Saturday, December 2, 2023
More

    คิดจะสวยด้วยแพทย์ ก็ต้องฉลาดเลือก

    จากข่าวคราวในหน้าสื่อต่างๆ ที่บอกเล่าถึงปัญหาที่พบหลังการทำศัลยกรรม ซึ่งคำตอบที่ได้รับมักจะกล่าวว่าเชื่อในคำรีวิวหรือการโฆษณาผ่านทางตัวบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคม ที่บอกว่าถูกและดี ทำโดยแพทย์ที่มีชื่อเสียง แต่ผลลัพธ์ที่ได้คุณอาจตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อ หรือทำศัลยกรรมโดยแพทย์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้เกิดข่าวดังต่อไปนี้
              16 มี.ค 60 หนุ่มอายุ 26 ปี ฟ้อง! โรงพยาบาลเอกชนทำตาสองชั้นพลาด หมดเงินเกือบสองแสน
              1 ธ.ค. 59  ผู้เสียหาย 10 ราย แจ้งจับคลินิกเสริมความงามย่านธนบุรี ทำช็อคหมดสติ
              30 พ.ย. 59  จับกุม 2 สามีภรรยา อ้างตัวเป็นหมอศัลยกรรม ทั้งที่ไม่มีความรู้ทางการแพทย์
              30 ต.ค. 59 รู้จักคลินิกผ่านเฟซบุ๊ก ตัดสินใจศัลยกรรมจนปากเบี้ยว หมอไม่รับผิดชอบ
              20 ก.ย. 59 นางเอก MV แจ้งจับโรงพยาบาลดัง หลังหมอทำปากเบี้ยว คางไหม้

    ในปี 2559 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า กว่าร้อยละ 70 มีการดำเนินคดีกับคลินิกและหมอเถื่อนรวม 27 คดี ซึ่งที่ผ่านมาปี 2558 มีผู้ร้องเรียนได้รับความเสียหายจากการใช้บริการสถานเสริมความงามและศัลยกรรมความงาม 355 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2557 มีการร้องเรียน 158 ราย จากความผิดพลาดในการทำศัลยกรรมตกแต่งในประเทศไทยจะเห็นว่าเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ล้วนมาจากสถานประกอบการหรือคลินิก รวมถึงแพทย์ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางและไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของคนไข้มาเป็นอันดับหนึ่ง หวังเพียงรายได้และชื่อเสียงที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น 


    ทางด้านแพทยสภา ยังคงดำเนินการประกาศเตือนให้ระวังเรื่องการโฆษณาเกินจริงของสถานประกอบวิชาชีพเวชกรรมทางโซเชียล ทั้งโรงพยาบาลและคลินิกต่างๆ ไม่ให้เป็นไปในทางโอ้อวดความสามารถ ความเชี่ยวชาญเกินกว่าความจริง หากไม่ปฏิบัติตามก็จะมีโทษ โดยต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท นับแต่วันที่ฝ่าฝืน แต่ก็ยังมีการโฆษณาให้เห็นเรื่อยๆ ว่าแต่ละสถานที่ที่เข้าจับกุมล้วนไม่มีใบประกอบถูกต้อง

    รวมถึงการที่แพทย์คนหนึ่งที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางได้ จะต้องผ่านการฝึกอบรมเฉพาะทาง หรือได้รับวุฒิบัตร หนังสือวุฒิบัตรจากแพทยสภาด้วย ซึ่งเรื่องนี้น้อยคนที่ทำศัลยกรรมจะศึกษาก่อน ไม่ใช่แค่ว่าเห็นแพทย์ผ่านการดูงานตามที่ต่างๆ ได้รับประกาศนียบัตรจำนวนมาก หรือที่เรียกกันติดปากว่าใบเซอร์ เพราะเป็นการส่อว่าแพทย์คนนั้นไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญจริงๆ หรือจะเป็นการบอกกันปากต่อปากในโลกโซเชียลก็จะเชื่อว่าทำดีจริง 

