กรุงเทพมหานครได้รับการคัดเลือกจากมูลนิธิบลูมเบิร์กเพื่อสาธารณประโยชน์ (Bloomberg Philanthropies) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้เป็น 1 ใน 10 เมืองที่เข้าร่วมโครงการความคิดริเริ่มเพื่อความปลอดภัยทางถนนทั่วโลก (Bloomberg Philanthropies Initiative for Global Road Safety : BIGRS) เป็นระยะเวลา 5 ปี (ตั้งแต่ปี 2558 – 2562)
โดยมีวัตถุประสงค์มุ่งลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุทางถนนในกรุงเทพมหานครให้ได้มากที่สุด โดยใช้วิธีการให้คำแนะนำเรื่องการออกแบบพัฒนาปรับปรุงถนนให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น การรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างจิตสำนึกในเรื่องพฤติกรรมความปลอดภัยบนท้องถนน เช่น การดื่มไม่ขับ การใช้ความเร็วที่เหมาะสม การคาดเข็มขัดนิรภัย การสวมหมวกนิรภัย การบังคับใช้กฎหมายเพื่อความปลอดภัยทางถนน และการจัดเก็บข้อมูลการเฝ้าระวังอุบัติเหตุในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
รวมถึงการทำให้กรุงเทพมหานครมีความปลอดภัยทางถนนสำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนทุกประเภท โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้ที่มีความเปราะบางในการสัญจร (Vulnerable Road Users : VRUs) ได้แก่ ผู้สัญจรทางเท้า ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ และผู้ขับรถจักรยาน โดยได้ทำการสำรวจความปลอดภัยของถนนในกรุงเทพมหานคร และนำเสนอรายงานแก่กรุงเทพมหานครสำหรับนำไปพิจารณาแก้ไขความปลอดภัยของถนนในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ รายงานการสำรวจถนนเส้นหลักของกรุงเทพมหานคร คือ ถนนอโศก ถนนสีลม และถนนเยาวราช รายงานการสำรวจความปลอดภัยของ 21 ทางแยกในกรุงเทพมหานคร รายงานการจัดการความเร็วในการขับขี่ในพื้นที่ลาดกระบัง และรายงานการสำรวจความปลอดภัยในการเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินวัดมังกร
ซึ่งนายพานุรักษ์ กลั่นนุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กทม. ได้เข้าร่วมโครงการความคิดริเริ่มเพื่อความปลอดภัยทางถนน โดยจัดทำคลิปวีดีโอรณรงค์ลดความเร็วในการขับขี่ (Speed) เผยแพร่ทางโทรทัศน์ วิทยุ และสื่อออนไลน์ รวมทั้งได้จัดทำแผ่นป้ายไวนิล ป้ายแบนเนอร์ ประชาสัมพันธ์ในบริเวณจุดจอดรถจักรยานปั่น ปั่น และสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส
ขณะเดียวกัน ได้ปรับปรุงกายภาพถนนเพื่อให้เกิดความปลอดภัยตามคำแนะนำของมูลนิธิบลูมเบิร์ก ได้แก่ การปรับปรุงถนนเจริญกรุง จากแยกเสือป่าถึงแยกมิตรสัมพันธ์ การปรับปรุงพื้นที่ลาดกระบัง การปรับปรุงความปลอดภัยของทางแยกในเขตเมือง การจัดอบรมการประเมินความปลอดภัยทางถนน (Road Safety Audit Training) แก่เจ้าหน้าที่ของ กทม. ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดทำแผนแม่บทเพื่อความปลอดภัยทางถนนของ กทม.
นอกจากนี้ยังได้จัดการฝึกอบรมเพื่อสร้างเสริมศักยภาพแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจของกองบัญชาการตำรวจนครบาลในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายตามปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ การลดความเร็วในการขับขี่ การคาดเข็มขัดนิรภัย การบังคับใช้กฎหมาย เป็นต้น รวมทั้งยังได้สนับสนุนอุปกรณ์เพื่อใช้ในการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ เช่น กล้องตรวจจับความเร็ว กระบองไฟ เครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ แก่กองบัญชาการตำรวจนครบาล อีกทั้งได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขในการจัดเก็บข้อมูลการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุทางถนน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