ควรค่าแก่การหาชมยิ่ง สำหรับนิทรรศการ “ฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา” (Glass Plate Negatives : Stories That Transcend Time) ซึ่งจะพาคุณย้อนอดีต สะท้อนความทรงจำแห่งสยามประเทศไปเมื่อราว 100 กว่าปีก่อน ผ่านภาพถ่ายฟิล์มกระจกจำนวน 1,000 ภาพ ซึ่งทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ในสมัยรัชกาลที่ 5 -รัชกาลที่ 7
แถมแต่ละภาพยังเผยสถานที่สำคัญๆ ตามรายทางต่างๆ ไว้น่าสนใจ ซึ่งทั้งหมดเน้นให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของประเทศที่ค่อยๆ เคลื่อนคล้อยเข้าสู่ห้วงเวลาแห่งการผสมผสานทางวัฒนธรรม ระหว่างตะวันออกและตะวันตก
โดยนิทรรศการนี้ได้แบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ ปฐมบรรพ การเสด็จประพาสหัวเมืองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ฉายให้เห็นภาพในการ “เสด็จประพาสต้น” คือการเสด็จพระราชดำเนินส่วนพระองค์โดยมิให้ใครรู้ เพื่อที่จะทรงได้ใกล้ชิดและทราบทุกข์/สุขที่แท้จริงของราษฎร ทุติยบรรพ สยามอันสุขสงบในรอยต่อของกาลเวลา ในโซนนี้ผู้ชมจะได้ละลานตาไปกับภาพถ่ายวิถีชีวิตตามครรลองของคนกรุงเทพฯ และคนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ภาพเด็กๆ และภาพพระภิกษุในวัดวาอารามที่สร้างขึ้นในปลายสมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์
ตติยบรรพ ตะวันออกบรรจบตะวันตก การนำเสนอภาพชาวตะวันตกที่เข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวสยาม ซึ่งในสมัยนั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดเกล้าฯ ให้ชาวยุโรปที่มีความรู้ความสามารถหลายคนได้เข้ามาทำงานร่วมกับช่างฝีมือชาวสยาม
และโซนสุดท้าย จตุตบรรพ เร่งรุดไปข้างหน้า ส่วนนี้ภาพจะบอกเล่าถึงความก้าวหน้าในยุคนั้น ซึ่งมีกิจการรถไฟเป็นครั้งแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พัฒนาจนเสร็จสมบูรณ์ โดยเชื่อมโยงระบบและเส้นทางทั้งหมดให้เป็นโครงข่ายเดียวกัน
นิทรรศการ ภาพถ่ายฟิล์มกระจก : เรื่องราวเหนือกาลเวลา
เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันนี้ถึง 20 ก.ย. 63 เวลา 10.00 – 19.00 น. (หยุดวันจันทร์) ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ โทร. 0 2281 1599 หรือคลิก www.nat.go.th