ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจเกิดการชะลอตัวทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งอุตสาหกรรมงานศิลปหัตถกรรมไทย ซึ่งจากข้อมูลพบว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์หัตถกรรมในช่วงไตรมาสแรกลดลงถึง 66.79%
นายพรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT) ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งในช่วงโควิด-19 กำลังระบาด พลิกวิกฤตที่หลายๆ อย่างกำลังหยุดนิ่ง ค้นหายุทธศาสตร์ใหม่ โดยผลักดันการสื่อสาร “คุณค่าความเป็นไทย” ไปสู่สายตาคนไทยรุ่นใหม่ และประชาคมโลกผ่านงานหัตถศิลป์ไทย ภายใต้กรอบดำเนินการ “SACICT คุณค่าของความเป็นไทย” ซึ่งประกอบด้วย คุณค่าในงานศิลปาชีพ คุณค่าในความเป็นไทยที่ภาคภูมิ คุณค่าของมาตรฐานเป็นเลิศสู่เวทีโลก คุณค่าแห่งนวัตกรรมเทคโนโลยีสร้างสรรค์ และคุณค่าของสังคมไทยที่เติบโตอย่างยั่งยืน
ที่ผ่านมาแนวทางที่ได้รับการสนับสนุน มีทั้งถูกและผิด
นายพรพล เอกอรรถพร ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา ค่อนข้างที่จะมองเห็นถึงปัญหาในงานหัตถรรม และแนวทางที่หน่วยงานภาครัฐสนับสนุนมา ซึ่งก็มีทั้งผิดทั้งถูก มีทั้งการสนับสนุนที่สามารถทำให้งานหัตถกรรมเดินหน้าได้จริง หรือเป็นแค่การประคองตัว ซึ่งเมื่อมองเห็นถึงปัญหา เราก็มองได้ว่าวิธีการในวันข้างหน้าเราควรจะเดินไปอย่างไรที่จะทำให้งานหัตถกรรมของไทยมีความก้าวหน้าได้จริง
ซึ่งภาระกิจสำคัญของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ คือการสนับสนุนการส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิศิลปาชีพ ตามปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องใช้ความรู้ความสามารถที่มีเข้ามาประยุกต์ และปรับใช้
ในช่วงหลังคนรุ่นใหม่ไม่มองดูงานหัตถกรรมไทย บางส่วนที่ส่งไปยังต่างประเทศกลับได้ผลกว่า
ตอนที่เข้ารับหน้าที่ผู้อำนวยการ SACICT วันที่ 28 มีนาคม 2563 อยู่ในช่วงที่ COVID-19 กำลังแพร่ระบาด ทำให้ขยับตัวได้ไม่มากนัก แต่การที่เราขยับตัวไม่ได้ก็ถือว่าเป็นโอกาสหนึ่งที่ทำให้เราได้มีโอกาสมองปัญหาข้างในของเรา ได้มองย้อนไปว่า SACICT จะต้องเดินหน้าไปอย่างไร เพราะเป็นองค์กรที่ต้องผลักดันทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ
ช่วงหลังๆ งานด้านหัตถกรรมยอดขายไม่ดีขึ้น คนรุ่นใหม่ไม่มองดูงานหัตถกรรมไทยสักเท่าไหร่ สินค้าในบางส่วนที่ส่งไปยังต่างประเทศกลับได้ผลกว่า โดยเฉพาะในยุโรป อเมริกา แต่กับคนไทย ความสนใจในผ้าไทย งานหัตถกรรมไทยต่างๆ กลับน้อยลง ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องให้ความสำคัญ และปรับปรุงยุทธศาสตร์ใหม่ทั้งหมด
ซึ่งมองว่าเรื่องของหัตถกรรมไทย เราจะต้องมองที่ความเป็นไทยก่อน โดยเชื่อมั่นว่าในความรู้สึกลึกๆ ของคนไทยทุกคน จะมีความรู้สึกรักในประเทศชาติ รักในความเป็นคนไทย ซึ่งในความเป็นไทยมีอะไรมากมายที่เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจ เรามีความหลากหลายทางชีวภาพที่สามารถหยิบหยิบขึ้นมาเป็นงานได้หมด เช่น ภาคใต้หยิบกระจูดมาจักสานขึ้นเป็นตะกร้ากระจูดได้ ซึ่งในต่างประเทศไม่มี โดยคนไทยเองอาจจะรู้สึกเฉยๆ แต่เมื่อชาวต่างชาติมาเห็นเค้าจะมีความรู้สึกชอบ อย่างผ้าไทยของเรา เค้าจะมองว่ามีความสวย ประณีต มีความละเอียดอ่อน
