ปลากระโห้ (Siamese Giant Carp) เป็นปลาน้ำจืดชนิดมีเกล็ดที่ใหญ่ที่สุดในโลก มักมีขนาดประมาณ 1.5 เมตร แต่พบใหญ่สุดได้ถึง 3 เมตร หนักได้ถึง 150 กิโลกรัม โดยในปี 2558 กรมประมงมีนโยบายที่จะดำรงความหลากหลายทางธรรมชาติของสัตว์น้ำในประเทศไทย โดยให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืนคู่กับทุกจังหวัด จึงมีนโยบายให้แต่ละจังหวัดสืบประวัติชนิดสัตว์น้ำในพื้นที่ ซึ่งสำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้พิจารณาคัดเลือก ปลากระโห้ เป็นปลาประจำกรุงเทพมหานคร จากข้อพิจารณาดังนี้
1. มีประวัติเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจ เนื่องจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมประมงเพาะพันธุ์ปลาที่อยู่ในลำน้ำดั้งเดิมเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟู ซึ่งปลากระโห้เป็นปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ในแม่น้ำเจ้าพระยา แม้ว่ากรมประมงจะผสมเทียมได้สำเร็จด้วยพ่อแม่พันธุ์จากแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเขื่อนชัยนาท แต่ประสบปัญหาการขาดแคลนพ่อแม่พันธุ์ซึ่งลดน้อยลง จึงทรงมีพระบรมราชานุญาติให้กรมประมงทดลองเพาะพันธุ์ปลากระโห้ในสระพระตำหนักจิตรลดารโหฐานมา เนื่องจากจำได้ว่ามีปลากระโห้ในสระดังกล่าว อายุ 40-50 ปี รุ่นเดียวกับปลาในสวนสัตว์ดุสิตหรือเขาดิน หลังจากนั้นอีก 1 ปีคือในปีพ.ศ. 2528 กรมประมงก็ประสบผลสำเร็จสามารถผสมเทียมปลากระโห้จากสวนพระตำหนักจิตรลดารโหฐานได้
2. เป็นพันธุ์ปลาดั้งเดิมที่มีอยู่ในลำน้ำเจ้าพระยา แต่ปัจจุบันตามธรรมชาติมีจำนวนลดลงและเป็นปลาที่อยู่ในโครงการรักษ์ปลาไทยของกรมประมง
3. เป็นปลาน้ำจืดตระกูล Carp ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
4. ปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดลพบุรีมีการเพาะพันธุ์ลูกปลากระโห้เพื่อปล่อยลงแหล่งน้ำในโอกาสสำคัญๆ แต่ยังคงมีปัญหาในการเพาะพันธุ์ปลากระโห้อยู่บ้าง เนื่องจากเพาะพันธุ์ยากและขาดแคลนพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ อีกทั้งปัจจุบันอาจมีเกษตรกรที่เลี้ยงปลากระโห้อยู่น้อยเนื่องจากต้องใช้ระยะเวลาเลี้ยงนาน
โดยเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562 เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ของ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านทะเลไทย ได้เผยแพร่ว่า
"วันนี้ ระหว่างตรวจพิพิธภัณฑ์คณะประมงเพื่อทำอาคารปลอดก๊าซเรือนกระจก ผมสังเกตเห็นปลาตัวใหญ่ยักษ์กำลังโผล่หัวขึ้นมาใกล้ผิวน้ำ ไม่ได้มีหัวเดียว แต่มีถึง 3 หัว ตัวใหญ่ 1 ตัว ตัวเล็ก 2 ตัว ปลาทั้งสามอ้าปากพะงาบๆ ดูดน้ำเข้าไปในปาก ปลากระโห้ ! ผมมองอย่างตกใจ ใครจะไปคิดว่าบ่อสิบไร่ บ่อใหญ่คู่คณะประมง ห่างจากห้องทำงานผมไปแค่ 50 ก้าว มีปลายักษ์ชนิดนี้อาศัยอยู่
