Wednesday, May 24, 2023
More

    รพ.ศิริราช ทุ่มเงิน 2 พันล้านสร้างตึกผู้ป่วยนอก บนสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง-สีส้ม

    การถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกันทำ MOU เพื่อดำเนินการก่อสร้างสถานีศิริราช และอาคารรักษาพยาบาลแห่งใหม่ ซึ่งจะเป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม-สีแดง และเป็นส่วนของการรักษาพยาบาล ห้องพักผู้ป่วย รวมถึงพื้นที่คลินิก

    โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า บริเวณสถานีศิริราช ถือเป็นพื้นที่สำคัญที่มีกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้ง ด้านการคมนาคม เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางที่สำคัญของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่รองรับการเดินทางของประชาชนระหว่างฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ และฝั่งธนบุรี และโครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ที่รองรับการเดินทางของประชาชนจากสถานีร่วมศิริราชไปพื้นที่ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ


    รวมทั้งสามารถเปลี่ยนเส้นทางด้วยระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม เชื่อมตลิ่งชัน – บางซื่อ – รังสิต สู่พื้นที่ตอนเหนือของกรุงเทพฯ ขณะที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมีความจำเป็นในการขยายพื้นที่การให้บริการด้านรักษาพยาบาล การศึกษา และการวิจัย แต่มีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ จึงต้องมีการวางแผนร่วมกันพัฒนาในบริเวณสถานีศิริราช

    สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือเพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างสถานีศิริราช และอาคารรักษาพยาบาลครั้งนี้ เป็นการบูรณาการการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณสถานีศิริราชของโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช และโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และประชาชนได้รับประโยชน์และความสะดวกสบาย จากการเดินทางในระบบขนส่งสาธารณะ รวมถึงการบริการด้านสาธารณสุขที่ดียิ่งขึ้น ตามนโยบาย One Transport for All ของกระทรวงคมนาคมที่มุ่งมั่นในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อความสุขของประชาชนคนไทยทุกคน โดยเน้นการเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ (Seamless) และจะเป็น Model ต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่สถานีขนส่งมวลชนสำหรับโครงการอื่นๆ ต่อไป

    ทางด้าน ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยนอกมาใช้บริการ 8,000-10,000 คน/วัน ขณะที่พื้นที่ให้บริการของ รพ.ศิริราชมีน้อยกว่าความต้องการ และไม่สามารถขยายพื้นที่เดิมได้ ดังนั้นความร่วมมือกับ รฟม.และ ร.ฟ.ท. ในการก่อสร้างอาคาร จะทำให้รองรับผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้น เฉพาะผู้ป่วยผ่าตัดจะรับได้อย่างน้อย 10,000 ราย/ปี

    อีกทั้งในอนาคตจะมีการพัฒนาระบบขนส่งทางเรือเชื่อมต่อมายังโรงพยาบาลด้วย และจะทำทางเดินเชื่อม (Sky Walk) จากอาคารใหม่ไปยังอาคารศิริราชเดิมเชื่อมต่อไปถึงถนนอรุณอัมรินทร์ ระยะทางประมาณ 100 เมตร เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกที่สุด


    สำหรับอาคารรักษาพยาบาล ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นการก่อสร้างอาคารสูง 15 ชั้น ก่อสร้างคร่อมสถานีศิริราชของโครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช โดยชั้น 1 และ 2 จะเป็นโถงสำหรับให้ประชาชนใช้ประโยชน์ และเดินเชื่อมไปยังสถานีรถไฟใต้ดินสายสีส้ม และสถานีรถไฟของสายสีแดงได้ ส่วนชั้น 3 – ชั้น 15 เป็นส่วนการรักษาพยาบาล และห้องพักผู้ป่วย พื้นที่คลินิก

    ซึ่งขณะนี้ออกแบบเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างเสนอขออนุมัติ EIA เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณก่อสร้างอาคารประมาณ 2,000 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะอำนวยความสะดวกต่อผู้ป่วยและญาติ ทำให้การเดินทางสะดวก รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งอาคารหลังนี้จะเน้นสำหรับผู้ป่วยด้อยโอกาส ระบบการรักษาที่ตรวจหรือการผ่าตัดที่สามารถดำเนินการได้ภายในวันเดียว ซึ่งจะเกิดประโยชน์และรองรับผู้เข้ารับการรักษาได้เพิ่มขึ้นด้วย

    ขณะเดียวกันนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตําแหน่งผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า จะบูรณาการการใช้ที่ดินรถไฟ ต่อเชื่อมสถานีรถไฟกับอาคารโรงพยาบาล และทำทางอพยพกรณีฉุกเฉิน ลิฟต์บริการผู้พิการ รวมถึงโครงสร้างอื่นที่เกี่ยวเนื่อง โดยการรถไฟฯ สามารถใช้ประโยชน์อาคารรักษาพยาบาลก่อสร้างเป็นสถานีในการให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน บริเวณชั้น 1 และชั้น 2 ของอาคาร ทั้งนี้ จะทำแผนการก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งรถไฟ โครงสร้างชานชาลา ระบบรางและระบบรถไฟ ให้สอดคล้องกับการก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้ม

    สำหรับโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. มี 3 สถานี วงเงินลงทุน 6,645.03 ล้านบาท รัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 เห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ดำเนินโครงการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับแบบรายละเอียดของสถานีบางขุนนนท์ ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าสายสีแดง กับรถไฟฟ้าสายสีส้มของ รฟม. เพื่อให้ผู้โดยสารเดินทางเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้า 2 สายได้สะดวกมากที่สุด รวมถึงอยู่ระหว่างจัดทำร่างทีโออาร์ประกวดราคา โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2563 พร้อมเปิดให้บริการในปี 2566

    ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม ระยะทาง 13.4 กม. วงเงินลงทุน 96,012 ล้านบาท ในความรับผิดชอบของ รฟม. คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ งานก่อสร้างโยธาและระบบการเดินรถไฟฟ้าภายในเดือน พฤษภาคมนี้ และคาดว่าจะก่อสร้างได้ในช่วงต้นปี 2563 พร้อมเปิดให้บริการในปี 2568