Monday, December 12, 2022
More

    มองปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของไทย ผ่าน “7” การแสดงนาฏศิลป์ร่วมสมัยจากพิเชษฐ กลั่นชื่น

    “7” การแสดงที่จะถ่ายทอดประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน ผ่านภาษาของนาฏศิลป์ร่วมสมัย จากพิเชษฐ กลั่นชื่น นักเต้นโขนและนักเต้นร่วมสมัยไทย ที่จัดทำขึ้นเพื่อรำลึกถึงวันสิทธิมนุษยชน – 10 ธ.ค. ของทุกปี และสร้างการตระหนักรู้ถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนในบ้านเรา ทั้งส่งพลังในการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม ให้แก่เราทุกคนได้อย่างสร้างสรรค์

    “7” การแสดงนาฏศิลป์ร่วมสมัย ที่เป็นส่วนหนึ่งของงาน “7 ทศวรรษแห่งสิทธิมนุษยชน”

    “7” คือการแสดงนาฏศิลป์ร่วมสมัยชุดพิเศษ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของงาน “7 ทศวรรษแห่งสิทธิมนุษยชน” ซึ่งจัดโดยคณะผู้แทนสหภาพยุโรป ประจำประเทศไทย ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เนื่องในวันสิทธิมนุษยชน – 10 ธ.ค. ของทุกปี โดยนำสนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชนทั้ง 7 ฉบับ ที่ประเทศไทยให้สัตยาบัน มาเป็นโจทย์ใหญ่ในการออกแบบการแสดง


    อ่านสนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชนทั้ง 7 ฉบับของไทย

    สนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชนทั้ง 7 ฉบับที่ประเทศไทยให้สัตยาบันนั้น เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครอง ดังนี้
    (1) สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
    (2) สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
    (3) สิทธิของสตรีที่จะไม่ถูกเลือกปฏิบัติหรือกีดกัน ไม่ว่าในรูปแบบใด
    (4) สิทธิของเด็กที่จะได้รับการคุ้มครองร่างกาย ชีวิต เสรีภาพ และสวัสดิภาพ
    (5) สิทธิที่จะหลุดพ้นจากการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ
    (6) สิทธิของคนพิการ
    (7) สิทธิที่จะไม่ถูกทรมาน หรือตกเป็นเหยื่อของการกระทำอื่น ๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี

    โจทย์ใหญ่ของการทำงานในการแสดงนาฏศิลป์ร่วมสมัย “7”

    พิเชษฐ กลั่นชื่น : โจทย์ครั้งนี้ยากมาก การพูดถึงสิทธิมนุษยชนเพียง 1 ด้านก็ยากแล้ว แต่ในการแสดง “7” เป็นครั้งแรกที่เราต้องออกแบบการแสดงที่ครอบคลุมสิทธิมนุษยชนทั้ง 7 เรื่อง และต้องเชื่อมโยงทุกหัวข้อให้เป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งท้าทายมาก

    เรามีการใช้ศิลปะทำหน้าที่ในการจำลองสถานการณ์จริงในชีวิตประจำวัน ผสานเข้ากับจินตนาการเพื่อสื่อประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนเหล่านี้

    มีการใช้นกซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอิสระ เสรีภาพที่ทุกคนเข้าใจ มาเป็นตัวเชื่อมการแสดงแต่ละฉาก เพื่อช่วยสะท้อนประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั้ง 7 ด้านได้ชัดเจน และต่อเนื่องร้อยเป็นการแสดงชุดเดียวกัน

    คอนเซปต์ในการแสดงนาฏศิลป์ร่วมสมัย “7”

    ด้วยทีมนักเต้น 11 คน บนพื้นที่เวทีประมาณ 40 ตารางเมตร การแสดงชุดนี้ต้องสื่อประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนถึง 7 เรื่องใหญ่ ทีมงานจึงต้องใช้เวลาพอสมควรในการศึกษารายละเอียดต่าง ๆ ของประเด็นนี้ ลงพื้นที่จริงเพื่อหาข้อมูลเชิงลึก หาส่วนที่จะนำเสนอให้คนทั่วไปเข้าใจได้

    พิเชษฐ กลั่นชื่น : การคิดคอนเซปต์การแสดงแต่ละตอน จะจับประเด็นหลักของแต่ละสนธิสัญญาขึ้นมา และหามุมที่น่าสนใจ เช่น เรื่องคนไร้บ้าน ที่คนทั่วไปมักมองว่าคนพวกนี้ขี้เกียจ สกปรก แต่เมื่อไปคุยกับเขาจริง ๆ จึงพบว่าคนไร้บ้านต้องทำตัวให้สกปรกไว้ เพื่อไม่ให้โจรอยากเข้าใกล้

    นอนตอนกลางวัน เพราะตอนกลางคืนอันตรายอาจถูกคนทำร้ายได้ ทั้งบางคนเล่าว่าเคยถูกทำร้าย ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกย่ำยีเกียรติ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

