ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครเข้าขั้นวิกฤต จากการรายงานปริมาณมลพิษทางอากาศแบบเรียลไทม์ เว็บไซต์ airvisual.com ประจำวันที่ 30 มกราคม 2562 พบว่า กรุงเทพฯ ติดอยู่ในอันดับที่ 3 เมืองที่มีปริมาณฝุ่นมากที่สุดในโลก โดยมีค่า AQI อยู่ที่ 166 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับน่าเป็นห่วง
รถยนต์ควันดำแหล่งผลิตฝุ่นในเมือง
จากการวิเคราะห์ของสถาบัน EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ โดยนำเสนอข้อมูลจากสถาบันนโยบายพลังงาน มหาวิทยาลัยชิคาโก พบว่า ฝุ่นพิษ PM2.5 เป็นความเสี่ยงที่ทำให้อายุขัยของคนทั่วโลกสั้นลงเกือบ 2 ปี นอกจากจะทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ มะเร็งปอด ยังส่งผลต่อสมองด้วย ซึ่งแหล่งที่มาอันดับ 1 ของฝุ่นพิษ PM2.5 ใน กทม. เกิดจากไอเสียของเครื่องยนต์ดีเซล สอดคล้องกับข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ตัวการส่วนใหญ่ร้อยละ 60 มาจากเครื่องยนต์ดีเซล โดยเฉพาะรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์สภาพเก่ามีควันดำ (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 1)ด้าน รศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า อันที่จริงฝุ่นพิษ PM2.5 ใน กทม. มีมานานแล้ว โดยในช่วงที่อากาศไม่ปิด ค่า PM2.5 เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 20 ไมโครกรัม/ลบ.ม. แต่ที่เพิ่งมีการตื่นตัวกันเมื่อปี 2560 ก็เพราะเพิ่งเห็นหลักฐานเชิงประจักษ์ในเรื่องของความเข้มข้น โดยเกิดจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ แหล่งกำเนิดการเผาไหม้ เช่น การคมนาคมขนส่ง อุตสาหกรรมและการผลิตต่างๆ และปัจจัยทางธรรมชาติ คือ อากาศปิด ทำให้อากาศไม่สามารถระบายทางแนวดิ่งได้ อีกทั้งกรุงเทพฯเป็นเมืองใหญ่มีตึกสูงล้อมรอบ ทำให้ไม่มีลมระบายอากาศทางแนวนอน มลพิษที่ควรลอยขึ้นหรือกระจายออกด้านข้างจึงไปไหนไม่ได้
ส่วนสาเหตุจากแหล่งกำเนิดการเผาไหม้ของโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมทั้งของประเทศไทยเกือบทั้งหมดใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งทำให้เกิดฝุ่นน้อย จึงมีผลกระทบไม่มากนัก
สำหรับการคมนาคมขนส่ง ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยที่ถูกจับตามองว่าเป็นตัวการทำให้เกิดฝุ่นพิษ PM2.5 ใน กทม. นั้น ผศ.ดร.ปรีชา การินทร์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ให้ความเห็นว่า PM2.5 ในภาคขนส่งมาจากเครื่องยนต์รถที่เผาผลาญไม่สมบูรณ์ คือรถดีเซล เนื่องจากระบบการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ดีเซลนั้นไม่สมบูรณ์เท่ากับเครื่องยนต์เบนซิน ส่งผลให้ไอเสียที่ปล่อยออกมามีปริมาณก๊าซพิษรวมถึงฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือเขม่าจากไอเสียมากกว่า
สอดคล้องกับข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดย ดร.สุเมธ องกิตติกุล ระบุว่า ปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้การจราจรติดขัด ซึ่งเป็นตัวการทำให้มลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้น อีกทั้งลักษณะของเชื้อเพลิงรวมถึงอายุของรถยนต์ มีส่วนทำให้มลพิษทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นด้วย
กระตุ้นใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ลดใช้รถส่วนตัว
