โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าจะมีต่อเนื่องอีกหลายเส้นทาง ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงจังหวัดที่มีปริมาณการจราจรหนาแน่นและมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จึงเพิ่มความเข้มงวดในการดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และกำชับให้ผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าทุกเส้นทางดำเนินการอย่างเคร่งครัด เพื่อที่ประชาชนจะไม่ได้รับอันตรายจากการก่อสร้างรถไฟฟ้า
ยืนยันการสร้างรถไฟฟ้าไม่ก่อฝุ่น PM2.5
คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวยืนยันว่า เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนที่ว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าเส้นทางต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพ มหานครและปริมณฑลเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เกิดจากการสันดาบของเครื่องยนต์ เป็นละอองฝุ่นจากการใช้น้ำมันดีเซล จึงยืนยันว่าไม่ได้เกิดจากการก่อสร้างแต่อย่างใด
สอดคล้องกับ คุณวิจารย์ สิมาฉายา ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ส่วนใหญ่เกิดจากยานยนต์ ยานพาหนะ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล
เช่นเดียวกับ คุณธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้กล่าวว่า แหล่งกำเนิดหลักของการเกิดปัญหาฝุ่นควันในกรุงเทพฯ นั้นคือ การคมนาคมขนส่งด้วยรถยนต์ การปล่อยมลพิษทางอากาศ เช่น การปล่อยฝุ่นจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีกระบวน การเผาไหม้เชื้อเพลิง และเกิดจากโรงเผาขยะ โดยฝุ่น PM2.5 มาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงหรือกระบวนการเผาไหม้ของวัสดุต่างๆ ที่อยู่ในอุณหภูมิสูงจนสร้างฝุ่นละเอียดเล็กๆ ขึ้นมา โดยไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ส่วนการก่อสร้างอาคาร หรือการก่อสร้างรถไฟฟ้า ไม่สามารถก่อให้เกิดปัญหาได้ขนาดนั้น เพราะฉะนั้นตัดฝุ่นจากการก่อสร้างออกไปได้ เพราะไม่ได้เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นจิ๋ว แต่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นที่มีขนาดใหญ่กว่า
ปัญหาฝุ่นพิษในเมืองกรุงสะสมมากว่า 20 ปี
ทั้งนี้ เมื่อสืบค้นข้อมูลในเว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) พบว่าข้อมูลมลพิษทางอากาศ มีการรวบรวมมาตั้งแต่ปี 2539 โดยส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ขณะที่ข้อมูลฝุ่นขนาด PM2.5 มีบันทึกการเก็บข้อมูลบางพื้นที่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจทำให้ประชาชนมีความเข้าใจในปัญหา รวมถึงวิธีป้องกันตัวเองจากฝุ่นละอองต่างๆ ไม่มากนัก
ต่อเมื่อช่วงต้นปี 2561 คพ. ตรวจพบฝุ่นละออง ซึ่งเป็นฝุ่นจิ๋วที่มีขนาดเล็กและมีผล กระทบต่อสุขภาพอย่างมาก ก็เริ่มมีการพูดถึงกันบ้าง แต่มาหนักในช่วงปลายปี 2561 ถึงต้นปี 2562 ที่ฝุ่นจิ๋วกลายเป็นฝุ่นพิษเข้าขั้นวิกฤต ประกอบกับมีการนำเสนอผ่านสื่อโซเชียลและสังคมออนไลน์กันจำนวนมาก ทำให้เกิดความตื่นตระหนกและตื่นตัวต่อสาธารณชน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่ระดมกำลังกันแก้ไขปัญหาอยู่ในขณะนี้
คมนาคมกำชับ รฟม. เร่งดำเนินการตามนโยบายปลอดฝุ่น
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าตามมาตรฐานในรายงานวิเคราะห์ผล กระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) กำหนดให้มีการวัดฝุ่นละออง PM10 โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มีการติดตั้งอุปกรณ์วัดค่าฝุ่นละออง PM10 ตามจุดตรวจวัดที่กำหนดใน EIA ตลอดเส้นทางการก่อสร้าง ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ค่าฝุ่นละอองไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด
อย่างไรก็ตาม ปฎิเสธไม่ได้ว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าในแต่ละเส้นทาง ก่อให้เกิดผลกระทบด้านการจราจร บางจุดทำให้รถชะลอตัว บางจุดทำให้รถติดขัดมาก ส่งผลให้มีการเผาผลาญพลังงานเชื้อเพลิงน้ำมันดีเซล ที่เป็นบ่อเกิดของฝุ่น PM2.5 ซึ่งในประเด็นนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้ รฟม. ใช้มาตรการในการเร่งคืนพื้นผิวจราจร เมื่อก่อสร้างเสร็จ เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด โดยในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทำการคืนพื้นผิวจราจรไปแล้ว 80% เหลืออีกประมาณ 3 กิโลเมตร ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ
นอกจากนั้นยังกำชับให้เข้มงวดในการดำเนินมาตรการ “One Transport ปลอดฝุ่น PM2.5 คมนาคมร่วมใจ ช่วยลดฝุ่น เพื่อความสุข สุขภาพดีของประชาชน” ซึ่งมีมาตรการ 4 เรื่อง คือ 1.ด้านมาตรการการกำกับติดตามและการให้บริการรถสาธารณะ 2.ด้านโครงสร้างพื้นฐานและผลกระทบจากการก่อสร้าง 3.ด้านการส่งเสริมการใช้ระบบสาธารณะ และ 4. ด้านมาตรการบังคับใช้ภายในส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ
รฟม. ร่วมส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้าแทนรถยนต์
ขณะที่ คุณภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า รฟม. ได้ดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน โดยยกเว้นค่าบริการจอดรถยนต์ สำหรับผู้ใช้บริการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 18 มกราคม 2562 ถึงวันพฤหัสบดีที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 เพื่อเป็นการเชิญชวนให้ประชาชนหันมาใช้บริการรถไฟฟ้าแทนการใช้รถยนต์ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองและบรรเทาปัญหาสถานการณ์ดังกล่าวได้ นอกจากนี้ รฟม. ยังร่วมมือร่วมใจช่วยลดปัญหาฝุ่น PM2.5 และลดการใช้พลังงาน โดยมีนโยบายให้รถส่วนกลางในพื้นที่สำนักงาน รฟม. ทุกคันดับเครื่องยนต์ระหว่างรอรับส่งทุกที่ทุกกรณี และให้ รปภ. แจ้งขอความร่วมมือจากรถยนต์ที่เข้ามาในพื้นที่ รฟม. ให้ดับเครื่องยนต์ในขณะจอดรอทุกกรณีด้วย
Big Cleaning แนวก่อสร้างรถไฟฟ้าลดฝุ่น
ขณะเดียวกัน ได้กำชับให้ผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าทุกสาย ดำเนินมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด เพื่อลดฝุ่นละอองในพื้นที่ก่อสร้าง เช่น การทำความสะอาดพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าและถนนสาธารณะ ด้วยรถกวาดดูดฝุ่นและการฉีดล้างถนน นอกจากนั้นต้องทำความสะอาดล้อรถก่อนออกจากพื้นที่ก่อสร้าง ปิดคลุมกระบะรถบรรทุกและการปิดคลุมกองวัสดุก่อสร้างให้มิดชิด หมั่นตรวจสอบสภาพเครื่องจักร และการติดตั้งรั้วทึบสูงอย่างน้อย 2 เมตรรอบพื้นที่ก่อสร้าง เป็นต้น
ติดระบบพ่นละอองน้ำในพื้นที่ก่อสร้าง
ล่าสุด รฟม. ยังได้ร่วมมือกับผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าในความรับผิดชอบของ รฟม. โดยบูรณาการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ด้วยการติดตั้งระบบพ่นละอองน้ำลดฝุ่นละอองในพื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้า โดยนำร่องในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ประกอบด้วย สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ฝั่งถนนรัชดาภิเษก, สถานี รฟม., สถานีวัดพระราม 9, ภายในพื้นที่ก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) ถนนวัฒนธรรม และสถานี กกท. ถนนรามคำแหง
ในส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ได้ดำเนินการติดตั้งระบบละอองน้ำที่บริเวณหัว-ท้ายของสถานีรัชโยธิน (ใกล้เชิงทางลาดสะพานรถยนต์ข้ามแยกรัชโยธิน) ซึ่งหลังจากนี้ รฟม. จะดำเนินการติดตั้งระบบพ่นละอองน้ำตามสถานีรถไฟฟ้าอื่นๆ ในโครงการรถไฟฟ้าที่อยู่ในระหว่างการดำเนินงานก่อสร้างต่อไป
