Wednesday, December 6, 2023
More

    ไฟเขียว MRT สายสีน้ำเงิน – สายสีม่วง และ ARL ออกตั๋วโดยสารรายเดือน รอเคาะราคาภายใน 2 สัปดาห์

    กรมการขนส่งทางราง เห็นชอบมาตรการส่งเสริมการใช้ตั๋วเดือน ของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) พร้อมเปิดเผยว่า จะเคาะมาตรการส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้า-ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ภายใน 2 สัปดาห์ ก่อนนําเสนอต่อกระทรวงคมนาคมต่อไป

    นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวภายหลังการประชุม คณะกรรมการพัฒนาโครงสร้าง อัตราค่าโดยสารการขนส่งทางราง ว่าที่ประชุมได้พิจารณาแนวทางการส่งเสริมให้ประชาชนเดินทางในระบบขนส่งมวลชนโดยมีการลดภาระค่าครองชีพด้านค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล และกระทรวงคมนาคม โดยในเบื้องต้นได้กำหนดมาตรการที่จะดำเนินการ 2 มาตรการ


    มาตรการแรก คือ การส่งเสริมการใช้ตั๋วเดือน (จํากัดจํานวนเที่ยว) ของผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าในรายที่ยังไม่มีให้บริการ ได้แก่ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (สายสีแดง) รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) เนื่องจากในปัจจุบันมีเพียง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS ที่มีการส่งเสริมการเดินทางโดยระบบตั๋วโดยสารแบบรายเดือน

    ที่ประชุมจึงได้พิจารณาแนวทาง และเห็นชอบในหลักการร่วมกัน คือให้ส่งเสริมการเดินทางด้วยตั๋วโดยสารแบบรายเดือน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร ซึ่งผู้ให้บริการในแต่ละเส้นทางจะต้องจัดทำรายละเอียดเพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการของแต่ละหน่วยงานพิจารณาโดยเร็ว

    สำหรับมาตรการที่ 2 คือ การส่งเสริมให้ประชาชนเดินทางในช่วงเวลาที่ความจุของรถไฟฟ้าไม่เต็มประสิทธิภาพ (Non – Peak hours) ซึ่งปัจจุบันในช่วงเวลาเร่งด่วน (Peak hours) ซึ่งมีระยะเวลาประมาณ 6 ชั่วโมง จะมีปริมาณผู้โดยสาร 55% ของการเดินทาง ส่วนช่วงนอกเวลาเร่งด่วน (Non – Peak hours) ซึ่งมีระยะเวลาประมาณ 13 ชั่วโมง จะมีปริมาณผู้โดยสาร 45% ของการเดินทาง อีกทั้งกรอบระยะเวลาที่กําหนดในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน กับนอกเวลาเร่งด่วน มีความแตกต่างกัน

    ดังนั้น ที่ประชุมเห็นชอบให้ดําเนินการส่งเสริมการเดินทางของประชาชน ในช่วงนอกระยะเวลาเร่งด่วน ซึ่งจะก่อให้เกิดผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่รัฐได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางราง ให้ประชาชนได้ใช้บริการได้เพิ่มสูงขึ้น

    นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มอบให้แต่ละหน่วยงานจัดทํารายละเอียด เช่น อัตราค่าโดยสารขั้นสูงสุดในช่วงนอกระยะเวลาเร่งด่วน (Non – Peak hours) การกําหนดกรอบเวลาของชั่วโมงเร่งด่วนให้ตรงกันในแต่ละระบบ รวมถึงรูปแบบที่เหมาะสมของตั๋วรายเดือน ราคาต่อเที่ยวที่เหมาะสม และกรอบระยะเวลาที่สามารถดําเนินงานตามแนวทางดังกล่าว เพื่อนำมาหารือร่วมกันอีกครั้งในอีก 2 สัปดาห์

    ทั้งนี้ คาดว่าจะสรุปรายละเอียดที่ชัดเจน เพื่อนําเสนอต่อกระทรวงคมนาคม ภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้ เพื่อเริ่มดําเนินการตามแนวทางดังกล่าวให้ได้ภายในปลายปี 2562 ส่วนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะหารือร่วมกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นลำดับต่อไป เพื่อหาแนวทางให้ใช้ระบบขนส่งทางรางได้มากขึ้น

    อย่างไรก็ตาม กรมการขนส่งทางราง ประเมินว่าการดําเนินการตามมาตรการข้างต้น จะทําให้มีผู้โดยสารใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 10% ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัด และปัญหามลพิษในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล