เชื่อว่าสายมูเตลูทั้งหลายต้องเคยไป หรือเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับความขลังของวัดต่างๆ ในสิงคโปร์ ไม่ว่าจะเป็นวัดเจ้าแม่กวนอิมทังฮุดโจ้ว (Kwan Im Thong Hoo Cho Temple) วัดพระเขี้ยวแก้ว (The Buddha Tooth Relic Temple and Museum) และวัดตันสิชงซู (Tan Si Chong Su Temple) เป็นต้น แต่ด้วยความที่สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ และศาสนาส่งผลให้มีความหลากหลายในทางความเชื่อเช่นกัน
จุดเริ่มต้นของวัดไทยในสิงคโปร์ ทำให้พระเครื่อง และเครื่องรางของขลังเป็นที่รู้จัก
วัดไทยเริ่มไปก่อตั้งในสิงคโปร์ตั้งแต่ปี 2468 คือ วัดอานันทเมตยาราม ทำให้ชาวสิงคโปร์เริ่มรู้จักศาสนาพุทธนิกายเถรวาท และมีชาวสิงคโปร์บางส่วนเริ่มให้ความสนใจในพระเครื่อง เครื่องรางของขลังจากประเทศไทยมากขึ้น เพราะขณะนั้นมีชาวสิงคโปร์เดินทางมาศึกษาศาสนาพุทธในไทย จึงเกิดความเชื่อว่า พระเครื่อง และเครื่องรางของขลังมีความเป็นสิริมงคล สามารถส่งเสริม ทั้งในหน้าที่การงาน ชีวิต โชคลาภ สุขภาพและความเจริญรุ่งเรื่อง เมื่อนำมาสวมใส่หรือพกติดตัว
สิงคโปร์มีร้านจำหน่ายพระเครื่องมากกว่า 300 ร้าน ในย่านแหล่งชอปปิงใจกลางเมือง
ข้อมูลจาก สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงสิงคโปร์ เปิดเผยว่า เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาพบว่า สิงคโปร์มีร้านจำหน่ายพระเครื่องจำนวนกว่า 300 ร้าน ตั้งอยู่บริเวณ Bugis อาทิ ร้าน Fu Lu Shou Si Mian Fo Pte Ltd ร้าน Butterfly Amulet Gallery ร้าน www.thaprachan.com และร้าน www.dd-pra.com เป็นต้น
นอกจากนี้ ชาวสิงคโปร์ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับการสักยันต์ โดยผู้ประกอบการจะนิมนต์พระสงฆ์ หรือเชิญครูบาอาจารย์ชื่อดังที่ได้รับความเคารพจากไทยเข้ามาทาพิธีกรรมในสิงคโปร์ เพื่อให้ลูกค้าที่มีความเคารพและศรัทธาได้เข้ามาทำพิธี และสักยันต์ในร้านของตน จึงไม่น่าแปลกใจว่าเราจะได้ยินข่าวอาจารย์สักยันต์ดังๆ หลายคนมักเดินทางไปสิงคโปร์เพื่อสักยันต์ให้ลูกศิษย์อยู่บ่อยครั้ง
การนำเข้าพระเครื่อง เครื่องรางของขลังในสิงคโปร์
สำหรับการนำเข้าสินค้าพระเครื่อง และเครื่องรางของขลังในสิงคโปร์นั้น ส่วนมากจะเป็นการนำเข้าโดยผู้ประกอบการร้านพระเครื่องที่เป็นชาวสิงคโปร์ ที่สื่อสารภาษาไทยได้ และฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของพระสงฆ์/ครูบา/เกจิชื่อดังต่างๆ ของไทย เดินทางมาเช่า หรือบูชาเครื่องรางของขลังด้วยตัวเอง หรือการเช่า/บูชาพระเครื่องและเครื่องรางของขลังจากแหล่งขาย อาทิ พันธ์ทิพย์ งามวงศ์วาน ซึ่งเป็นตลาดพระแหล่งใหญ่ในกรุงเทพฯ หรือแม้แต่การมีหุ้นส่วนเป็นชาวไทย
ทั้งยังพบว่าผู้ประกอบการชาวสิงคโปร์บางรายที่เป็นลูกศิษย์ของสำนักพิธีกรรมทางความเชื่อของไทย ยังเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าเสริมสิริมงคลของสำนักพิธีกรรมนั้นๆ ในสิงคโปร์อีกด้วย โดยการนำเข้าผู้นำเข้าจะต้องชำระภาษี Goods and Services (GST) 7% ตามรายละเอียดและตราสินค้ามีระบุในใบ Invoice เหมือนสินค้าอื่นๆ ทั่วไป
พระเครื่อง เครื่องรางของขลังไทย เป็นกระแสนิยมในหมู่ชาวจีน
ขณะที่ในสาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ได้มีศาสนาที่เด่นชัด กลุ่มชาวบ้านท้องถิ่นมีความนับถือเลื่อมใสในศาสนาท้องถิ่นของคนจีนเอง เช่น ลัทธิเต๋า ขณะเดียวกันสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาพุทธในจีน อย่าง วัดวาอาราม จะมีลักษณะเป็นเหมือนสถานที่โบราณสถาน และแหล่งท่องเที่ยว แหล่งทางวัฒนธรรมเสียมากกว่า
ด้วยความที่ไม่ได้มีศาสนาที่แน่นอน ประกอบกับสภาพสังคมของคนจีนที่มีการแข่งขันสูง ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดเพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้การแสวงหาสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ หรือเพื่อเสริมสร้างกำลังใจ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้คนอย่างเลี่ยงไม่ได้ พระเครื่อง เครื่องรางของขลังไทย ซึ่งมีชื่อเสียงในแง่การให้คุณ ให้โชค จึงเป็นที่สนใจของคนจีนไปโดยปริยาย โดยเมื่อยุคสมัยหนึ่งที่ดาราดังของจีนมาประเทศไทยแล้วเช่าพระไปห้อยคอ เกิดเรื่องเล่าปากต่อปากของประสบการณ์ที่ดาราเจอกับตัวเอง ยิ่งทำให้เกิดกระแสนิยมอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจพระเครื่องรุ่งเรืองเฟื่องฟูมากจนถึงทุกวันนี้ มีการจำหน่ายที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้หลากหลายช่องทาง ทั้งแบบหน้าร้าน อย่างในกรุงปักกิ่ง แถวย่านวัดลามะ(雍和宫 – ยงเหอกง) แถวบริเวณสถานีรถไฟใต้ดินในฮ่องกง หรือบนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างเถาเป่า (Taobao) เป็นต้น