เยี่ยมชมนิทรรศการแรกของ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ หลังกลับมาเปิดทำการอีกครั้งอย่างเป็นทางการกับ “Extended Release” โดย ปรัชญา พิณทอง ศิษย์เก่าจากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งมีผลงานแสดงในนิทรรศการศิลปะ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ อย่างต่อเนื่อง
การกลับมาเปิดทำการของ หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ
หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร นับเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ทรงคุณค่า ที่สามารถย้อนความไปได้ ตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งถูกใช้เป็นหอศิลป์ สำหรับจัดแสดงนิทรรศการของม.ศิลปากร มาตั้งแต่ปี 2522
ก่อนที่ต่อมาในปี 2558 มหาวิทยาลัยศิลปากร จะได้รับงบประมาณจากภาครัฐ เพื่อมาบูรณะพื้นที่ของตัวมหาวิทยาลัย วิทยาเขตวังท่าพระแห่งนี้
โดยรวมถึงหอศิลป์ฯ ซึ่งตั้งอยู่ในกลุ่มอาคารอนุรักษ์ ที่ประกอบด้วย ท้องพระโรง ตำหนักกลาง และตำหนักพรรณราย ซึ่งได้รับการบูรณะให้กลับมาสมบูรณ์ ด้วยความงดงามตามยุคสมัยอีกครั้ง อย่างที่เราเห็นกันอยู่ตอนนี้ นั่นเอง
ทั้งตลอดระยะเวลาของการบูรณะหอศิลป์ฯ ที่เกิดขึ้นนั้น ยังเป็นเสมือนการร่อนถอดเปลือกกาลเวลา ของประวัติศาสตร์ออกทีละชั้น เพื่อเผยให้เห็นสิ่งที่ซ่อนแฝงอยู่ อย่างมีนัยสำคัญ ของหอศิลป์ฯ ที่ปิดปรับปรุงมาประมาณ 2 ปี แห่งนี้
การชวน ปรัชญา พิณทอง มาออกนิทรรศการ Extended Release ของหอศิลป์ฯ
จนเป็นเหตุให้ช่วงสุดท้ายของการบูรณะ ทางหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ จึงได้เชื้อเชิญ ปรัชญา พิณทอง เข้ามาร่วมปฏิสังสรรค์กับพื้นที่ ในระหว่าง กระบวนการปรับปรุงอาคารหอศิลป์ฯ ในระยะสุดท้าย โดยทำงานร่วมกับ ภัณฑ์ฑารักษ์ของหอศิลป์ฯ อย่าง กฤษฎา ดุษฎีวนิช, ดร.ปรมพร ศิริกุลชยานนท์ ผู้อำนวยการหอศิลป์ฯ, บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการทำงานบูรณะหอศิลป์ฯ และทีมงานหอศิลป์ฯ ซึ่งเป็นรุ่นน้องฯ ของเขา
ซึ่งผลงานที่เกิดขึ้นนั้น คือบทสนทนาอันแยบคาย ที่พาเรื่องราวไปสู่ ประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งพาดเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โลก และเรื่องราวน่าสนใจอื่น ๆ ที่รอผู้ชมมาค้นหา และตีความอย่างเสรี อันเป็นจุดตั้งต้นของนิทรรศการ Extended Release
“เฟรมภาพ” ที่เกิดจากการเกาะตัวของฝุ่นในการ “ขัดพื้น” เพื่อบูรณะหอศิลป์ฯ
ปรัชญา พิณทอง : วันแรกที่เข้ามาหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เราเห็นน้องคนงาน 2 คน กำลังขัดพื้นอยู่ แล้วมันก็มีฝุ่นฟุ้งไปหมด ก็รู้สึกว่าเป็นโมเมนต์ที่เกิดแรงบันดาลใจ ให้อยากทำงานนิทรรศการ Extended Release ขึ้นมา
เราก็เลยใช้กล้องไอโฟน ถ่ายเก็บภาพบรรยากาศต่าง ๆ ในการทำงานบูรณะหอศิลป์ฯ เอาไว้ เหมือนเป็นการสเก๊ตช์ไอเดียไว้ว่าจะทำอะไรต่อไป แล้วก็พบว่ากิจกรรมที่เขากำลังพยายามขัดพื้นของตึกหอศิลป์ฯ ทั้งหมด มันค่อนข้างน่าสนใจ
เราก็เลยคิดว่าลองทำอะไรที่มันเป็นคู่ขนานเลยแล้วกัน จึงบอกน้องทีมงานหอศิลป์ฯ ให้ไปซื้อ เฟรมภาพ มาประมาณ 2-3 ไซซ์ เอามาวางไว้ตามพื้นที่ที่คนงาน ทำงานตามจุดต่าง ๆ ของหอศิลป์ฯ
โดยเราพยายามวางเฟรมภาพไว้ ให้มันเป็นที่รองรับฝุ่น เพื่อสร้าง ผลงานภาพ แบบไม่จงใจ 31 เฟรม ซึ่งเกิดจากการกระจัดการจายของฝุ่น
ส่วนไอเดียของการจัดวางเฟรมภาพ เราก็ใช้การวางแนบไปกับพื้น โดยให้มันไปสัมผัสกับพื้นผิวของตัวโครงสร้างของหอศิลป์ฯ ให้น้อยที่สุด เพื่อเป็นการให้เกียรติกับตัวพื้นที่ ซึ่งเพิ่งบูรณะเสร็จ
“Seed Bomb” ลูกฝุ่นที่บรรจุเมล็ดพันธุ์สมุนไพร ซึ่งรอการไปเติบโตในพื้นที่อื่น
ปรัชญา พิณทอง : นอกจากนี้ เรายังมีการนำฝุ่นที่กระจายฟุ้งออกมาจากการทำงานขัดพื้น เพื่อบูรณะหอศิลป์ฯ มาปั้นเป็น ลูกฝุ่นกลม หรือ Seed Bomb แล้วก็เอาเมล็ดพันธ์ุสมุนไพรบรรจุไว้ภายใน โดยให้ผู้มาชมนิทรรศการ สามารถนำกลับไปขยายพันธุ์ต่อ ตามพื้นที่ธรรมชาติต่าง ๆ ได้
“Extended Release” ภาพบันทึกการ “ขัดพื้น” หอศิลป์ฯ ในรูปแบบม้วนฟิล์ม 35 mm.
ปรัชญา พิณทอง : งานนี้เป็นการฉายวิดีโอคนงานที่ทำการขัดพื้น เพื่อบูรณะหอศิลป์ฯ ด้วยกล้องไอโฟน ดังที่เราอธิบายเอาไว้ข้างต้น และตั้งชื่อมันว่า Extended Release ซึ่งเราเอามาใช้เป็นชื่อนิทรรศการครั้งนี้ด้วย โดยมันมาจากชื่อของอาการ ที่เกิดจากฤทธิ์ยาซึ่งช่วยผ่อนคลายให้เรานอนหลับสบาย อย่างต่อเนื่องตลอดคืน ให้ความรู้สึกหน่วง ๆ และยืดออกไป
ที่สอดคล้องกับงานวิดีโอที่ฉายอยู่ ซึ่งเราใช้การนำไฟล์ดิจิตอล มาย้อนเวลาสู่การฉายภาพในรูปแบบม้วนฟืล์ม 35 mm. และทำการฉายลงบนจอหนังเก่าที่เขาจะไม่ใช้แล้ว โดยแขวนลอยไว้ตรงพื้นที่เดียวกับที่มีการบันทึกภาพไว้ ให้ความรู้สึกของการขยายภาพ ๆ เดิม บนของเก่าที่เรานำกลับมารียูส
“Internal Rhyme” การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ด้วยประสาทสัมผัสของปลายลิ้น
หรือจะเป็นผลงานอื่น ๆ ในนิทรรศการ Extended Release ที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน อย่าง “Internal Rhyme” ซึ่งเป็นการจัดแสดงภาพลายเส้น จำนวน 9 ชิ้น ที่ทางปรัชญา พิณทอง ทำการวาดด้วยภาวะภายในตนเอง จากการใช้ปลายดินสอ เชื่อมต่อกับปลายลิ้น ทั้งในทางความรู้สึก และประสามสัมผัส
โดยพูดให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็คือการดรออิ้งฟันของตัวเอง บริเวณพื้นที่หน้าบ้านพักของปรีดี พนมยงค์ ที่มีการบันทึกเอาไว้ว่า เขาได้เคยมาพำนักอยู่ ในช่วงบั้นปลายชีวิต ซึ่งตั้งอยู่บริเวณแถบชานเมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส
เกิดเป็นผลงานที่แสดงถึงมโนทัศน์ ของการเรียนรู้อีกด้านของประวัติศาสตร์ ด้วยประสาทสัมผัสที่ไม่คุ้นชิน
“แผ่นอะลูมิเนียม” ที่สะท้อนประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ขยับมาที่งานจัดแสดง บริเวณชั้นล่างของหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กับผลงานที่ถูกจัดตั้งอย่างโดดเดี่ยว แทรกตัวไปกับสถาปัตยกรรม และแสงที่สาดลงมาหยอกล้อกับพื้นผิวของตัวงาน ซึ่งเป็น แผ่นอะลูมิเนียม จากเปลือกห่อหุ้มระเบิดในสงครามอินโดจีน
โดยถูกค้นพบจากเศษซากสงครามในประเทศลาว ซึ่งทางปรัชญา พิณทอง ได้นำมาหลอมในขนาดเท่ากับบานประตู ของสถาปัตยกรรมอาคารวังท่าพระ จากวัสดุทำลายล้าง จึงแปรเปลี่ยนบริบทสู่งานศิลปะ ที่สะท้อนประวัติศาสตร์ และเรื่องราวที่ซุกซ่อนอยู่ในหลืบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
หนังสือภาพ แสดงเรื่องราวการสร้าง “หลวงพ่อกลักฝิ่น”
ทั้งในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกัน ของงานจัดแสดงแผ่นอะลูมิเนียม ยังมีหนังสือภาพที่บอกเล่าเรื่องราวของการสร้าง “พระกลักฝิ่น” หรือ หลวงพ่อกลักฝิ่น (พระพุทธเสรฏฐมุนี) ได้อย่างตรงไปตรงมา แต่แฝงด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ที่เข้ากับภาวะของความร่วมสมัย ได้อย่างน่าติดตาม
ชมผลงานทั้งหมดของนิทรรศการ “Extended Release” ได้ที่
– ท้องพระโรง หอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เขตวังท่าพระ
– 27 กันยายน – 2 ตุลาคม 2564
– จันทร์-เสาร์ เวลา 9:00 – 18.00 น. / จำกัดการเข้าชม รอบละไม่เกิน 5 คน / ปิดวันอาทิตย์ และวันหยุดราชการ
– FB : ART CENTRE, SILPAKORN UNIVERSITY
– โทร. 092-298-0092
– ขอบคุณข้อมูลนิทรรศการบางส่วน จากภัณฑารักษ์ของหอศิลป์ฯ : กฤษฎา ดุษฎีวนิช