Thursday, October 5, 2023
More

    4 พิพิธภัณฑ์ตามรอยงานศิลป์ สมเด็จครู-อาจารย์ฝรั่ง ศิลปินแห่งสยาม บิดาของวงการศิลปะไทย

    เมื่อพูดถึงวงการศิลปะไทย แน่นอนว่าชื่อของ “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์” และ “ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” ผู้เปรียบเสมือนเสาหลักแห่งวงการศิลปะไทยและศิลปะร่วมสมัย ค่อนข้างมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมทั่วโลก ที่ส่งอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งแนวคิด และรูปแบบทางศิลปกรรมหลายแขนงในประเทศไทยในช่วงกว่าร้อยปีที่ผ่านมา  BLT จึงอยากชวนคนรักงานศิลปะไปตามรอยผลงานศิลป์ พร้อมเรียนรู้ชีวประวัติของ “สมเด็จครู-อาจารย์ฝรั่ง” ด้วยกัน ผ่าน 4 พิพิธภัณฑ์ใจกลางพระนคร กับการ “ตามรอยสมเด็จครู-อาจารย์ฝรั่ง อัจฉริยะศิลปินแห่งแดนสยาม”


    สมเด็จครู เจ้านายชั้นสูงผู้เป็นอัจฉริยะศิลปิน

    สำหรับบุคคลสำคัญท่านแรก “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์” หรือที่รู้จักกันในนาม “สมเด็จครู” ผู้เป็นเจ้านายชั้นสูงที่เป็นอัจฉริยะศิลปิน ด้วยผลงานการออกแบบและสร้างสรรค์ศิลปกรรมหลากหลายแขนง เช่น ด้านจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม และดนตรี ทั้งยังเป็นแบบอย่างให้ศิลปินรุ่นหลังได้ศึกษาจนถึงปัจจุบัน ด้วยการออกแบบที่มีรูปลักษณ์ทันสมัย โดยพัฒนาต่อยอดจากศิลปกรรมรูปแบบดั้งเดิมแต่ไม่สูญเสียความเป็นไทย และยังร่วมสมัยกับสังคมวัฒนธรรมไทยยุคใหม่ได้เหมาะสมกับกาลเวลา

    ศิลป์ พีระศรี หรืออาจารย์ฝรั่ง บิดาแห่งศิลปะไทยยุคใหม่

    อีกท่านเป็นอาจารย์สอนศิลปะชาวฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี “Prof. Corado Feroci” ที่รู้จักกันในชื่อ “ศิลป์ พีระศรี” หรือ “อาจารย์ฝรั่ง” ผู้ได้รับการยกย่องในวงการศิลปะว่าเป็นบิดาแห่งศิลปะไทยยุคใหม่ ผู้วางรากฐานการศึกษาศิลปกรรมร่วมสมัยในประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้า และมีมาตรฐานตามแบบสากล จนพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยทางด้านศิลปะแห่งแรกที่ถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น สร้างศิลปินสืบสานผลงานศิลปะร่วมสมัยแขนงต่างๆ

    หอประติมากรรมต้นแบบ (Hall of Sculpture)

    เดิมเป็นโรงปั้นหล่อ และหลอมโลหะของกรมศิลปากร ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2530 สำหรับจัดสร้างอนุสาวรีย์ของประเทศไทย และต้นแบบอนุสาวรีย์ของบุคคลสำคัญที่เราเห็นกันคุ้นตาตามสถานที่ต่างๆ แต่ในปัจจุบันเป็นสถานที่จัดแสดง นิทรรศการ รูปต้นแบบประติมากรรม รวมทั้งจัดแสดงการหล่อหลอมโลหะ เพื่อเป็นแหล่งเก็บข้อมูล แหล่งศึกษาค้นคว้างานด้านประติมากรรมและศิลปกรรมแก่ประชาชนที่สนใจ

    สำหรับผลงานที่อยู่ภายในหอประติมากรรมต้นแบบ เกิดจากการปั้นรูปเพื่อนำไปสร้างอนุสาวรีย์ของชาติ พระพุทธรูป และประติมากรรมอื่นๆ ของศิลปินชั้นครู โดยเฉพาะผลงานของ “ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” อาทิ พระบรมรูปของกษัตริย์ไทยรัชกาลต่างๆ ขนาดเท่าพระองค์จริง

    รวมถึงผลงานของศิลปินศิษย์เอกของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีหลากหลายท่าน ซึ่งที่นี่ได้จัดเก็บเอาไว้เป็นจำนวนมาก เช่น ต้นแบบพระพุทธรูปปางลีลา ขยายเป็น พระศรีศากยทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ ที่อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ พุทธมณฑล ศาลายา, ต้นแบบพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ จังหวัดปราจีนบุรี และต้นแบบพระบรมรูปพ่อขุนรามคำแหงมหาราช อัญเชิญไปประดิษฐานที่จังหวัดสุโขทัย เป็นต้น

    ที่ตั้ง ถ.หน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

    เปิดวันจันทร์ – ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา 08.30 – 16.30 น.

