คลายความคิดถึงการไปเดิมชมงานอาร์ตตามแกลเลอรี เคล้าบทสนทนาจรรโลงใจกับศิลปินเจ้าของผลงาน ด้วยการชวนไปพูดคุยกับ 3 ศิลปินรุ่นใหม่ (ปองพล ปรีชานนท์, ก้องภพ เบ็ญจนิรัตน์ และปภัส สีแนม) ในนิทรรศการที่เป็นเหมือนก้าวแรก ในโลกแห่งการทำงานเป็นศิลปินเต็มตัวของพวกเขา
อย่าง “Next – My 1st Solo Art Exhibition” ใน 333Anywhere แกลเลอรีสำหรับทุกคน ที่ชอบเสพงานศิลปะร่วมสมัยทุกแขนง ทั้งยังเป็นตัวกลาง ในการช่วยผลักดันผลงานของศิลปินรุ่นใหม่ ให้สามารถสร้างสรรค์งานศิลปะที่พวกเขารักได้ต่อไปอย่างยั่งยืน
โดยนิทรรศการครั้งนี้ ศิลปินทั้ง 3 คน ได้เตรียมงานกันมานานกว่า 6 เดือน มีผลงานมาจัดแสดงรวมกันทั้งหมด กว่า 50 ผลงาน และยังมีผลงาน Arttoys ที่สร้างขึ้นมาเพื่อนิทรรศการนี้เท่านั้นด้วย
ปองพล ปรีชานนท์ (คนซ้าย) ปภัส สีแนม (คนกลาง) ก้องภพ เบ็ญจนิรัตน์ (คนขวา)
ว่าแล้วก็อย่ารอช้า ไปพูดคุยถึงความน่าสนใจในงานที่นำมาจัดแสดงของพวกเขาทั้ง 3 คนครั้งนี้ และเรื่องราวการทำงานของพวกเขากัน !
การตีความสำนวน “ปี๊บคลุมหัว” ใหม่ และความรักในการวาดรูปของปองพล
ปองพล ปรีชานนท์ : ตั้งแต่จำความได้ ผมก็ชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก ผมคิดว่าเราทุกคนวาดรูปเป็น ก่อนที่จะเขียนหนังสือเป็น แต่หลาย ๆ คนก็ทิ้งความสามารถนั้นไป แล้วไปทำอย่างอื่นที่ชอบมากกว่า แต่ตัวผมเองชอบสิ่งนี้ตั้งแต่เด็ก จนปัจจุบันก็ยังชอบอยู่
ส่วนจุดเริ่มต้นที่ผมคิดตัว Bucket Boy ผมนึกถึงสำนวน ปี๊บคลุมหัว ของคนไทย ที่มันหมายถึงความอับอาย จนไม่กล้าพบเจอผู้คน ผมเลยตั้งข้อสงสัยว่า ถ้าเอาปี๊บมาคลุมหัวแล้วเนี่ย มันจะทำให้ผู้ที่นำปี๊บมาคลุม หายอับอายจริงเหรอ
แล้วถ้าเป็นเช่นนั้น จะเป็นอย่างไรถ้าผู้ที่ใส่มัน กล้าที่จะทำอะไรก็ได้ โดยไม่ต้องรู้สึกอับอาย หรือรู้สึกสนใจกรอบเกณฑ์ของสังคม เพราะมีการปกปิดตัวตนจากสายตาของคนภายนอก ด้วยปี๊บที่ใส่
เทคนิคการทำงานภาพเหมือน และตัวตนของตัวละครไอคอนิคแห่งฮอลลีวูดจากก้องภพ
ก้องภพ เบ็ญจนิรัตน์ : ความที่ผมเป็นคนทำงานภาพเหมือน ไม่ได้มีเอกลักษณ์ในด้านรูปแบบ ผมจึงศึกษาเทคนิคหลาย ๆ ด้าน และนำมาปรับใช้ในการเขียนงานของผมเอง การใช้โทนสีบางอย่าง การเล่นกับค่าน้ำหนัก สร้างออกมาในรูปแบบที่เราชอบ ทำให้ภาพของผมดูมีอากาศ
ด้านผลงานชุดนี้ มีเเนวคิดในการนำเสนอมุมมอง เเละทัศนคติของผมที่มีต่อความเป็นปัจเจกในตัวตนของนักเเสดงฮอลลีวูด ช่วงตั้งเเต่ยุค 90 ลงมา ซึ่งเเต่ละคนล้วนเเล้วเเต่เคยได้สวมบทบาท จนเป็นที่กล่าวขาน เเละจดจำในฐานะตัวละครที่เป็นไอคอนิคเเห่งยุคสมัย