ปลากระโห้เป็นปลาน้ำจืดชนิดมีเกล็ดที่ใหญ่ที่สุดในโลกชนิดหนึ่ง เราเคยพบเกล็ดปลากระโห้มีขนาดใหญ่โตใกล้เคียงฝ่ามือ ปลากระโห้ยังเป็นปลาพื้นถิ่นของไทย ชื่อสามัญคือ siamese giant carp ในอดีต เราพบปลากระโห้ในลุ่มน้ำในภาคกลาง และภาคเหนือภาคอีสาน บางตัวเป็นทวดปลา ยาวถึง 3 เมตร แต่สภาพบ้านเมืองเปลี่ยนไป ปลากระโห้ลดน้อยลงจนเกือบสูญพันธุ์จากแหล่งน้ำในธรรมชาติ
และเหตุการณ์เหนือความคาดหมาย เกิดขึ้นที่สวนจิตรลดา ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเรือไมโครมดไปตามคลองในสวน จู่ๆ ก็มีปลาใหญ่มาชนเรือจนสะเทือนไปทั้งลำ พระองค์ทรงแปลกใจ จึงมีรับสั่งกับท่านปรีดา กรรณสูตร อธิบดีกรมประมงในสมัยนั้น ให้ลองมาสำรวจดูสัตว์น้ำในสวนจิตร หลังจากลงอวนจับ ทุกคนตื่นเต้นเมื่อพบว่าในคลองมีปลากระโห้ ปลาที่ยุคนั้นแทบสูญพันธุ์ไปแล้ว พระองค์พระราชทานปลากระโห้ให้กรมประมงไปทดลองผสมเทียม จนประสบเป็นครั้งแรกของโลกในพ.ศ.2528 ทำให้เรามีลูกปลากระโห้อีกหลายแสนที่ปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติและให้คนนำไปเลี้ยง
แม้วันนี้ ปลากระโห้ยังคงเป็นปลาหายาก แต่ถ้าไม่มีวันนั้น ปลากระโห้อาจเหลือแต่ชื่อให้คนรุ่นหลังรู้จัก รวมทั้งปลากระโห้คงไม่ได้เป็นปลาสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร (ประกาศในพ.ศ.2558)
ผมเองก็ไม่รู้จะอธิบายยังไง ว่าทำไมเหตุการณ์ปลาชนเรือถึงกลายเป็นการอนุรักษ์ปลาอันเป็นศักดิ์ศรีของสยามประเทศ ให้คงอยู่ต่อไปได้ ว่าง่ายๆ คือตั้งแต่ผมค้นเรื่องจากปลาบู่สู่ปลานิล และอีกหลายต่อหลายเรื่องที่พระองค์ทรงทำ ผมเลิกคิดที่จะหาคำอธิบายว่าเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นได้อย่างไรไปแล้ว คนที่คิดถึงแผ่นดินไทยอยู่ตลอดเวลา คนที่จะทำให้แผ่นดินไทยดีขึ้นทุกครั้งครา แม้แต่ในเวลาเล่นเรือใบ คนเช่นนั้นอยู่เหนือความเข้าใจของผม จึงมิบังอาจไปสรรหาคำอธิบายใด
ผมมองปลากระโห้อีกครั้ง ก่อนบอกลูกศิษย์ให้ไปเอาถุงแพลงก์ตอนมากรองน้ำ ในน้ำผมพบแพลงก์ตอนโคปีปอด เมื่อสิ่งแวดล้อมในบ่อสิบไร่เปลี่ยนไป บางครั้งอาจมีแพลงก์ตอนพืชเกิดเป็นจำนวนมาก โคปีปอดเป็นแพลงก์ตอนสัตว์ คอยควบคุมปริมาณแพลงก์ตอนพืช แต่เมื่อแพลงก์ตอนสัตว์มีมากไป ปลากระโห้พวกนี้ก็เป็นผู้ควบคุมอีกที สมดุลเช่นนี้ ทำให้บ่อสิบไร่คงอยู่ได้ ที่นี่ไม่เคยมีเหตุการณ์น้ำเน่าปลาตาย ผมไม่ทราบว่าปลากระโห้ทั้งสามตัวมาจากไหน ? แต่แอบเชื่อว่า บางตัวอาจเป็นลูกหลานปลาจากสวนจิตรลดา เพราะกรมประมงก็อยู่ห่างไปเพียงไม่มาก อีกทั้งบ่อนี้ก็อยู่มาเนิ่นนาน
แม้พระองค์ไม่อยู่กับพวกเราแล้ว แต่ปลาของพระองค์ยังคงอยู่ ยังช่วยดูแลระบบนิเวศในแหล่งน้ำไทย ดูแลแม้แต่ในบ่อสิบไร่ สถานที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ประมง ที่เก็บรักษาหลายเรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์ไว้ในนั้น ในน้ำ บนบก ไม่ว่าที่ใดในแผ่นดินและผืนน้ำของไทย มองไปรอบตัว ผมทราบแล้ว พระองค์ไม่ทรงประทับอยู่เพียงบนฟ้า ให้เราแหงนหน้ามองเมื่อเวลาคิดถึง ผมก้มหน้า ดูปลากระโห้สามตัวกำลังกินแพลงก์ตอนอย่างเพลิดเพลิน…
หมายเหตุ – เขียนเรื่องนี้หลังตีหนึ่ง เพื่อให้ไม่ต้องร้องไห้จนตาบวมแล้วคนอื่นสงสัย จะได้ร้องแล้วหลับไปเลย"