    คนเหล่านี้จึงเลือกใช้ชีวิตในวิถีที่จะสามารถปกป้องสิทธิและดูแลตัวเองได้ โดยทีม Pichet Klunchuen Dance Company จะหยิบยกประเด็นเหล่านี้ออกมานำเสนอ ผ่านลีลาการเคลื่อนไหวร่างกายของนักเต้น

    ผสานศิลปะการแสดงทุกรูปแบบ เข้าไว้ในการแสดงทั้ง 7 ฉาก

    ในการแสดงทั้ง 7 ฉาก ทีมนักเต้นจะใช้เทคนิคการแสดงที่หลากหลาย ผสมผสานทั้งเทคนิคการรำไทยกับการเต้นแบบตะวันตก เพื่อสร้างการแสดงร่วมสมัยที่มุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์ให้ผู้ชม อย่างในเรื่องของสิทธิสตรี จะมีการหยิบยกนางในวรรณคดี 3 คนจากเรื่องรามเกียรติ์ มาสะท้อนให้เห็นปัญหาด้านสิทธิสตรีที่ปรากฏในเรื่อง แต่ไม่มีใครหยิบยกมาพูดถึง

    ไม่ว่าจะเป็นนางสีดาที่ต้องถูกกักขังในผอบฝังดินนานถึง 16 ปี นางเบญกายที่ถูกข่มขืนในสงคราม และนางสำมนักขาที่ถูกตัดหูตัดจมูกเพราะความรัก ซึ่งท่าเต้นจะมีกลิ่นอายศิลปะแบบคลาสสิก และการรำไทยแบบดั้งเดิม

    ส่วนประเด็นคนพิการ ต้องศึกษาจากการสังเกตการใช้ชีวิตของคนพิการบนรถเข็น ดูว่าเคลื่อนไหวร่างกายอย่างไร และนำภาษาร่างกายเฉพาะของคนพิการมาสร้างเป็นลีลาท่าเต้น เพื่อให้ผู้ชมได้เห็น และรู้สึกร่วมไปกับการแสดง

    การดีไซน์เครื่องแต่งกายในการแสดง “7”

    นอกจากลีลาท่าเต้นที่เป็นหัวใจในการเล่าเรื่องแล้ว การแสดงชุด “7” ยังได้โบ-ปิยพร พงษ์ทอง นักออกแบบแฟชั่นรุ่นใหม่ มาเป็นหัวเรือใหญ่ในการออกแบบ และตัดเย็บเครื่องแต่งกายนักแสดง ที่จะช่วยสะท้อนบุคลิกของตัวละครในแต่ละฉาก เพื่อช่วยให้สื่อสารได้ชัดเจน มีสีสันมากขึ้น

    โบ-ปิยพร พงษ์ทอง : การออกแบบชุดเพื่อการแสดง จะเป็นการผสานทักษะการออกแบบแฟชั่น กับความเข้าใจในเรื่องละคร แต่ละชุดออกแบบตามเรื่องราวที่ต้องการจะสื่อ เช่น ในฉากที่พูดถึงกลุ่มชาติพันธุ์ จะใช้เสื้อผ้าเป็นท้องฟ้า และมีนกที่แต่ละตัวมีสีขนไม่เหมือนกัน ส่วนชุดคนไร้บ้าน จะมีกระเป๋า มีข้าวของเครื่องใช้เยอะ เหมือนเป็นบ้านเคลื่อนที่ มีกรงนกครอบศีรษะ ที่สะท้อนให้เห็นว่าคนกลุ่มนี้ถูกกักขัง และไม่มีเสรีภาพ

    “7” การแสดงที่นำเสนอเพียงส่วนหนึ่ง ของปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย

    พิเชษฐ กลั่นชื่น : เรื่องราวต่าง ๆ ที่สื่อออกมาในการแสดงเพื่อรำลึก 7 ทศวรรษแห่งสิทธิมนุษยชน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น การทำโชว์แต่ละชุด เหมือนกับเราต้องจัดการทางความคิด และอารมณ์ของผู้ชม ว่าเราจะเล่นเกมกับเขาอย่างไร

    เพราะประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนหลายเรื่อง มีความอ่อนไหวและรุนแรง เราพยายามประนีประนอมเพื่อสร้างสรรค์งานศิลปะการแสดงที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ แต่สถานการณ์ในสังคมจริง รุนแรงกว่าสิ่งที่ผมนำเสนอออกมาบนเวทีนี้มาก และหวังว่าคนที่ดูแล้ว คงจะมองเห็นประเด็นที่เราต้องการสื่อ และหันมาตระหนักเรื่องสิทธิมนุษยชนกันมากขึ้น

    รายละเอียดการจัดแสดง “7”

    “7” จะมีการจัดแสดง 2 รอบ
    – รอบสื่อมวลชน และแขกรับเชิญ / วันที่ 7 ธันวาคม 2563
    – รอบประชาชนทั่วไป / วันที่ 8 ธันวาคม 2563
    – เวลา 18:00-20:30 น.
    – ณ สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ

    อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ FB : Pichet Klunchun Dance Company และ FB : European Union in Thailand