    (ไม่เสียค่าใช้จ่าย)

    พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์

    จัดตั้งขึ้นในห้องทำงานเดิมของ “ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” โดยความร่วมมือของลูกศิษย์ และผู้ใกล้ชิด เพื่อรำลึกถึงเกียรติคุณของอาจารย์ฝรั่ง ในฐานะผู้ให้กำเนิดการศึกษาศิลปะสมัยใหม่ ศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย และผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร

    ซึ่งภายในจัดแสดงนิทรรศการถาวร โดยแบ่งออกเป็น 2 โซน ได้แก่ โซนจัดแสดงผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ของบรรดาลูกศิษย์ผู้ใกล้ชิด เช่น เฟื้อ หริพิทักษ์, ประยูร อุลุชาฎะ, ชลูด นิ่มเสมอ, จำรัส เกียรติก้อง, เขียน ยิ้มศิริ, สวัสดิ์ ตันติสุข, ทวี นันทขว้าง เป็นต้น โดยผลงานส่วนใหญ่เป็นงานศิลปกรรมในยุคเริ่มแรกของศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย ซึ่งดำเนินรอยตามแนวทางการสร้างสรรค์ศิลปะตามหลักวิชาการที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้วางรากฐาน

    ขณะที่อีกโซนจะเป็นการจำลองบรรยากาศเสมือนห้องทำงานที่ อ.ศิลป์ พีระศรี ใช้งานขณะยังมีชีวิตอยู่ โดยรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของท่าน อุปกรณ์และเครื่องมือทางศิลปะ ผลงานศิลปะส่วนตัว รวมถึงผลงานของเหล่าลูกศิษย์ที่ท่านได้รับซื้อ หรือเลือกนำมาประดับไว้ในห้องทำงาน ซึ่งเป็นผลงานศิลปกรรมของศิลปินแห่งชาติ และศิลปินชั้นเยี่ยมของประเทศไทย ที่สะท้อนถึงรากเหง้าและพัฒนาการของศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทยในยุคของท่านได้เป็นอย่างดี

    ที่ตั้ง ถ.หน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

    เปิดวันจันทร์ – ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา 09.00 – 16.00 น.

    (ไม่เสียค่าใช้จ่าย)

    ตึกถาวรวัตถุ หรือตึกแดง

    อาคารโบราณที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญแห่งชาติ ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบชิ้นแรกของ “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์” โดยสมเด็จครูได้เป็นผู้อำนวยการ และออกแบบในลักษณะอาคารปรางค์ 3 ยอด สไตล์นีโอคลาสสิกสีแดงชาด โดย “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นสังฆิกเสนาสน์สำหรับมหาธาตุวิทยาลัย ต่อมา “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว” พระราชทานให้เป็นที่ตั้งหอพระสมุดสำหรับพระนคร

    แต่ในปัจจุบันตึกถาวรวัตถุ หรือตึกแดง กรมศิลปากรได้ปรับปรุงให้เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งจัดแสดงพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจในรัชกาลที่ 5 โดยภายในแบ่งออกเป็นโซนต่างๆ ได้แก่

    -ห้องปิยมหาราช : จัดแสดงเกี่ยวกับพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจที่สำคัญ

    -ห้องราชเคียงประชา : จัดแสดงพระราชกรณียกิจในการปฏิรูปสังคมให้มีความเสมอภาค โดยเฉพาะการเลิกทาส ทำให้ราษฎรเป็นไทแก่ตัว

    -ห้องธำรงเอกราช : จัดแสดงพระราชกรณียกิจในการปฏิรูปภายในประเทศ และการเจริญพระราชไมตรีกับนานาประเทศ

