รฟท. เผยข้อมูลสำคัญของสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยกำหนดค่าโดยสารให้อยู่ที่ 115 – 490 บาท ซึ่งจะเริ่มปรับราคาได้หลังครบ 8 ปีไปแล้ว ขณะที่รถไฟฟ้า ARL ช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ เริ่มต้น 15 บาทสูงสุดไม่เกิน 45 บาท ส่วน ARL ส่วนต่อขยาย 2 สถานี คือ สถานีบางซื่อ และดอนเมือง เริ่มต้น 44 บาท สูงสุดไม่เกิน 97 บาท
การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้เปิดเผยเอกสารข้อมูลสำคัญของวิธีการคัดเลือกเอกชน ข้อมูลสำคัญของสัญญาร่วมทุน และเอกสารแนบท้ายสัญญาต่างๆ ของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ท่าอากาศยานดอนเมือง-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-ท่าอากาศยานอู่ตะเภา)
เพื่อเป็นการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในข้อ 27 ของประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการ ในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือ ให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และเพื่อให้การคัดเลือกเอกชนคู่สัญญาในโครงการเป็นไปตามเปิดเผย โปรงใส และตรวจสอบได้
โดยที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด หรือกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มCPH) ซึ่งเป็นเอกชนคู่สัญญา ได้ทำสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 62 ที่ผ่านมา
ซึ่งโครงการนี้ประกอบด้วย 9 สถานี ได้แก่ ดอนเมือง บางซื่อ มักกะสัน สุวรรณภูมิ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ศรีราชา พัทยา และอู่ตะเภา ระยะเวลาของโครงการ คือ 50 ปี ประกอบด้วยงานระยะที่ 1 ช่วงออกแบบก่อสร้าง 5 ปี และงานระยะที่ 2 ช่วงการให้บริการเดินรถ และงานซ่อมบำรุงรักษา 45 ปี
สำหรับรายละเอียดค่าโดยสาร มีระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายสัญญาร่วมลงทุนหมายเลข 3 (อัตราค่าโดยสาร) ว่า อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ คือ ช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ เริ่มต้น 15 สูงสุดไม่เกิน 45 บาท/เที่ยว ค่าโดยสารแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ส่วนต่อขยาย 2 สถานี คือ สถานีบางซื่อ และสถานีดอนเมือง เริ่มต้น 44 บาท สูงสุดไม่เกิน 97 บาท/เที่ยว และค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูง เริ่มต้น 115 บาท สูงสุดไม่เกิน 490 บาท/เที่ยว
ในส่วนของอัตราค่าแรกเข้า รฟท. และเอกชนคู่สัญญาจะตกลงร่วมกัน โดยที่เอกชนคู่สัญญาตกลงว่าจะไม่เรียกเก็บค่าโดยสารในส่วนของค่าแรกเข้าระบบ หากผู้ใช้บริการเปลี่ยนถ่ายจากรถไฟสายอื่น ที่ใช้ระบบรถไฟเดียวกันกับระบบรถไฟความเร็วสูง หรือแอร์พอร์ต เรลลิงก์ หรือแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ส่วนต่อขยาย แล้วแต่กรณี โดยระบบที่ผู้ใช้บริการขึ้นก่อนจะเป็นผู้ได้รับค่าแรกเข้า ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงคมนาคม
นอกจากนั้น ในกรณีที่เป็นที่นั่งผู้โดยสารชั้นหนึ่ง (First Class) และ/หรือผู้โดยสารชั้นธุรกิจ (Business Class) เอกชนคู่สัญญาจะสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารในอัตราพิเศษที่สูงกว่าปกติได้เมื่อมีสัดส่วนของจำนวนที่นั่งของผู้โดยสารชั้นหนึ่ง และ/หรือผู้โดยสารชั้นธุรกิจ รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 26% ของจำนวนที่นั่งผู้โดยสารทั้งหมดในแต่ละขบวนที่วิ่งให้บริการในแต่ละรอบ
สำหรับการปรับอัตราค่าโดยสาร สามารถปรับได้ทุกๆ 36 เดือน โดยการปรับอัตราค่าโดยสารครั้งที่ 1 จะเริ่มต้นเมื่อครบระยะเวลา 8 ปี นับจากวันที่ รฟท. ออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงานในส่วนของการพัฒนาโครงการเกี่ยวกับรถไฟ (ไม่รวมแอร์พอร์ต เรลลิงก์) ให้แก่เอกชนคู่สัญญา และการปรับอัตราค่าโดยสารจะต้องปรับโดยพิจารณาจากดัชนีราคาผู้บริโภค ชุดทั่วไปของกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ประกาศโดยกองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ
ทั้งนี้ หากมีกรณีที่รัฐบาล หรือ รฟท. มีความประสงค์จะปรับลด หรือยกเว้นค่าโดยสาร ในช่วงเวลาใดเวลาในระยะเวลาที่คู่สัญญาดำเนินโครงการฯ รฟท. และ คู่สัญญาจะทำความตกลงกันเกี่ยวกับแนวทางการลด หรือยกเว้นค่าโดยสาร เพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย รวมถึงแนวทางการเยียวยาผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของเอกชนคู่สัญญาที่เกิดขึ้นด้วย