มาตรการด้านการดูแลสิ่งแวดล้อมในแนวเส้นทางการก่อสร้างรถไฟฟ้าในความรับผิดชอบของ รฟม. ที่ดำเนินการถึง 2 ต่อ คือ ตามข้อกำหนดในรายงานวิเคราะห์ผล กระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งต้องมีการจัดแผนงานอย่างครบถ้วนรอบด้านนำเสนอต่อ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ก่อนจะได้รับความเห็นชอบให้ทำการก่อสร้าง รวมกับมาตรการ “One Transport ปลอดฝุ่น PM2.5 คมนาคมร่วมใจ ช่วยลดฝุ่น เพื่อความสุข สุขภาพดีของประชาชน” ของกระทรวงคมนาคม น่าจะทำให้ประชาชน และผู้ใช้บริการมั่นใจได้ว่า นอกจากจะมุ่งมั่นก่อสร้างรถไฟฟ้าเพื่อยกระดับในการเดินทางแล้ว รฟม. ยังใส่ใจในคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย
____________________
คุณอาคม เติมพิทยาไพสิฐ – รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“อาจมีการเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าเส้นทางต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 ซึ่งจากการตรวจสอบแล้วยืนยันได้ ว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้า ฝุ่นละอองไม่มีปัญหาเกินมาตรฐาน และแม้ว่า PM2.5 ไม่ได้เกิดจากการก่อสร้าง เพราะการก่อสร้างรถไฟฟ้าทำให้เกิดฝุ่นละออง PM10 แต่ก็ได้กำชับให้ รฟม. ควบคุมค่าฝุ่นละอองให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยมีรถพ่นน้ำ และฉีดน้ำตลอดเส้นทางการก่อสร้าง รถไฟฟ้าทุกโครงการ ทั้งสายสีเขียว สายสีเหลือง สายสีชมพู สายสีส้ม เพื่อช่วยลดฝุ่นละอองในอากาศ และเมื่อใช้พื้นที่ผิวการจราจรเรียบร้อยแล้ว ก็ให้เรียกคืนพื้นผิวการจราจรให้เร็วที่สุด เพื่อลดปัญหาการจราจรด้วย”
MRTA to Make Sure Project Developments in Line with Environmental Standards
As the construction of various electric train systems in and around Bangkok continue amidst ongoing air pollution — exacerbated by hazardous levels of PM2.5, the Mass Rapid Transit Authority (MRTA) is taking steps to make sure that their projects will not be among culprits responsible for this problem.
This is in spite of an affirmation from the Ministry of Transport and the Ministry of Natural Resources and Environment that construction projects are not the sources of PM2.5 but PM10, which have always been effectively controlled.
Both ministries also explained that PM2.5 is mostly caused by automobile engines, particularly those that run on diesel, while Greenpeace Thailand added that emissions from industrial plants and solid waste incineration have also be liable for worsening air quality.
According to data from the Pollution Control Department, Thailand has been collecting statistics related to PM2.5 only a few years ago and that might be an explanation why the public appeared to have little knowledge and understanding about its threat.
And, as air quality control around all electric train construction sites has been actively implemented, traffic congestion has still led to the release of exhaust from vehicle engines and, highly likely, more PM2.5.
As parts of the efforts to mitigate the problem MRTA has implemented the policy waive parking fees for vehicle owners, who ride the Purple Line MRT system during January 18 and February 28. In addition, MRTA has urged its contractors to help tackle the dust problem by regularly cleaning areas around the construction sites and making sure all trucks and vehicles leaving the areas are dust-free as well as spraying water in their responsible areas.