    -ห้องสยามใหม่ : จัดแสดงภาพบ้านเมืองในสมัยรัชกาลที่ 5

    -ห้องมรดกสถาปัตยกรรมของสยาม : จัดแสดงแบบจำลองสามมิติของสถาปัตยกรรมสำคัญ 5 แห่งที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ ทางสถาปัตยกรรมของอาคารประเภทต่างๆ

    -ห้องมรดกความทรงจำของโลก : จัดแสดงตัวอย่างสำเนาเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่ง UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ในปี 2552

    -หอสมุดปิยมหาราชรฦก : ศูนย์ข้อมูลสำหรับการศึกษา ค้นคว้า วิจัย พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในด้านต่างๆ

    ที่ตั้ง ถ.หน้าพระธาตุ แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

    เปิดวันพุธ – อาทิตย์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา 09.00 – 16.00 น.

    (ไม่เสียค่าใช้จ่าย)

    พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป หรือหอศิลป์เจ้าฟ้า

    เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่เก็บรวบรวมและจัดแสดงผลงานศิลปกรรม ทั้งงานศิลปะแบบประเพณี และผลงานร่วมสมัย เพื่อนำเสนอให้เห็นวิวัฒนาการของผลงานสร้างสรรค์ทางทัศนศิลป์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ของศิลปินผู้มีชื่อเสียงทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ

    สำหรับการจัดแสดงนิทรรศการในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่

    1.นิทรรศการถาวร ที่จัดแสดงใน 4 หัวเรื่อง ประกอบด้วย

    -ห้องจิตรกรรมในราชสำนัก : จัดแสดงภาพจิตรกรรมไทยที่ผสมผสานกับรูปแบบจิตรกรรมตะวันตก

    -ห้องเฉลิมพระเกียรติ จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ : จัดแสดงภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

    -ห้องจิตรกรรมไทยประเพณี : จัดแสดงงานจิตรกรรมไทยประเพณี ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา สอดแทรกเรื่องราวในวรรณคดีและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยสมัยก่อน ทั้งยังเป็นพื้นที่จัดแสดงภาพจิตรกรรมของ ขรัวอินโข่ง จิตรกรคนสำคัญในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกด้วย

    -ห้องศิลปกรรม หลังพุทธศักราช 2475 : จัดแสดงผลงานศิลปกรรมชิ้นเยี่ยม ของศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี และลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ของท่าน ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ และศิลปินชั้นเยี่ยม อาทิ เขียน ยิ้มศิริ, เฟื้อ หริพิทักษ์, พิมาน มูลประมุข, สนั่น ศิลากร, สิทธิเดช แสงหิรัญ เป็นต้น

    2.นิทรรศการหมุนเวียน และนิทรรศการความร่วมมือระหว่างประเทศ

    ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับจัดนิทรรศการของศิลปินร่วมสมัยในปัจจุบันที่ได้รับการพิจารณาและคัดเลือก โดยจะหมุนเวียนสลับกันไปในแต่ละเดือน ทั้งยังเป็นพื้นที่จัดนิทรรศการในลักษณะของความร่วมมือกับองค์กรและศิลปินต่างประเทศ เพื่อให้ผู้ที่มีความรักและสนใจในงานทัศนศิลป์นานาชาติ ได้มีโอกาสสัมผัสกับผลงานคุณภาพ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ ตลอดจนกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้อีกด้วย

    โดยหอศิลป์เจ้าฟ้า เดิมทีตัวอาคารเป็นโรงกษาปณ์สิทธิการ ในรูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก แบบนีโอคลาสสิก ออกแบบโดย นายคาร์โล อัลเลกรี่ สถาปนิกและวิศวกรชาวอิตาลี ประจำราชสำนักสยาม ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากโรงงานผลิตเครื่องจักรที่เมืองเบอร์มิ่งแฮม ประเทศอังกฤษ ตัวอาคารหลักเป็นอาคารชั้นเดียว บริเวณตรงกลางหน้าจั่วประดับด้วยลายปูนปั้นปิดทองตราพระราชลัญจกรประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

    ที่ตั้ง ถ.เจ้าฟ้า แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

    เปิดทุกวันพุธ – อาทิตย์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) เวลา 09.00 – 16.00 น.

    (ค่าเข้าชม ชาวไทย 30 บาท / ชาวต่างชาติ 200 บาท / นักเรียน นักศึกษา พระภิกษุ และผู้สูงอายุ ไม่มีค่าใช้จ่าย)