Wednesday, September 27, 2023
More

    HUBBA มากกว่า Co-working Space

    ในแวดวงสตาร์ทอัพ คงไม่มีใครไม่รู้จัก HUBBA สตาร์ทอัพไทยที่ปลุกกระแส Co-working Space ในประเทศให้เติบโต กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดพื้นที่สตาร์ทอัพมากมาย โดยคุณเอม-อมฤต เจริญพันธ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง HUBBA Thailand กล่าวอย่างชัดเจนว่า HUBBA เป็นสเปเชียลลิสต์ด้านการสร้างคอมมูนิตี้ให้คนสนใจตั้งเป็นบริษัท ไม่ใช่แค่ Co-working Space ที่รอลูกค้าเดินเข้ามา

    HUBBA ทำอะไรบ้าง
    “HUBBA คือ ชุมชนที่เอื้อต่อการสร้างมิตรภาพ แลกเปลี่ยนความรู้และความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงช่วยสร้างเครือข่ายเพื่อต่อยอดธุรกิจ เรามุ่งสู่การเป็นแพลตฟอร์มที่เปรียบเสมือนผู้ช่วยผู้ประกอบการแบบเต็มตัว เพราะทุกคนจะเป็นผู้ประกอบการและ Digital Nomad ที่สามารถทำงานและทำธุรกิจได้ทุกที่ทุกเวลาเนื่องด้วยอิทธิพลของเทคโนโลยี ยิ่งไปกว่านั้น เรามีหน้าที่ช่วยให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่ หรือกลุ่มสตาร์ทอัพ ได้ทำตามความฝันของเขาให้สำเร็จ จึงจัดคอร์ส สัมมนาหรือจัดเวิร์คชอปให้ผู้มาใช้บริการได้พบกับวิทยากรที่มีประสบการณ์และได้รับความรู้รูปแบบใหม่ๆ ที่สามารถหยิบนำไปใช้กับธุรกิจของตัวเองได้”

    กลุ่มคนที่เข้ามาใช้บริการจาก HUBBA
    “HUBBA เจาะกลุ่มคนทำงานที่เป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ หรือสตาร์ทอัพ เรามีพื้นที่ มีห้องประชุมทั้งขนาดเล็กและใหญ่ เอื้อการทำงานด้วยอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องโทรสาร ฯลฯ พร้อมมีมุมหนังสือ มุมรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม และมุมพักผ่อนหย่อนใจ ปัจจุบัน HUBBA มี 3 สาขา คือ สาขาเอกมัย, สาขา Siam Discovery และ HUBBA-TO ที่ถูกพัฒนาจาก Coworking Space กลายมาเป็น Co-Creation Community”


    จุดแข็งของ HUBBA ในยุคที่ Co-working Space มีมากขึ้น
    “ในยุคแรกที่เราเปิด HUBBA (มิ.ย. 2555) เกือบต้องปิดตัวลง เพราะแทบไม่มีใครรู้จัก หรือเข้าใจคำว่า Co-working Spcae เราจึงปรับกลยุทธ์จนกลายเป็นสเปเชียลลิสต์ด้านการสร้างคอมมูนิตี้ เป้าหมายของ HUBBA คือ ให้คนสนใจตั้งบริษัท ไม่ใช่แค่สร้าง Co-working Space แล้วรอลูกค้าเข้ามา จุดเด่นของเรามี 3 อย่าง คือ 1. เราเข้าใจทั้งสตาร์ทอัพและ Corporate
    2. เราเข้าใจดีไซน์ ว่าจะดีไซน์ Co-working อย่างไรให้ตอบโจทย์ Collaboration Innovation
    3. เรามี Network ระหว่าง Corporate ต่างๆ เพื่อให้เกิดเป็น Coporate Innovation และ Digital Tranformation”

    การแข่งขันของธุรกิจ Co-working 
    “เทรนด์การใช้ Co-working Space ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ถ้าเทียบกับประเทศฮ่องกงและสิงคโปร์ ณ ตอนนี้โครงการเขามีมากกว่าเรา 4-5 เท่า ซึ่งเราคาดการณ์ว่า Co-working Spcae ในไทยมีเพียง 0.4% จากพื้นที่ออฟฟิศทั้งประเทศ ปัจจุบัน หลายๆ บริษัทจากต่างประเทศเข้ามาในเมืองไทย ตั้งบริษัท แต่ไม่มีพื้นที่ ก็เข้ามาใช้ Co-working Space ขณะเดียวกัน หลายบริษัทที่ก็เลิกเช่าออฟฟิศแล้วเปลี่ยนมาใช้ Co-working Space รวมถึงอีกหลายๆ บริษัทที่เปลี่ยนออฟฟิศเป็น Co-working Space เพราะอยากให้พนักงานมีความครีเอทีฟ ทำงานร่วมกันมากขึ้น”

    ต้องคิดอะไรใหม่ๆ ด้วยใช่ไหม
    “ผมมองว่าผู้บริหารทุกคนคงอยากได้ทั้ง Productivity, Idea และ Save Cost ถ้าไปดูรีเสิร์ชจากบริษัทชั้นนำต่างๆ จะพบว่า คนออฟฟิศยุคใหม่อยากทำงานที่มีคุณค่า ใช้ความครีเอทีฟ ทำในเวลาที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ดังนั้นคนที่ไปใช้ Co-working Space คือคนที่อยากทำอะไรแตกต่างจากเดิม ทำให้ผู้บริหารมองว่า Win-Win ลูกน้องอยากได้พื้นที่ทำงานแบบนี้ ในขณะเดียวกันผู้บริหารก็จะได้รับไอเดียใหม่ๆ จากลูกน้อง ได้ใช้เทคโนโลยีกันมากขึ้น”

    คิดว่าสตาร์ทอัพไทยยังขาดอะไร
    “จากประสบการณ์ในการทำสตาร์ทอัพมากว่า 6 ปี เราจะเริ่มเห็นแพทเทิร์นว่า หลายๆ คนมีความตั้งใจ มีความมุ่งมั่นที่ดี แต่หลายๆ ทีมขาดองค์ประกอบในการรวมตัวที่ลงตัว ให้กลายเป็น Business ที่สำเร็จได้ ตัวอย่างของทีมที่สำเร็จในวงการสตาร์ทอัพเราจะแบ่งคนเป็น 3 กลุ่ม เรียกว่า 3H คือ 1. Hacker คือคนที่สามารถสร้างเทคโนโลยี 2. Hustler หรือ Businessman ที่สามารถนำไอเดียไปขายได้ และ 3. Hipster คนคูลๆ แต่งตัวเท่ๆ สามารถเข้าใจแบรนด์ และสามารถนำไปใช้ได้จริง”

    ทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ
    “หัวใจหลักของสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จคือ ความอดทน ไม่ได้มาแบบเดี่ยว แต่มาเป็นทีม รวมคนมากประสบการณ์ มากไปกว่านั้นคือ ต้องเข้าใจอุตสาหกรรมอย่างถ่องแท้ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีของสตาร์ทอัพไทยหลายๆ เจ้า ที่อยู่ใน Corporate ใหญ่ๆ อย่างการเข้าร่วมงาน Hackathon หรือกิจกรรมเพื่อสตาร์ทอัพต่างๆ ก็เป็นโอกาสดีที่จะทำให้รู้ว่าเขาควรรู้อะไรบ้าง และคนในทีมเขามีอะไรที่ต้องทำเพิ่ม”