มากกว่าที่จะถูกจดจำในตัวตนจริงของนักเเสดง ทำให้ผมเลือกที่จะนำเสนออัตลักษณ์ เเละความปัจเจกของเเบบ ออกมาตามบทบาท เเละภาพลักษณ์ที่ปรากฏอยู่ในโลกภาพยนตร์
เเละถ่ายทอดอารมณ์ในเเต่ละผลงานออกมา ผ่านทางการเเสดงสีหน้าของนักเเสดงเเต่ละคน ที่มีความเเตกต่างไปตามบทบาทของตัวละครไอคอนิคเเต่ละตัว โดยอาศัยเทคนิคทางจิตรกรรม ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผมเอง
การถ่ายทอดวัฒนธรรมผ่านงานศิลปะ และงานที่ตั้งคำถามถึงความหลากหลายของผู้คนจากปภัส
ปภัส สีแนม : ผมใช้เรื่องวัฒนธรรม และสิ่งที่อยู่ในวัฒนธรรมไทย อย่างความเชื่อของคน ถ่ายทอดออกมาผ่านศิลปะของผม เพื่อให้ผู้ชมเห็นถึงความหลากหลายของความเชื่อ ว่าสิ่งที่เราเชื่อ หรือสิ่งที่คนอื่นเชื่อ
มันสามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้ เพราะจะให้ทุกคนคิด หรือเชื่อเหมือนกันไม่ได้ งานศิลปะจึงไม่มีผิดหรือถูก ผู้ชมเท่านั้นที่เป็นผู้ตัดสิน
โดยงานแสดงของเราครั้งนี้ ได้แรงบันดาลใจมาจากท่ามกลางกระแสความหลากหลายของผู้คน ที่ตั้งคำถามเรื่องการมีอยู่ของชีวิต สิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม ความเชื่อที่ส่งผลต่อชีวิตตน ซึ่งเป็นสิทธิที่ผู้คนพึงมี
แต่เมื่อใดที่รู้สึกว่าสิทธินั้นถูกพรากไป ย่อมเกิดสภาวะการสูญเสียตัวตน หรืออาการที่มีความรู้สึกว่าตน ถูกแยกออกจากชีวิตจริง ซึ่งพ้องกับร่างทรง ที่มีลักษณะของการแทนที่ตัวตน ด้วยสิ่งที่อยู่เหนือไปกว่า
เพื่อต่อสู้กับอำนาจบางอย่างที่กดทับ โดยนำเหตุการณ์ ประวัติศาสตร์ และตำนานความเชื่อต่าง ๆ มานำเสนอเป็นอุปมาเชิงสะท้อน โดยใช้การนำเสนอ ผ่านตัวภาพของคน
ที่แต่งกายเสมือนทำพิธีกรรมบางอย่าง (อีกมุมหนึ่งก็นิยามการทำงานศิลปะของตนเอง เป็นพิธีกรรมเช่นกัน) โดยสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของการตั้งคำถาม งานของผมจึงเป็นคำถาม มากกว่าที่จะเป็นคำตอบ
นิทรรศการ “Next – My 1st Solo Art Exhibition”
– วันนี้ – 6 มิถุนายน 2564 (ปิดวันจันทร์)
– เวลา 11:00-18:00 น.
– 333Anywhere (โกดัง 5) Warehouse 30 ซ.เจริญกรุง 30
– ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ตอนนี้ทางแกลเลอรี ยังจำกัดจำนวนผู้เข้าชม ไม่เกินครั้งละ 15 ท่าน
– หรือชมงานออนไลน์แบบ Virtual Art Exhibition ได้ทาง https://333art.gallery/2021/05/next/