    ประกอบกับ สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย และ สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยแห่งประเทศไทย ได้ออกมาให้ความรู้กับผู้ที่ต้องการทำศัลยกรรมความงามว่า ศัลยแพทย์ตกแต่งที่แท้จริง เรียกว่า Plastic Surgeon ต้องผ่านการศัลยกรรมไม่น้อยกว่า 5-6 ปี เป็นเช่นนี้ทุกประเทศทั่วโลก โดยจะต้องผ่านการฝึกอบรมทางด้านศัลยกรรมทั่วไปมาไม่ต่ำกว่า 1-2 ปี ทำให้มีพื้นฐานทางด้านการดูแลผู้ป่วยศัลยกรรมก่อน ระหว่าง และหลังผ่าตัดทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นคนไข้สูงอายุ เด็ก คนไข้หนัก ผ่าตัดช่องท้อง ช่องอก กระดูก สมอง และส่วนอื่นๆ ทั้งร่างกาย หลังจากผ่านการฝึกอบรมทางด้านศัลยกรรมทั่วไปอย่างน้อย 2 ปี จึงจะเข้าฝึกอบรมทางด้านศัลยศาสตร์ตกแต่งอีก 3 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่แพทย์จะได้ฝึกอบรมในด้านศัลกรรมความงาม และการแก้ไขความพิการประเภทต่างๆ ทั้งที่เป็นแต่กำเนิดจากการบาดเจ็บ และจากโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นใบหน้าผิดรูป เต้านมผิดปกติ การดูแลบาดแผลชนิดต่างๆ การหายของแผล รวมทั้งไฟไหม้ น้ำร้อนลวก 

    ในปัจจุบัน อาจไม่รู้ว่าใครคือศัลยแพทย์ตกแต่งตัวจริง หากต้องการทำศัลยกรรมจริงๆ ถ้าอยากสวยแบบที่คาดหวังก็ควรเลือกแพทย์อย่างชาญฉลาด และต้องดูด้วยว่าแพทย์ได้รับการฝึกอบรมที่ใด ผ่านการฝึกอบรมทางด้านศัลยกรรมทั่วไปหรือไม่ เคยผ่านการแก้ไขความพิการหรือการผิดปกติต่างๆ มาก่อนมั้ย เพื่อให้แน่ใจเบื้องต้นว่าชีวิตเราจะปลอดภัยภายใต้การดูแลของแพทย์คนนั้น ควรเข้าไปตรวจสอบข้อมูลของแพทย์ที่เราจะทำด้วยว่าเขามีตัวตนจริงหรือไม่ ได้ที่ www.plasticsurgery.or.th ของสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย และ www.tmc.or.th ของแพทยสภา หรือเมื่อทำมาแล้วเกิดการผิดพลาด ให้รีบแจ้งสายด่วน 1116 ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ที่หมายเลข 02-1937999 ต่อ 18821

    แม้ว่าแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์ที่มีจะกระจายอยู่ทั่วประเทศ หรือแพทย์ผู้ที่ไม่ได้รับการการันตีจากแพทยสภาก็อาจจะเป็นผู้ที่ประพฤติอยู่ในจรรยาบรรณของแพทย์ ดังนั้นทั้งหมดทั้งมวลจึงขึ้นอยู่กับวิจารณญาณและการใส่ใจในการหาข้อมูลให้มากที่สุด ก่อนที่จะนำสิ่งแปลกปลอมเข้ามาเสริม เติม แต่งในร่างกาย ทั้งการไปสอบถามกับแพทย์หลายที่ ตรวจเช็คว่าเป็นแพทย์จริงหรือไม่ เพราะพลาดขึ้นมาเมื่อไหร่ไม่คุ้มเสียแน่นอน


