Metropolitan  Administration (BMA) to handle the rest then, including the test run.  The BMA expects to take one and a half years to finish all details and make the Green line be operational in 2020.

    The Green Line rail system has been initiated as a part of the government’s 20-year National Strategy and 20-year Transport Infrastructure Development  Strategy, which aims to offer Thailand safe, environmentally- friendly and efficient public transport system that is accessible for everyone.

    With an estimated 250,000  passengers each day from 2021, the Green Line’s Economic Internal Rate of Return (EIRR) is set at    15.4% while it is expected to offer 35-minute travel time from Khu Khot Station to Victory Monument Station,  compared with a 2-3-hour trip by passenger cars.