โดยสถิติปริมาณรถยนต์ที่จดทะเบียนในปี 2551-2560 จากสำนักงานจราจรและขนส่ง กทม. ระบุว่า รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ต่อปี และรถบรรทุกส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ต่อปี ส่งผลให้ความเร็วเฉลี่ยของพื้นที่ชั้นนอกลดลงร้อยละ 22 พื้นที่ชั้นกลางลดลงร้อยละ 17 และพื้นที่ชั้นในลดลงร้อยละ 11 นอกจากนี้ยังพบว่า จำนวนรถจดทะเบียนในกรุงเทพฯ ประมาณ 5.5 ล้านคัน (เฉพาะรถยนต์และรถบรรทุกเล็ก) กว่าร้อยละ 38 ใช้น้ำมันดีเซล
ด้าน ดร.สุเมธ ได้ให้ความเห็นถึงแนวทางการแก้ปัญหาจราจรติดขัดเพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศว่า ให้เพิ่มการใช้งานระบบขนส่งมวลชนและรถโดยสารประจำทาง ขณะเดียวกันให้จำกัดการใช้รถยนต์ในพื้นที่ที่มีการจราจรติดขัดด้วย
ทั้งนี้ เมื่อเทียบการใช้งานระบบขนส่งสาธารณะในต่างประเทศ พบว่า สัดส่วนผู้ใช้รถโดยสายประจำทางต่อประชากรในฮ่องกง อยู่ที่ร้อยละ 81 ลอนดอนและสิงคโปร์ ร้อยละ 70 ส่วนไทยอยู่ที่ ร้อยละ 21 แสดงให้เห็นว่า ประชากรใน 3 เมืองข้างต้นนิยมใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งเกิดจากแนวทางการจำกัดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เช่น สิงคโปร์ จำกัดจำนวนรถที่จะจดทะเบียนใหม่ และจัดเก็บค่าเข้าพื้นที่รถติด (Congestion Charging) ลอนดอน จัดเก็บค่าเข้าพื้นที่เขตเมือง (Road Pricing) และ ฮ่องกง จำกัดพื้นที่จอดรถในเขตเมือง ซึ่งหากไทยมีมาตรการดังกล่าวด้วยก็อาจเป็นไปได้ว่า ปริมาณฝุ่นพิษในอากาศจะลดลงตามไปด้วย (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 2)
ออกแบบเมืองใหม่ ทางออกฝุ่น PM 2.5?
ด้าน ผศ.ดร. อันธิการ สวัสดิ์ศรี ประธานสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 มีมากมาย การแก้ไขปัญหาระยะสั้นเป็นหน้าที่ของตัวบุคคล เช่น การหาหน้ากากมาใส่ หรือไปพบแพทย์ แต่ในระยายาวเป็นหน้าที่ของสถาปนิกในการออกแบบอาคารบ้านเรือนเพื่อรับมือเหตุการณ์นี้
จากงานวิจัย การนำต้นไม้มาช่วยกรองอากาศ จะช่วยสร้างความชุ่มชื้น โดยต้องดูว่าต้นไม้ประเภทไหนช่วยกรองฝุ่น PM2.5 ได้ ให้ดูที่ใบ ใบที่ดีต้องมีสักษณะคล้ายใบสน ใบเล็กแหลมและแน่น แนะนำให้ปลูกต้นเข็มเล็ก ช่วยในการดักจับฝุ่นได้ โดยเฉพาะในเมืองที่มีการชุมนุมของฝุ่นเป็นจำนวนมาก
ด้าน ผศ.อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มธ. กล่าวเสริมว่า กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียวเพียงร้อยละ 10 ต่อพื้นที่ทั้งหมด หากเปรียบเทียบกับสิงคโปร์มีพื้นที่สีเขียวร้อยละ 47 ดังนั้นการวางเมืองในพื้นที่ว่างให้มีพื้นที่สีเขียวเพื่อกรองฝุ่นที่ลอยอยู่ในอากาศจึงมีความจำเป็น โดยกรุงเทพฯ มีความหนาแน่นสูงแต่ช่องว่างน้อย ซึ่งภูมิสถาปนิกจะเข้ามาช่วยในเรื่องดังกล่าวในการจัดการพื้นที่สีเขียว เช่น การสร้างเมืองอยู่ในสวน พื้นที่สีเขียวควรมี 9 ตร.ม./คน และควรกระจายและแทรกในตัวเมืองให้ช่วยเป็นฟิลเตอร์กรองอากาศ
คนกรุงเกินครึ่งได้รับผลกระทบ
ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ปัญหาฝุ่นละอองในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” จากนิด้าโพล พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.31 ระบุว่า ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะปัญหาการหายใจไม่สะดวก แสบจมูก และระคายเคืองตา เป็นต้น (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 3) ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคภูมิแพ้ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า ผลกระทบของฝุ่น PM2.5 ต่อร่างกาย ถ้าสัมผัสในระยะสั้น จะทำให้เกิดผื่นคัน ตาแสบ เคือง แดง แสบจมูก ไอ จาม มีเสมหะมากขึ้น ติดหวัดง่ายขึ้น แต่ไม่ได้เป็นทุกคน คนที่เป็นภูมิแพ้ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ เป็นโรคหลอดลมและหอบหืดจะมีผลกระทบมากกว่า ผู้ที่มีแนวโน้มความดันสูงอยู่แล้วจะมีความดันสูงขึ้น คนเป็นโรคหัวใจ หากอยู่ในที่ที่มีมลภาวะสูงนานๆ ก็อาจมีภาวะหัวใจกำเริบได้ คนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจึงควรจะอยู่ภายในบ้าน ถ้ามีเครื่องฟอกอากาศที่มี HEPA Filter ก็จะยิ่งดี รวมทั้งควรงดกิจกรรมที่ทำให้หายใจลึกและแรง