ตลาดสำคัญอันดับ 1 ของงานหัตถกรรมไทย คือตลาดในประเทศไทย
ความเป็นคนไทยแทรกซึมไปในทุกอณู เพียงแต่เราไม่ค่อยมีการหยิบจับขึ้นมา ผมจึงมองว่าเราจึงต้องมีเครื่องมือในการขุดขึ้นมาเพื่อให้คนไทยกลับมารู้สึกถึงคุณค่าของความเป็นไทย
ย้อนไปเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ในงานอุ่นไอรัก ซึ่งเป็นปรากฏการณ์อุ่นไอรัก บวกกับปรากฏการณ์ของละครเรื่องบุพเพสันนิวาส เมื่อสองปรากฏการณ์นี้มารวมกันทั้งงาน OTOP งานศิลปาชีพ หรืองานอะไรก็ตามที่ขายผลิตภัณฑ์ของคนไทย มีการขายดีกันเป็นเทน้ำเทท่า อย่างผ้าไทยในจาก OTOP ขายจนหมดบูธ รวมไปถึงเครื่องประดับไทย เครื่องเงินต่างๆ
ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เกิดจากความรู้สึกรักและภูมิใจในคุณค่าของความเป็นไทย ซึ่งเกิดขึ้นโดยธรรมชาติของคนไทย จึงมองว่าตลาดสำคัญอันดับ 1 ของงานหัตถกรรม ก็คือตลาดในประเทศไทย และต้องสร้างตรงนี้ขึ้นมาก่อน ซึ่งการสร้างตลาดนี้ให้กลับมาก็ต้องมองว่าทำอย่างไรให้แต่ละคนเกิดความรู้สึกรักในความเป็นไทย
SACICT คุณค่าของความเป็นไทย คือกรอบดำเนินงานหลังจากนี้ไป
คีย์เวิร์ดด้านการตลาดที่เราจะวางหลังจากนี้ ก็คือ SACICT คุณค่าของความเป็นไทย ซึ่งหมายความว่าต่อไปนี้การนำเสนอทุกอย่างของเราไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เครื่องประดับ งานหัตถกรรมจะลงท้ายด้วย SACICT คุณค่าของความเป็นไทย เพื่อให้คนเห็นว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้คือคุณค่าของเรา และจะผลักดันให้คนแต่ละคนมองเห็นจุดแข็งของเราผ่านงานหัตถกรรมไทยให้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ
แน่นอนว่าวิธีที่จะทำให้คนมองเห็นจุดแข็งของเรา และทำให้คนไทยเริ่มรักมากขึ้น คือเราต้องสืบสาน ต้องเก็บข้อมูล ต้องนำเสนอข้อมูล นำเสนอสิ่งที่สวยงามเหล่านี้ให้คนเห็น
หัตถกรรมไทยไม่แพ้ชาติอื่น แต่ต้องพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น เพื่อดึงความสนใจของกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะ Gen Y และ Gen Z
หัตถกรรมไทยไม่แพ้ชาติอื่น เหมือนกับหลายๆ เรื่องเราไม่ได้แพ้ด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างเรื่องใกล้ตัวที่สุดในตอนนี้คือเรื่อง COVID-19 สุดท้ายแล้วสาธารณสุขของเราก็เหนือกว่าประเทศอื่น คนป่วยเราน้อยลงเรื่อยๆ คนเจ็บคนเสียชีวิตน้อยลง
สิ่งเหล่านี้แหละที่เราจะต้องภูมิใจ ว่าเราไม่ได้แพ้คนชาติอื่น งานหัตถกรรมของเราก็ไม่ได้แพ้ เมื่อเราสะสมข้อมูลต่างๆ เรามีครูช่าง เรามีครูศิลป์ ครูศิลปาชีพ เรามีหลายๆ คนที่เมื่อได้เห็นฝีมือแล้วจะต้องตะลึง ซึ่งเมื่อเรามองเห็นตรงนี้ ประกอบกับการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้ดีขึ้น แน่นอนว่าคน Gen Y หรือ Gen Z จะต้องให้ความสนใจ ซึ่งคนเหล่านี้มองเรื่องของความทันสมัย และความอเนกประสงค์ของงานหัตถกรรม ไม่ใช่ว่าเพียงแต่ตั้งโชว์ แต่ใช้ประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้เลย
ซึ่งก็ต้องมีกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการ แต่ก็ต้องอาศัยคุณค่าของความเป็นไทย ประกอบกับชื่อของเราคือ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ทำให้สิ่งที่ต้องมาควบคู่กันคือ งานของเราต้องมีคุณค่าของความเป็นไทยแสดงออกให้เห็น เมื่อเราหยิบชิ้นงานขึ้นมา ต้องรู้ว่านี่แหละคืองานหัตถกรรมของไทย รวมถึงงานของเราต้องมีคุณภาพระดับระหว่างประเทศ ไม่อย่างนั้นอาจเสียชื่อได้
