ไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศแล้ว แต่ยังคงมีสัญญาณความแห้งแล้งต่อเนื่อง จากแนวโน้มของอุณหภูมิความร้อนที่ยังคงสูงกว่าค่าปกติ ขณะเดียวกันความต้องการใช้น้ำของประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมีแนวโน้มสูงขึ้น จึงเป็นความกังวลว่าคนกรุงอาจเผชิญกับภาวะน้ำประปาไม่พอใช้ในอีก 20 ปีข้างหน้า หากไม่มีการจัดการที่ดีพอ
กรุงเทพฯ อากาศร้อน หวั่นน้ำไม่พอใช้
กรมอุตุนิยมวิทยาเผยไทยเริ่มเข้าฤดูฝนแล้วในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน พ.ค. คาดการณ์ว่าปริมาณฝนจะน้อยกว่าปีที่แล้วประมาณ 10-20% และปลายเดือน ส.ค. ปรากฏการณ์เอลนีโญจะอ่อนกำลังลงและฝนจะตกมากขึ้นในช่วงปลายฤดูฝน โดยยังคงมีสัญญาณของความแห้งแล้งต่อเนื่องยาวนานไปอีก พิจารณาได้จากแนวโน้มของอุณหภูมิความร้อนเฉลี่ยของประเทศไทยที่ยังคงสูงกว่าค่าปกติ โดยเฉพาะประเทศไทยตอนบนที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 34-35 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับค่าปกติที่ 33.6 องศาเซลเซียส ผนวกกับปริมาณน้ำฝนที่ยังน้อย และยังมีแนวโน้มของฝนที่อาจทิ้งช่วงในช่วงเดือน มิ.ย.-ก.ค. ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนยังคงทรงตัว ขณะที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังคงเผชิญอากาศร้อน อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 38 องศาฯ และมีฝนฟ้าคะนอง 10% ของพื้นที่
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนประชากรประมาณ 66 ล้านคน เฉพาะในกรุงเทพฯ มีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 8 ล้านคน เมืองจึงเริ่มขยายไปยังพื้นที่รอบนอกเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อพิจารณาถึงความต้องการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จึงเป็นข้อกังวลว่าถ้าน้ำมีไม่เพียงพอต่อความต้องการที่มากขึ้น จากปริมาณคนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งยังไม่รวมประชากรแฝง การบริหารจัดการที่มีอยู่เพียงพอแล้วหรือยัง
โดยข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน ระบุว่า คนกรุงเทพฯ ใช้น้ำเฉลี่ยวันละ 200 ลิตร ขณะที่คนต่างจังหวัด ใช้เพียงวันละ 50 ลิตร ซึ่งความต้องการใช้สอยน้ำเพื่อบริโภค อาบน้ำ ซักผ้า และอื่นๆ จะแตกต่างกันไปตามฐานะและความเป็นอยู่ของผู้บริโภค ตลอดจนลักษณะการใช้สอยของอาคาร และสภาพของดินฟ้าอากาศ (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 1)
เผยความต้องการน้ำประปาในอนาคตสูงขึ้น
ด้านสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้เผยแพร่งานวิจัยเรื่องแนวโน้มประชากรและความต้องการน้ำประปาในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จากปัจจัยความต้องการน้ำในอนาคต ประกอบด้วย จำนวนประชากร ขนาดครัวเรือน รายได้ครัวเรือน ราคาค่าน้ำ และปริมาณน้ำฝน พบว่า ในช่วงปี 2561-2581 หรืออนาคตในอีก 20 ปีข้างหน้า ความต้องการน้ำจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 674 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี 2561 เป็น 692 ล้าน ลบ.ม. ในปี 2563 และหลังจากนั้นความต้องการน้ำจะยังเพิ่มขึ้นอยู่ แม้เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ (1 ลบ.ม. เท่ากับ 1,000 ลิตร)