    ศ.คลินิก นพ.อภิรักษ์ ช่วงสุวนิช ศัลยแพทย์ตกแต่ง คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล 
    “ศัลยแพทย์ตกแต่งต้องมีความรู้ในการฝึกอบรม 5 ปี ใช้เวลาเรียนนานกว่าสาขาอื่นๆ เพราะแพทย์จำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐาน เพื่อให้มีความรู้นำไปใช้ในการผ่าตัด เสริมสร้าง เสริมสวย รวมถึงต้องรู้ด้วยว่าโอกาสที่จะเกิดปัญหาแทรกซ้อนมีมากหรือน้อยแค่ไหน เพื่อจะได้แก้ปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ส่วนที่ว่ามีนวัตกรรมชื่อแปลกๆ อันนี้นี่เป็นจุดขายแข่งกัน บางทีเย็บแผลแบบเดียวกัน แต่ใช้ชื่อต่างกัน ซึ่งเป็นการโฆษณามากกว่า เพราะในทางวิทยาศาสตร์นั้นไม่ต่างกัน”

    รศ.นพ.นนท์ โรจน์วชิรนนท์ กรรมการฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ของสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย
    “ตอนนี้เข้าขั้นหนักแล้ว เพราะมีทั้งการใช้สื่อออนไลน์ มาร์เก็ตติ้ง เอเจนซี่ ก็มีบางคนที่อยากจะมีรายได้ดีๆ ตั้งตนเป็นผู้เชี่ยวชาญมากมาย ในขณะที่ผู้เชี่ยวชาญจริงๆ คือ ศัลยแพทย์ตกแต่ง มีอยู่แค่สามร้อยกว่าคน แต่ตอนนี้เฉพาะในกรุงเทพฯ ก็มีเป็นพันกว่าคนแล้ว ในต่างจังหวัดมีอยู่สี่พันกว่าคลินิก เมื่อคนไข้มารับการผ่าตัด ด้วยการเชื่อว่าหมอเป็นผู้เชี่ยวชาญในวงการ รวมถึงสถานพยาบาลไม่ได้รับมาตรฐาน ควรจะต้องมีวิสัญญีแพทย์ระงับความเจ็บปวด แต่กลับไม่มี”

    วิน พรนิพัฒน์ ผู้เปลี่ยนเพศสภาพจากเพศหญิงเป็นเพศชาย
    “ต้องบอกว่าขึ้นอยู่กับวิจารณญาณด้วย เพราะปัจจุบันมีหมอเยอะมาก อยู่ที่ว่าเราอยากทำกับใคร แต่จริงๆ แล้วมันไม่มีเหตุผลหรอก หมอแต่ละคนก็เทคนิคไม่เหมือนกัน เราก็ไปคุยมาหลายที่มาก กว่าจะมาลงเอยเหมือนตอนนี้ มีคนถามเยอะมากว่าทำที่ไหน แต่ก็จะตอบเสมอว่า อย่ามาถามเลยว่าเพราะอะไร เพราะผมมีความมั่นใจในตัวคุณหมอคนนี้เท่านั้นเอง ด้วยความโชคดีด้วยที่เรื่องการเปลี่ยนเป็นแบบนี้ ไม่ค่อยมีคนรีวิว เพราะเท่าที่รู้ คือ หมอแต่ละท่านจะไม่สามารถเอาเคสของคนไข้ออกสื่อได้ ต้องนั่งคุยกันเลยว่าใครอยากทราบอะไรก็ถาม แล้ววิธีที่หมอบอกมันตรงกับใจเรามั้ย เพราะว่าแต่ละแบบมีข้อดีข้อเสียต่างกัน”

    [English]
    Plastic Surgery Gone Wrong
    If you need to have a plastic surgery done, make sure you get the treatment from a real surgeon whose specialties match your needs. Many plastic surgery clinics cook up the hype to promote their business or use uncertified surgeons. The Health Service Support Department revealed that in 2015 complaints about failed plastic surgery cases were double the cases reported in 2014; uncertified doctors and negligence were the top causes of the complaints. You can check the authenticity of a particular surgeon at the following two websites: www.plasticsurgery.or.th and www.tmc.or.th. A complaint can be made through hotline number 1116 or 02-1937999 ext. 18821.