หัตถกรรมของไทยจะต้องนำเทรนด์โลก
เราไม่ได้มองว่าเทรนด์ของหัตถกรรมเป็นอย่างไร แต่กำลังมองว่าเราจะกำหนดเทรนด์อะไรให้กับหัตถกรรมไทยเพื่อไปสู่ตลาดโลก เราต้องเป็นผู้นำเทรนด์ไม่ใช่ผู้ตามเทรนด์ และเทรนด์ของหัตถกรรมไทยจะกลายเป็นการผลักดันไปเรื่อยๆ จากคนไทยที่เริ่มมามองงานหัตถกรรมไทย และคิดว่าน่าใช้
จะมีการจัดงานผ้าไทยใส่ได้ทุก Gen ในปลายปีนี้ โดยเอาผ้าจากศูนย์ศิลปาชีพมาให้นักศึกษา และบุคคลทั่วไปประกวดกัน เป็นเสื้อผ้าสำหรับใส่ไปทำงาน และใส่ได้ทุก Gen บางทีเสื้อผ้าใหม Gen Y, Gen Z อาจจะไม่ค่อยอยากใส่ เราก็จะเน้นเสื้อผ้าที่มีแบบสมัยใหม่ขึ้น โดยใช้ผ้าที่มีคุณค่าจากศูนย์ศิลปาชีพมาใช้ในการประกวด
รวมทั้งขณะนี้ได้ร่วมกับ Fashion Channel ของต่างประเทศ เพื่อจัดประกวดแฟชันโชว์ โดยใช้ดีไซเนอร์จากต่างประเทศ ประมาณ 80 – 100 ประเทศ และใช้ผ้าของศูนย์ศิลปาชีพมาดีไซน์เป็นชุดของแต่ละชาติ และเชิญทูตของแต่ละประเทศมาร่วมเดินแฟชันโชว์ พร้อมกับให้ดีไซเนอร์นำผ้าไทยของเราไปเผยแพร่ในประเทศของเขา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เห็นว่าแม้ว่าดีไซเนอร์ของต่างประเทศ ก็ยังนิยมในผลิตภัณฑ์ของไทย เท่ากับว่าเรากำลังได้ขยายฐานตลาดออกไปยังต่างประเทศ รวมถึงการนำหัตถกรรมไปต่างประเทศด้วย
นอกจากนี้ยังได้ประสานงานกับ สวทช. เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น การเคลือบนาโน ซึ่งหากนำผ้าใหมไทยไปเคลือบนาโน อาจจะมีความเงาขึ้น สามารถซักได้ รีดได้ ป้องกันแบคทีเรียได้ หรือมีแคปซูลหอม เมื่อไปอยู่กลางแดดแล้วมีความหอมเพิ่มขึ้น เป็นต้น
SACICT Corner จะเป็นจุดกระจายงานศิลปหัตถกรรมในแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นมากขึ้น
นอกจากนี้จะมีนโยบาย SACICT Corner โดยเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ในหลายๆ รูปแบบ ทั้งชิ้นงานติดตั้งโชว์ในแกลเลอรี่ ชิ้นงานที่จะมาเป็นเฟอร์นิเจอร์ใช้ในบ้าน ชิ้นงานของที่ระลึก ชิ้นงานใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวันที่มีรูปแบบทันสมัย มีฝีมือ และอัตลักษณ์ของไทย และนำไปจำหน่ายที่ SACICT Corner ในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาเห็นงานของเรามากขึ้น
ทั้งยังจะปรับให้เป็นคราฟต์เซ็นเตอร์ ซึ่งจะมีทั้งการให้คำปรึกษาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การจัดแสดงงานหัตถกรรมชิ้นที่หาดูที่อื่นไม่ได้ ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่ง เพื่อให้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศแวะเวียนเข้ามาชมที่นี่ และจะเป็นศูนย์กลางกระจายความรู้ด้วย แม้กระทั่งชุดที่ดีไซเนอร์ต่างประเทศตัดเย็บก็จะมาโชว์ที่นี่ ทั้งยังจะจัดทำระบบองค์ข้อมูล เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ไปสู่ชาวบ้าน ประชาชนทั่วไป โดยการทำเป็นแอนิเมชัน การสอน วิธีการทำงานหัตถกรรมผ่านระบบไอทีซึ่งจะทำให้เราสามารถเรียนรู้ได้ง่ายๆ
องค์กร SACICT ต้องไม่ล้าสมัย และมีความเป็นดิจิทัลมากขึ้น