โดยคาดว่าความต้องการน้ำในครัวเรือนจะอยู่ที่ 723 ล้าน ลบ.ม. ในปี 2568 และ 742 ล้าน ลบ.ม. ในปี 2573 และเพิ่มสูงถึง 754 ล้าน ลบ.ม. ในปี 2581 หรือเพิ่มขึ้น 11.9% ในปี 2581 เมื่อเทียบกับปี 2561 (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 2)
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า หากภัยแล้งลากยาวต่อเนื่องออกไปถึงเดือน ก.ค. จากที่จะยุติในเดือน พ.ค. อาจส่งผลต่อมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งผลกระทบอาจจะยังอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากยังไม่ถึงฤดูกาลเพาะปลูกพืชสำคัญอย่างข้าวนาปี รวมถึงระดับความรุนแรงของภัยแล้งน่าจะลดน้อยลงกว่าในช่วงรุนแรงที่สุดในเดือน มี.ค.-เม.ย. ผนวกกับฝนที่อาจมีมาบ้าง แม้ว่าจะยังเป็นภาวะฝนทิ้งช่วงในเดือน ก.ค.-มิ.ย. ทำให้ภาพรวมสภาพอากาศต่อจากนี้ในอีก 2 เดือนข้างหน้าจะนับว่ายังคงแห้งแล้ง (ดูอินโฟกราฟิกประกอบ 3)
กทม. เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ
ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ปีนี้ปริมาณน้ำฝนที่จะตกลงมาอาจน้อยลงในทุกภาคของประเทศ กทม. จึงออกประกาศกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟไหม้หญ้าในพื้นที่รกร้างว่างเปล่าของ กทม. และจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ตลอดจนได้กำชับให้สำนักงานเขต เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่เขตชั้นนอก ของ กทม. ที่ประสบปัญหาน้ำประปาไม่เพียงพอ รวมทั้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบสถานการณ์น้ำ และเตรียมความพร้อมรับมือปัญหาภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้น โดยได้ประสานแจ้งการประปานครหลวง เพื่อขอรับการสนับสนุนน้ำประปาโดยไม่คิดมูลค่า เพื่อแจกจ่ายให้แก่ประชาชนในพื้นที่เขตต่างๆ ที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนด้านน้ำดื่ม น้ำใช้ และขอความร่วมมือประชาชนให้ใช้น้ำอย่างประหยัดในช่วงภัยแล้ง
นอกจากนี้ ในช่วงภัยแล้ง มักเกิดอัคคีภัยและวาตภัยได้ง่าย ซึ่งอาจสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ผู้บริหาร กทม. จึงได้กำชับให้สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสำนักงานเขตเตรียมความพร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ และอุปกรณ์ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที
เมื่อความต้องการน้ำเพิ่มขึ้นแต่น้ำมีจำกัด หากไม่มีการจัดการได้อย่างดีพอ ในอนาคตก็เป็นไปได้ว่าประเทศไทยอาจตกอยู่ในภาวะขาดแคลนน้ำสะอาดเหมือนที่เกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ดังนั้น หากทุกภาคส่วนไม่ช่วยกันอนุรักษ์น้ำกันอย่างจริงจัง ในอนาคตอาจไม่มีน้ำเหลือให้ลูกหลานได้ใช้อีกต่อไป
___________________
ผศ.ดร.ธีรนงค์ สกุลศรี – สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
“ที่ผ่านมาเราคุ้นชินว่าบ้านเรามีน้ำมากและคุ้นเคยกับการใช้น้ำที่มีราคาถูกมาตลอด จนอาจมองว่าน้ำไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ในต่างประเทศค่าน้ำมีราคาแพงกว่าบ้านเรามาก ทำให้เขาใช้น้ำอย่างเห็นคุณค่า จึงหวังว่าทางภาครัฐจะมีแนวทางการอนุรักษ์และควรดำเนินการอย่างเป็นระบบ รวมถึงอาจจะต้องพิจารณาถึงกลไกด้านราคาที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้คนไทยหันมาตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องน้ำมากยิ่งขึ้น”