คนไทยใช้งานอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 9 ชั่วโมง 11 นาที เรียกได้ว่าสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยในปี 2018 มีค่าใช้จ่ายในการชอปปิงผ่านสมาร์ทโฟนอยู่ที่ประมาณ 1,500 บาท/เดือน ส่งผลให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันธุรกิจออฟไลน์ต่างก็ปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ดิสรัปชั่น เพื่อเข้าถึงลูกค้ายุคใหม่มากขึ้น
คนรุ่นใหม่ชอปออนไลน์มากที่สุด
www.Picodi.com แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซได้วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการชอปปิงของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทยในปี 2018 พบว่า แม้การชอปปิงในโลกออนไลน์ อุปกรณ์เดสก์ทอปกำลังเป็นที่นิยมทั่วโลก แต่กลับกลายเป็นว่าคนไทยนิยมใช้สมาร์ทโฟนมากกว่าเดสก์ทอป ยิ่งไปกว่านั้นค่าใช้จ่ายของคนไทยในการชอปปิงผ่านสมาร์ทโฟน อยู่ที่ประมาณ 1,500 บาท สูงกว่าการชอปปิงด้วยเดสก์ทอป ซึ่งค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,350 บาท/เดือน
นอกจากนี้ข้อมูลยังแสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงไทยนิยมชอปปิงออนไลน์มากกว่าผู้ชาย คิดเป็นเปอร์เซนต์คือ 59% และ 41% ตามลำดับ ส่วนคนรุ่นใหม่ คือกลุ่มที่ชื่นชอบการชอปปิงออนไลน์มากที่สุด มีมากกว่าครึ่งหนึ่งของนักชอปปิง ออนไลน์ทั้งหมดถึง 51% คือช่วงอายุระหว่าง 25 – 34 ปี และตามมาด้วยกลุ่มคนอายุ 35 – 44 ปี (21%) และ 18 – 24ปี (16%) ส่วนที่เหลืออีก 12% เป็นผู้บริโภคที่มีอายุมากกว่า 45 ปี (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 1)
สำหรับค่าเฉลี่ยของการชอปปิงจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1,500 บาท/ครั้ง โดยชอปผ่านสมาร์ทโฟนบ่อยที่สุด ขณะที่ยอดใช้จ่ายสูงสุดจะอยู่ในช่วงเดือน ต.ค. 1,956 บาท ตามด้วยเดือน ธ.ค. 1,918 บาท และเดือน ก.พ. 1,642 บาท ซึ่งนับเป็นช่วงที่คนไทยมีการใช้จ่ายคล่องตัว ส่วนช่วงที่ตลาดซบเซามีค่าเฉลี่ยการใช้จ่ายต่ำที่สุดคือในเดือน มิ.ย. อยู่ที่ 1,072 บาท
เมื่อวิเคราะห์วันที่ผู้บริโภคในประเทศไทยนิยมซื้อสินค้า พบว่า วันอังคารและวันศุกร์ เป็นช่วงที่ใช้จ่ายทางออนไลน์มากที่สุด และจะลดลงช่วงสุดสัปดาห์ โดยยอดขายสูงสุดจะชอปผ่านโทรศัพท์มือถือ อยู่ในช่วงเวลาประมาน 18.00 น. เป็นต้นไป แสดงให้เห็นว่า หลังจากว่างเว้นจากงานประจำ คนไทยจะหันมาชอปออนไลน์เพื่อผ่อนคลาย
สำหรับหมวดหมู่ที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ เสื้อผ้า อาหาร รองเท้า สินค้ากีฬา และด้านการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลของทั้ง 35 ประเทศทั่วโลก และเปรียบเทียบจากอุปกรณ์การชอปปิงออนไลน์ มูลค่าการสั่งซื้อเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 56% ของยอดสั่งซื้อทางโทรศัพท์มือถือเป็นอันดับ 3 ของโลก ซึ่งอยู่ในกลุ่มของประเทศที่ถือว่าใช้โทรศัพท์ในการชอปปิงเป็นหลัก (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 2)

เจาะทิศทางธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
ท่ามกลางกระแสดิจิทัล ดิสรัปชั่น ที่พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง ธุรกิจบัตรเครดิต “เคทีซี” จึงร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เปิดเวทีเสวนาเจาะลึกธุรกิจอีคอมเมิร์ซและชอปปิงออนไลน์ เผยมุมมองในการนำพาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ โดยชี้ว่าบริการออนไลน์ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แต่เป็นทางเลือกให้ชีวิตผู้บริโภคสะดวกสบายยิ่งขึ้น
คุณพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมการทำธุรกิจออนไลน์ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเติบโตก้าวกระโดด ช่วยสร้างรายได้ทางอาชีพและขับเคลื่อนให้ภาคเศรษฐกิจหมุนเวียน ด้วยแรงส่งจากเทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียที่ทำให้โลกเล็กลง ข้อมูล การสื่อสารและโอกาสที่ดีเกิดการแลกเปลี่ยนแบบไร้ขีดจำกัด ในส่วนของเคทีซีมียอดการใช้จ่ายบัตรเครดิตผ่านช่องทางออนไลน์เติบโตสูงต่อเนื่อง เปรียบเทียบปี 2561 กับปี 2560 เติบโตประมาณ 30% โดยสินค้าที่มีการใช้จ่ายผ่านออนไลน์สูงสุด ได้แก่ หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องสำอาง เสื้อผ้าแฟชั่น สินค้าตกแต่งภายในบ้าน และ สินค้าแม่และเด็ก
ด้านคุณธนิดา ซุยวัฒนา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า สำหรับการทำตลาดในประเทศไทย ลาซาด้ามีการใช้งบประมาณจำนวนมากและต่อเนื่อง โดยในปีนี้จะเน้นที่ออฟไลน์มากขึ้น รวมถึงกลยุทธ์ O2O เนื่องจากมองเห็นศักยภาพในการผลักดันผู้บริโภคจำนวนมากที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ให้มาทดลองใช้งาน เพราะการแข่งขันในตลาดอีคอมเมิร์ซปีนี้ยังคงดุเดือด แต่ละแพลตฟอร์มมีการดำเนินกลยุทธ์แตกต่างกัน ทำให้ต้องพัฒนากลยุทธ์เพื่อตอบสนองการใช้งานของลูกค้าอย่างตรงใจมากขึ้น สำหรับธุรกิจที่เริ่มต้นแบบออฟไลน์แล้วก้าวเข้าสู่ออนไลน์อย่างลอรีอัล โดยคุณจุรีรัตน์ ก้องเกียรติวงศ์ หัวหน้าสายงานดิจิทัล แผนกเครื่องสำอางชั้นสูง บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า สิ่งสำคัญที่สุดของการทำธุรกิจออนไลน์ในยุคที่ดิจิทัล ดิสรัปชั่น คือ การคำนึงถึงผู้บริโภคเป็นหลัก ซึ่งส่งผลต่อการทำธุรกิจในหลายด้าน เช่น ในส่วนของการตลาด เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง เราต้องวิเคราะห์และทำความเข้าใจว่าจะเข้าถึงลูกค้าแต่ละกลุ่มอย่างไร และจะมอบประสบการณ์ให้กับผู้บริโภคเหล่านั้นในช่องทางดิจิทัลให้ดีมากยิ่งขึ้นอย่างไร หรือต้องมองให้ออกว่าในแต่ละช่องทางลูกค้ามีความแตกต่างกันอย่างไรเพื่อใช้เป็นแนวทางในการคิดกลยุทธ์ที่เหมาะสมต่อผู้บริโภค
แน่นอนว่า เทรนด์การทำธุรกิจออนไลน์ในไทยจากนี้น่าจะแข่งขันกันสูงขึ้น และมีรายใหม่ๆ ผันตัวเองมาทำตลาดออนไลน์มากขึ้น มีผู้เล่นหลากหลายแข่งขันกันอย่างดุเดือด แต่ส่วนที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดคือ พฤติกรรมของลูกค้าในประเทศพัฒนาแล้ว ลูกค้าส่วนมากจะคำนึงถึงความสะดวกสบายจากการซื้อออนไลน์เป็นสำคัญ ในขณะที่ประเทศ ไทยผู้บริโภคจะพิจารณาความคุ้มค่ากับเงินที่จ่าย หรือส่วนลดต่างๆ เป็นสำคัญ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและชอปปิงออนไลน์ไทยเติบโตต่อไปได้คือการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งกับพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทย
____________________
คุณธนิดา ซุยวัฒนา – ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย จำกัด
“ภาพรวมธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยปี 2561 ถือว่าเติบโตอย่างน่าสนใจ เนื่องจากมีมาร์เก็ตเพลสรายใหม่จากต่างประเทศเข้ามา ขณะเดียวกันก็ส่งผลให้การแข่งขันในธุรกิจปีนี้ดุเดือดมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามแม้อีคอมเมิร์ซไทยยังค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อย่างจีน เกาหลีใต้และสหรัฐฯ แต่อัตราการขยายตัวพบว่าเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ดังนั้น โอกาสตลาดออนไลน์ไทยยังมีอีกมากสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายใหม่ที่สนใจ”