ความต้องการของเราในตอนนี้ คือการปรับองค์กรให้มีความทันสมัย ไม่ใช่ว่าเป็นงานหัตถกรรมแล้ว องค์กรจะต้องล้าสมัย ซึ่งตอนนี้ได้ให้ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีมาช่วยวางโครงสร้าง เพื่อปรับลุคองค์กรให้มีความทันสมัย มีความเป็นดิจิทัล เพื่อรักษาอัตลักษณ์ของไทยในระดับสากล ขณะเดียวกันมีความทันสมัยรวมอยู่ด้วยซึ่งเป็นการปรับตัวอีกก้าวใหญ่
แนวทางทั้งหมดนี้เพื่อสร้างตลาดทั้งใน และต่างประเทศ และจะทำให้คนไทยอีกกลุ่มซึ่งอยู่ในอาชีพของงานหัตถกรรมมีรายได้ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและยั่งยืน
พลิกวิกฤต COVID-19 ให้เป็นโอกาส ด้วยโครงการ “หน้ากากจากหัวใจชุมชน”
ในช่วง COVID-19 เราได้จัดตั้งโครงการ “หน้ากากจากหัวใจชุมชน” ซึ่งในขณะที่การเติบโตของเศรษฐกิจหยุดนิ่ง รายได้ไม่ค่อยมี เราจึงเกิดโครงการนี้ขึ้นมาโดยร่วมกับหลายๆ หน่วยงาน นำผ้าของมูลนิธิศูนย์ศิลปาชีพไปให้ชาวบ้านตัดเย็บเป็นหน้ากากอนามัย โดยส่วนหนึ่งนำไปแจกจ่าย อีกส่วนหนึ่งนำมาขาย ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านมากกว่า 200 ครัวเรือน และยังกระจายไปยังชุมชนต่างๆ ซึ่งขณะนี้มีมากกว่า 10 ชุมชนที่เย็บหน้ากากอนามัยส่งให้เรา และ SACICT ช่วยจำหนายให้ นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ชาวบ้านมีโอกาส มีงานทำ และมีรายได้ขึ้นมาในช่วงนี้
นอกจากนี้ยังใช้โอกาสนี้เตรียมงานสำหรับหลัง COVID-19 ซึ่งมองว่าอีกไม่นานนัก แต่หลังจาก COVID-19 อะไรหลายๆ อย่างคงจะเปลี่ยนไป รวมถึงงานหัตถกรรมบางคนมองว่าที่ค่อนข้างจะเดินต่อยาก เพราะคนไม่ค่อยมีเงิน งานหัตถกรรมจะกลายเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย คนส่วนใหญ๋จะเลือกซื้อสินค้าที่เกี่ยวกับปัจจัย 4 เป็นอันดับแรก แต่บางคนกลับมองว่าหลังจากนี้จะกลายเป็นการเฉลิมฉลองของมนุษยชาติ การท่องเที่ยวจะบูมขึ้นมาอีกครั้ง
คนไทยเที่ยวไทยมากขึ้นหลังจบ COVID-19 จึงต้องเตรียมงานหัตถกรรมไว้รองรับ
อย่างน้อยที่สุดคนไทยจะเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะคน Gen Y ที่มีการท่องเที่ยวอยู่ในสายเลือด ฉะนั้นงานหัตถกรรมไทยก็ต้องเตรียมการไว้เพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากงานหัตถกรรมไทยก็คือสินค้าทางการท่องเที่ยวทั้งนั้น
ส่วนการท่องเที่ยวระหว่างประเทศเชื่อว่าอีกไม่นานจะกลับมาแน่นอน เพียงแต่เราต้องวางแผนรองรับ โดยเบื้องต้นจะใช้ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ อ.บางไทร เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของ จ.อยุธยา ซึ่งเราต้องประชาสัมพันธ์ให้ต่างชาติรู้จักตั้งแต่ก่อนที่จะเดินทางเข้ามา และต้องปรับความคิดทางการตลาดให้เป็นเชิงรุก เพราะที่ผ่านมาเราได้แต่ตั้งรับ ซึ่งหากเรารุกไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดเป็นวัฒนธรรมท่ีแข็งแรงขึ้น ให้วัฒนธรรมของเราเป็นตัวดันให้สินค้าของเราไปต่างประเทศให้ได้
ในขณะที่วิถีชีวิตของคนที่เปลี่ยนแปลงเป็น New Normal เราก็ต้องมาจับจุดให้ถูกว่าจะไปเปลี่ยนไปเช่นไร อย่างการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนเป็นการท่องเที่ยวในประเทศ การให้ความสำคัญกับการออกบูธน้อยลง รวมถึงการทำ Internet Marketing ให้เป็นช่องทางการตลาดใหม่ และเป็นเส้นเลือดเส้นใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม