Wednesday, December 6, 2023
More

    “เส้นใยสับปะรด”นวัตกรรมแฟชั่นจากเมืองสงขลาที่เป็น “สับปะรด”

    ปัจจุบันกระแสรักษ์โลกถือเป็นเทรนด์หลักเทรนด์หนึ่งที่ผู้คนให้ความสนใจ ดั่งจะเห็นได้ว่ามีกลุ่มคนที่ใช้ข้าวของเครื่องใช้แนวอีโค่กันอย่างแพร่หลาย หนึ่งในอุตสาหกรรมที่นิยมคือกลุ่มธุรกิจแฟชั่น โดยเฉพาะในรูปแบบ Sustainable Fashion ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์เสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายที่เน้นไปสู่การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

    จากทิศทางที่ได้กล่าวในข้างต้น ธุรกิจหนึ่งที่ได้รับอานิสงส์คือธุรกิจสิ่งทอจากธรรมชาติ ซึ่งที่ จ.สงขลา ได้มีผู้คิดค้นนวัตกรรมที่น่าสนใจ ด้วยการนำสับปะรดพันธุ์ท้องถิ่นมาต่อยอดสู่การผลิตเป็นเส้นใยผ้า


    คุณติ๊ก-ปริยากร ธรรมพุทธสิริ กรรมการผู้จัดการ หจก.รักษ์บ้านเรา สงขลา เล่าว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดโลกมีความต้องการสินค้าที่ผลิตจากเส้นใยที่ผลิตจากธรรมชาติ ลดการใช้สารเคมีและสิ่งปรุงแต่งต่างๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในตลาดยุโรปและญี่ปุ่น จากการที่ผู้บริโภคคำนึงถึงเส้นใยที่ได้จากธรรมชาติและไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อโลกในอนาคต ทำให้ธุรกิจสิ่งทอที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติเติบโตอย่างต่อเนื่อง

    ด้วยเทรนด์การใช้เส้นใยที่ผลิตจากธรรมชาติ ทำให้เธอมองไปยัง “สับปะรด” จึงได้นำความคิดมาต่อ ยอดด้วยการผลิตเป็นเส้นใยผ้า โดยถักทอจากสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย ซึ่งเป็นพืชพื้นถิ่นที่มีอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว ด้วยการนำใบ ที่เป็นเศษเหลือทิ้ง ไร่หนึ่งก็มากถึงหลายพันกิโลกรัม จนได้ “เส้นใยผ้าจากสับปะรด” ซึ่งเป็นเส้นใยที่มีคุณสมบัติดี มีความแข็งแรงทนทาน ไม่ขาดง่าย ไม่จำเป็นต้องรีด สามารถต่อต้านแบคทีเรีย เชื้อรา และดูดซึมสีได้เป็นอย่างดี

    เส้นใยผ้าจากสับปะรด สามารถนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าได้หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น กระเป๋า รองเท้า และชุดสำเร็จรูป อีกทั้งยังได้สร้างงานให้กับคนในพื้นที่ รวมถึงคนในเรือนจำที่ทำเป็นกิจกรรมและฝึกวิชาชีพ และยังช่วยลดสิ่งของเหลือทิ้ง ที่อาจยากต่อการกำจัดอีกด้วย

    ทั้งนี้ แต่เดิมนั้นการผลิตเส้นด้ายและการทอผ้ายังใช้แรงงานคนในการผลิตเป็นหลัก ทำให้กระบวนการผลิตเกิดความล่าช้าและคุณสมบัติของเส้นใยที่ได้มีความแข็งแรงน้อย ไม่เหมาะสมในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บางชนิดที่ตลาดต่างประเทศต้องการ

    เธอจึงได้ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เพื่อหาทางพัฒนาการผลิตเส้นใยผ้า โดยได้ใช้เครื่องต่อเกลียวเส้นใยสับปะรดอัตโนมัติ มาเพิ่มกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นได้กว่า 60% และยังนำเครื่องทอผ้าสับปะรดกึ่งอัตโนมัติมาใช้ ซึ่งสามารถเพิ่มกำลังการผลิตเป็นร้อยละ 70

    สำหรับผลิตภัณฑ์ หจก.รักษ์บ้านเรา สงขลา พัฒนา จำหน่าย และส่งออกมีอยู่ด้วยกัน 3 แบบ คือ 1. เส้นใยต่อเกลียว ที่มีราคาขายกิโลกรัมละ 1,800 บาท 2. ผ้าทอ ซึ่งมีราคาขายอยู่ที่หลาละ 950 บาท และ 3. เส้นใยที่เสีย ต่อเส้นใยยาวไม่ได้ จะถูกส่งต่อไปทำวอลล์เปเปอร์ หรือกระดาษสา โดยขายในราคากิโลกรัมละ 200 บาท

    นับว่าเส้นใยผ้าจากสับปะรด เป็นนวัตกรรมจากท้องถิ่นที่ได้ช่วยสร้างตลาดใหม่ของผลิตภัณฑ์สิ่งทอของไทย ให้สามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์จากเส้นใยอื่นๆ อย่างเส้นใยลินินที่มีการส่งเสริมการปลูกในกลุ่มยุโรปและอเมริกา นอกจากนั้นอนาคตหากมีการส่งเสริมมากขึ้น ก็อาจจะช่วยลดการนำเข้าเส้นใยจากธรรมชาติจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างความยั่งยืนในด้านวัสดุเส้นใยธรรมชาติได้อีกทางหนึ่ง ที่สำคัญทำให้เกิดการเพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร และตอบกระแสเศรษฐกิจสีเขียวได้เป็นอย่างดี 


    คุณติ๊ก-ปริยากร ธรรมพุทธสิริ

    “เส้นใยผ้าจากสับปะรดเป็นสิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่า แม้จะเกิดจากสิ่งของเหลือทิ้ง ก็สามารถนำมาเป็นของใหม่ และเมื่อทำสำเร็จแล้วสินค้าก็เป็นที่ต้องการและเป็นทางเลือกใหม่ในตลาดได้ อยากให้มองว่าภูมิปัญญาชาวบ้านก็เป็นนวัตกรรมประเภทหนึ่ง ที่หากนำมาปรุงแต่งกับองค์ความรู้ใหม่ๆ ก็ยิ่งทำให้เกิดวิธีการใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นอาวุธสำคัญที่ผู้ประกอบการยุคใหม่ควรนำมาปรับใช้ เพื่อสร้างทางรอดและความยั่งยืนให้กับธุรกิจในอนาคต”