Wednesday, May 24, 2023
More

    ลงเรือคลองแสนแสบ-เจ้าพระยา ลุยเที่ยว 5 แกลเลอรี-หอศิลป์ ทั่วกรุงเทพฯ

    ใครที่คิดถึงการไปเยี่ยมชมแกลเลอรีต่าง ๆ ตามกรุงเทพฯ คงมีความสุขกันสุด ๆ หลังเริ่มทยอยกลับมาเปิดกันเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งจะกลับมาเดินเสพงานอาร์ตดี ๆ กันทั้งที ต้องไปหลาย ๆ ที่กันไปเลย แต่ในช่วงที่ต้องระวังการใช้จ่ายเช่นนี้ BLT จึงนำเสนอวิธีเที่ยวแบบประหยัดค่าใช้จ่ายง่าย ๆ และยังได้บรรยากาศใหม่ ๆ ในการเดินทาง ด้วยการโดยสารเรือคลองแสบแสบ-เจ้าพระยา กับ 5 แกลเลอรี-หอศิลป์ น่าสนใจดังนี้

    หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (Bangkok Art and Culture Centre) – เดินประมาณ 350 เมตรจาก ท่าเรือสะพานหัวช้าง


    เรียกว่าเป็นรากฐานทางศิลปวัฒนธรรมอีกแห่งของบ้านเรา กับ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ซึ่งนับเป็นพื้นที่การเรียนรู้ จัดแสดงงาน และพัฒนาองค์ความรู้ด้านศิลปะ และวัฒนธรรมสำคัญของบ้านเรา ในสถาปัตยกรรมอาคารทรงกระบอกสูง 9 ชั้น กับชั้นใต้ดินอีก 2 ชั้น

    ที่มีทั้งห้องแสดงผลงาน ห้องประชุม ห้องสมุด โรงภาพยนตร์ ห้องปฎิบัติการศิลปะ ฯลฯ ซึ่งแต่ละวันก็จะมีนิทรรศการหมุนเวียน อีเวนต์ และกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางงานศิลป์ ดนตรี และต่าง ๆ อีกมากมาย ให้เราได้เข้ามาเดินชมกันเพลิน ๆ ได้ทั้งวัน

    – 939 ถ.พระรามที่ 1 

    – เปิดวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10:00-19:00 น.

    – FB : Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร


    Yelo House – เดินประมาณ 350 เมตรจาก ท่าเรือสะพานหัวช้าง

    อาร์ต สเปซ ที่ดัดแปลงโกดังเก่าให้กลายเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ที่แบ่งส่วนการใช้งานออกเป็น 2 ชั้น ซึ่งจะมีทั้งโถงแกลเลอรีจัดแสดงงานศิลป์ ส่วนจัดกิจกรรมน่าสนใจต่าง ๆ อาทิเวิร์กชอป อีเวนต์ งานแสดง ฯลฯ

    ทั้งยังมีพื้นที่ส่วนชั้นล่างที่แบ่งเป็นห้องสำนักงานให้เช่า และห้องประชุม มี “Yelo Cafe” ร้านอาหารริมน้ำที่เหมาะต่อการมานั่งชมทัศนียภาพสวย ๆ ผ่านบานกระจกโปร่งใสของทางร้าน พลางสั่งของกินอร่อย ๆ มาทาน หลังเดินเที่ยวชมงานศิลปะกันมาเหนื่อย ๆ ที่สุด

    – 20/2 ถ.พระรามที่ 1 

    – เปิดทุกวัน เวลา 09:00 – 21:00 น. (Yelo Cafe ปิด 20:00 น.)

    – FB : YELO House


    หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (The Queen’s Gallery) – เดินประมาณ 280 เมตร จากท่าเรือผ่านฟ้าลีลาศ

    หอศิลป์ที่สร้างขึ้นมาตามพระราชดำริของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่เปิดครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2546 มีพื้นที่การใช้งาน 5 ชั้น ซึ่งชั้น 1-4 จะเป็นพื้นที่สำหรับจัดแสดงนิทรรศการ ส่วนชั้น 5 จะแบ่งไว้เป็นโซนสำหรับกิจกรรม อีเวนต์ เวิร์กชอปเกี่ยวกับศิลปะต่าง ๆ

    โดยเป็นหอศิลป์ที่มีเป้าประสงค์เพื่อจัดแสดงนิทรรศการของศิลปินไทย ซึ่งเน้นให้โอกาสศิลปินรุ่นใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพได้มีพื้นที่ในการแสดงผลงาน แต่ก็ยังคงมีงานของศิลปินรุ่นใหญ่ในบ้านเราหมุนเวียนมาจัดแสดงกันให้ได้ชมอยู่เรื่อย ๆ นับเป็นอีกหอศิลป์ที่เหมาะต่อการมาเสพงานอาร์ตดี ๆ ได้ตลอดทั้งปี

    – 101 ถ.ราชดำเนินกลาง 

    – เปิดทุกวัน เวลา 10:00-19:00 น. (ปิดทุกวันพุธ)

    – FB : หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ The Queen’s Gallery


    สมบัติเพิ่มพูน แกลเลอรี (Sombat Permpoon Gallery) – เดินประมาณ 800 เมตรจาก ท่าเรือนานาเหนือ

    อาคารแกลเลอรีที่ก่อตั้งขึ้นมาโดยคุณสมบัติ วัฒนไทย นักสะสมงานศิลปะที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งในแวดวงงานศิลป์บ้านเรา โดยสมบัติเพิ่มพูน แกลเลอรี เป็นอาคาร 6 ชั้น ที่เปิดเป็นแกลเลอรีขนาดใหญ่ ซึ่งจัดแสดงงานศิลปะกว่า 10,000 ชิ้น ทั้งงานจิตรกรรม ประติมากรรม ฯลฯ ของบรรดาศิลปินทั้งรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ ที่ผ่านการคัดเลือกด้วยสายตาอันเฉียบแหลมจากการอยู่ในวงการงานศิลป์มาหลายสิบปี ของคุณสมบัติเอง ทั้งอาคารแห่งนี้ยังนับเป็นอีกคอมมูนิตี้ที่สร้างการเรียนรู้ และความก้าวหน้าในแวดวงศิลปะบ้านเราได้อย่างดี

    – 12 ซ.สุขุมวิท 1 

    – เปิดทุกวัน เวลา 09:00-18:00 น.

    – FB : Sombatpermpoon Gallery : สมบัติเพิ่มพูน แกลเลอรี


    333Anywhere – เดินประมาณ 1.6 กิโลเมตรจากท่าเรือสาทร

    333Anywhere แกลเลอรีน้องใหม่ใน Warehouse 30 โปรเจกต์ที่แตกแขนงออกมาจาก 333Gallery ของคุณธริศา วานิชธีระนนท์ ทายาทรุ่นสอง และบุตรสาวของคุณธีระ วานิชธีระนนท์ ที่เข้ามาสานต่อธุรกิจ และอุดมการณ์ของคุณพ่อ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง 333Gallery 

    โดยได้ฉลองการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของแกลเลอรี ด้วยการออกนิทรรศการ Progenitor และ Time-Lapse: Reflecting on Thai Art ที่มาพร้อมไฮไลต์อย่างการจัดแสดงงานของศิลปินระดับมาสเตอร์ชาวไทย กว่า 50 คน รวมกว่า 200 ภาพ

    – (โกดัง 5) Warehouse 30 ซ.เจริญกรุง 30

    – เปิดทุกวัน เวลา 11:00-19:00 น.

    – FB : 333Anywhere

    – อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 333Anywhere