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ พบว่า ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้บริโภคต้องซื้อหน้ากากอนามัยมาสวมใส่ เฉลี่ยขั้นต่ำอยู่ที่ 22.5 บาท/วัน และการรักษาของผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ คิดเป็นเม็ดเงินราว 1,600-3,100 ล้านบาท (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 4)
กรีนพีซเสนอยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ใหม่
อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแต่คนกรุงเท่านั้นที่เผชิญวิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 เพราะจากสถิติ การจัดอันดับเมืองที่มีปัญหาฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทยจากกรีนพีซ พบว่า ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร และ ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก คือเมืองลำดับต้นๆ ที่ ได้รับผลกระทบเช่นกัน (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 5) คุณธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า พื้นที่เมืองที่ต้องเผชิญกับมลพิษ PM2.5 มีจำนวนวันที่มีความเข้มข้นของ PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง เกินมาตรฐานของประเทศไทยที่กำหนดไว้ 50 ไมโครกรัม/ลบ.ม. อยู่ระหว่าง 19-68 วัน ซึ่งจะเห็นว่าประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองต้องเสี่ยงกับผลที่จะเกิดขึ้น หากไม่มีมาตรการป้องกันมลพิษที่ก้าวหน้า ผลที่เกิดขึ้นคือวิกฤตด้านสาธารณสุขมีแนวโน้มจะขยายวงกว้างมากขึ้น
โดยล่าสุด กรีนพีซ เรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการยกร่างมาตรฐานในบรรยากาศของ PM2.5 ขึ้นใหม่สำหรับประเทศไทย โดยกำหนดค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เป็น 35 ไมโครกรัม/ลบ.ม. และค่าเฉลี่ยรายปีเป็น 12 ไมโครกรัม/ลบ.ม. ภายในปี 2562 และกำหนดมาตรการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายอาเซียนปลอดหมอกควัน HAZE-FREE 2020 อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม
รัฐเดินหน้าปราบปรามฝุ่นพิษ PM 2.5
ขณะที่คนกรุงเผชิญวิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 รัฐบาลเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ล่าสุด สั่งการให้ทุกหน่วยนำยุทโธปกรณ์ อุปกรณ์ หรือองค์ความรู้ที่มีอยู่ นำมาประยุกต์หาวิธีลดปัญหาฝุ่นละออง โดยมอบหมายให้สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทป. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการแก้ไขปัญหา โดยทดสอบใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone) ขึ้นบินฉีดพ่นละอองน้ำผสมสารดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ เพื่อลดค่าฝุ่นละออง โดยโครงการดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. และหากสามารถวัดผลการทดลองและทดสอบแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่เป้าหมายลดลงอย่างต่อเนื่อง จะขยายพื้นให้ครอบคลุมพื้นที่อื่นต่อไป (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 6)
