Wednesday, May 24, 2023
More

    ภัยแล้งปี 2562 กระทบเศรษฐกิจไทยไม่น้อยกว่า 15,300 ล้านบาท

    ขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการแล้ว ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 ตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาที่คาดการณ์ว่า ฤดูร้อนปีนี้จะมาเร็วและนานมากกว่าทุกปี ซึ่งอาจยาวนานไปจนถึงราวเดือนพฤษภาคม 2562

    โดยฤดูร้อนปีนี้จะมีอุณหภูมิร้อนกว่าปี 2561 และร้อนมากกว่าค่าปกติราว 1-2 องศาเซลเซียส ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำฝนและระดับน้ำในเขื่อน โดยหากพิจารณาปริมาตรน้ำใช้การได้ในเขื่อนของไทยแยกตามรายภาค ณ วันที่ 4 มี.ค. 2562 จะเห็นได้ว่า ปริมาตรน้ำใช้การได้ในเขื่อนทั้งประเทศลดลงร้อยละ 13.5 (YoY) โดยเฉพาะในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ส่งสัญญาณชัดเจนจากการที่มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนในระดับที่ต่ำมาก ทำให้ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสถานการณ์น้ำที่น่าเป็นห่วง และอาจจะเข้าสู่วิกฤติมากขึ้นในเดือนเมษายนนี้ที่จะเป็นช่วงฤดูแล้งอย่างเต็มรูปแบบ หากยังไม่มีน้ำไหลลงเขื่อนเพิ่มเติม


    ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สัญญาณฤดูร้อนดังกล่าวที่มาเร็วและนานกว่าทุกปี จะส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่จะเก็บเกี่ยวเพื่อออกสู่ตลาดในช่วงนี้ให้ลดลง จนอาจกระทบต่อรายได้เกษตรกรให้ต้องเผชิญความท้าทายมากขึ้น

    รายได้เกษตรกรทั้งปี 62 ยังติดลบ แม้ว่าผลผลิตแพงขึ้นจากภัยแล้ง
    จากการที่ภัยแล้งในปีนี้มาเร็ว และยาวนานกว่าทุกปี ส่งผลถึงระดับน้ำในเขื่อนที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จะกระทบต่อพืชเกษตรสำคัญที่กำลังเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูแล้ง โดยส่วนใหญ่คือ ข้าวนาปรัง ซึ่งมีผลผลิตอยู่ในภาคกลางเป็นหลักถึงร้อยละ 47.8 และอ้อย ซึ่งมีผลผลิตอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหลักถึงร้อยละ 43.5

    โดยในช่วงที่เกิดภัยแล้งหนักในเดือนมี.ค.- พ.ค. 2562 เป็นช่วงที่กำลังเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรังเพื่อออกสู่ตลาด ซึ่งอาจทำให้ผลผลิตทั้งข้าว และอ้อย ได้รับความเสียหาย อาจนำไปสู่การช่วยดันราคาผลผลิตทั้ง 2 ประเภทในช่วงนี้ให้ขยับขึ้นได้

    ซึ่งผลกระทบของภัยแล้งในปี 2562 อาจไม่ได้ทำให้ราคาเพิ่มขึ้นมากนัก แต่จะมีผลต่อปริมาณผลผลิตที่ลดลง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภัยแล้งในปี 2562 น่าจะมีผลกระทบอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงมีพืชเกษตรเพียงไม่กี่รายการที่ได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นพืชที่รวมแล้วมีน้ำหนักในตะกร้าดัชนี

    มูลค่าความเสียหายจากภัยแล้ง 2562 ราว 15,300 ล้านบาท
    ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลกระทบในเบื้องต้นของสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2562 ที่ส่งผลกระทบต่อความเสียหายของข้าวนาปรังและอ้อยเป็นหลัก อาจทำให้เกิดมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 15,300 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.1 ของ GDP แต่ทั้งนี้ เป็นการประเมินในเบื้องต้น ซึ่งหากรวมผลเสียหายของพืชเกษตรอื่น อาจทำให้มีมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่าที่ประเมินไว้

    นอกจากนี้ ยังต้องมีการติดตามระยะเวลาและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นระยะ และอาจต้องมีการทบทวนตัวเลขนี้ตามความเหมาะสมในระยะต่อไป รวมทั้งต้องติดตามสภาพภูมิอากาศในช่วงระยะข้างหน้า เนื่องจากยังไม่สิ้นสุดฤดูแล้ง และระดับความรุนแรงของฤดูแล้งอาจไม่เท่ากันในแต่ละเดือน

    ทั้งนี้ แม้ว่าตัวเลขผลกระทบดังกล่าวอาจมีผลไม่มากนักต่อภาพรวมเศรษฐกิจในระดับประเทศ รวมทั้งไม่กระทบต่อประมาณการเศรษฐกิจไทยของศูนย์วิจัยกสิกรไทยในปัจจุบัน ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5-4.2 ในปี 2562 อย่างไรก็ตาม ในระดับภูมิภาค จากเหตุการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อคนในพื้นที่ ซึ่งจะยิ่งเป็นการฉุดกำลังซื้อครัวเรือนภาคเกษตร การมีงานทำ รวมทั้งปัญหาในภาคธุรกิจ SMEs

    อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาระดับความรุนแรงของสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะในเดือนเมษายนที่จะเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเต็มรูปแบบ ดังนั้น เกษตรกรอาจต้องมีการวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำอย่างเหมาะสม หรือเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ใช้น้ำน้อยทดแทนเพื่อเป็นรายได้เสริม นอกจากนี้ ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องยังต้องระมัดระวังในการใช้น้ำ ตลอดจนต้องมีการเตรียมพร้อม/วางแผนเพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำดังกล่าวได้อย่างเป็นระบบ ก็อาจช่วยลดผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร ซึ่งอาจส่งผลต่อธุรกิจที่ต้องอาศัยกำลังซื้อของกลุ่มเกษตรกรเป็นหลัก ท่ามกลางภาวะที่ราคาสินค้าเกษตรยังคงให้ภาพที่ไม่ดีนัก