แน่นอนว่า นอกจากประชาชนต้องทำความเข้าใจถึงผลกระทบของฝุ่นพิษ PM2.5 แล้ว สิ่งสำคัญกว่านั้นคือภาครัฐต้องมีการประกาศตัวเลขและข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อที่สามารถเลือกและตัดสินใจในการป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้
นอกจากนี้ ควรเร่งแก้ปัญหาตัวการฝุ่นพิษ PM2.5 ใน กทม. อย่างจริงจัง โดยเฉพาะปัญหารถควันดำ เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ปล่อยฝุ่น PM2.5 เป็นจำนวนมาก ซึ่งในระยะยาวหากภาครัฐสามารถยกระดับมาตรฐานเครื่องยนต์และเชื้อเพลิงให้ปล่อยมลพิษน้อยลง รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนเดินทางในรูปแบบที่ไม่อาศัยเครื่องยนต์ เช่น การเดิน การขี่จักรยาน ฯลฯ ก็จะเป็นการสร้างความยั่งยืนในอนาคต แต่ก่อนที่จะถึงวันนั้นก็ต้องสร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อเอื้อให้คนลดใช้รถยนต์ส่วนบุคคล แล้วหันมานิยมใช้ระบบขนส่งสาธารณะกันมากขึ้น
___________
ผศ.ดร.ปรีชา การินทร์ – อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.
“ห้ามคนใช้รถคงทำไม่ได้ แต่บังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมมลพิษได้ ประเทศไทยใช้มาตรฐานไอเสียรถยนต์ระดับ Euro 4 ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานสากล อีกทั้งรถเมล์ รถบัสนำเที่ยว รถบรรทุก ที่วิ่งกันเต็มเมืองเหล่านี้ไม่มีมาตรฐาน ในขณะที่เพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ และประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ต่างก็ใช้มาตรฐานไอเสียระดับ Euro 6 ไม่เข้าใจว่าทำไมบ้านเราไม่ประกาศ ทั้งๆ ที่มีเทคโนโลยีที่สามารถรองรับปัญหานี้ได้แล้ว”[English]
“Diesel Engine”, Bangkok’s Major PM2.5 Source
Over the past weeks, air pollution in Bangkok has worsened considerably and the city was in a critical state, especially after airvisual.com reported that the Thai capital was ranked third on the list of global cities plagued with dust, on January 30, the AQI (Air Quality Index) at 166 – a worrying level.
Siam Commercial Bank’s Economic Intelligence Center (SCB EIC) said that PM2.5 is a risk factor that can shorten global citizen’s age by nearly two years, as it does not only adversely affect the respiratory system and can cause lung cancer, but poses undesirable impact on brain. SCB EIC said that 60% of PM2.5 in Bangkok came from diesel engines, particularly old vehicles.
Academics said that PM2.5 has been around in Bangkok for years but the issue became more alarming in 2017, when more studies were released. And, as many blamed transportation as a major culprit behind the air pollution crisis, TDRI pointed out that growing car population in Greater Bangkok has exacerbated the problem.
Data from Bangkok Metropolitan Administration’s Traffic and Transportation Department showed the population of passenger vehicles has been growing 8% a year while that of pick-up trucks has been rising 3.5% per year. Moreover, out of 5.5 million registered vehicles in Bangkok, over 38% runs on diesel.
The Council of Deans of Architecture Schools of Thailand suggested that face masks are only a person’s short-term solution but it is architects, who should be responsible for designing homes to deal with such a problem, by incorporating more specific trees to filter the air, for instance.