Monday, September 25, 2023
More

    A Minor History นิทรรศการไว้อาลัยความไร้เดียงสาจากอดีตของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

    เรื่อง : มนุพร เหลืองอร่าม ผู้อำนวยการโครงการ / ภัณฑารักษ์

    ภาพ : 100 Tonson Foundation


    เรื่องเล่าของสามัญชน คนตัวเล็ก และผู้เห็นต่างในท้องถิ่นอีสาน

    “ประวัติศาสตร์” เป็นบทสนทนาอันไม่รู้จบระหว่างอดีตกับปัจจุบัน แต่ประวัติศาสตร์ที่ผู้คนส่วนใหญ่รับรู้มักเป็น ประวัติศาสตร์กระแสหลัก ประกอบด้วย เรื่องเล่าระดับชาติ ที่เป็นแบบทางการ เป็นเรื่องราว และความทรงจำเกี่ยวกับชนชั้นนำ และเหตุการณ์ที่ถูกปลูกฝังให้เชื่อและรับรู้ถึงความสำคัญ

    อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

    A Minor History (ประวัติศาสตร์กระจ้อยร่อย) เป็นนิทรรศการที่ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับไทย ที่เพิ่งไปคว้ารางวัล Jury Prize บนเวทีเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ 2021 จากผลงานภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขาอย่าง Memoria ได้บันทึกเรื่องราวในช่วงเวลาหนึ่งจากท้องถิ่นอีสาน ซึ่งเป็นพื้นที่ ๆ ถูกกดทับทางสังคม และการเมืองมาอย่างยาวนาน 

    เป็นเรื่องเล่าและความทรงจำของสามัญชน คนตัวเล็กตัวน้อย และผู้เห็นต่าง รวมถึงตำนานความเชื่อในเรื่องเหนือธรรมชาติของผู้คนในท้องถิ่น 

    ผลงานนี้เกิดจากการเดินทางกลับไปเยือนอีสานของอภิชาติพงศ์ ในช่วงระหว่างการล็อกดาวน์ในสถานการณ์โรคระบาด เริ่มต้นจากขอนแก่นบ้านที่เขาเติบโตขึ้นมา หนองคาย กาฬสินธุ์ นครพนม สกลนคร มุกดาหาร ไปจนถึงอุบลราชธานี 

    เขาได้รวบรวมบทสัมภาษณ์ ภาพถ่าย และมุมมองต่าง ๆ ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปของคนในพื้นที่  การได้พบกับคนรุ่นใหม่ที่มีอิสระทางความคิด มีแนวคิดทางการเมือง และความเชื่อที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากคนรุ่นก่อน 

    พวกเขาพยายามค้นหาพื้นที่ของตนเอง และตั้งคำถามว่าตัวตน ความสุข และเสรีภาพคืออะไร ในการเดินทางเลียบแม่น้ำโขง อภิชาติพงศ์เฝ้ามองสายน้ำอันคุ้นเคยที่กำลังเปลี่ยนแปลง จากผลกระทบของการสร้างเขื่อนในจีน แม่น้ำโขงซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของดินแดนสองฝั่งไทย-ลาว 

    เป็นทั้งผู้ถูกกระทำ และเป็นประจักษ์พยานถึงความจริงหลายระดับชั้น และซากของ สิ่งต่าง ๆ ที่ทับถมกันผ่านกาลเวลา ซึ่งกำลังถูกขุดรื้อฟื้นขึ้นมาตรวจสอบ

    แรงบันดาลใจของผลงานแสดงในนิทรรศการ A Minor History ภาคแรก

    นิทรรศการ A Minor History ภาคแรก นำเสนอวิดีโอจัดวางสามจอ โดยอภิชาติพงศ์ได้แรงบันดาลใจจากการได้พบกับชายชาวมุกดาหาร ผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมกู้ศพที่ลอยมาตามลำน้ำโขง และการได้ค้นพบโรงภาพยนตร์เก่าแห่งหนึ่งที่กาฬสินธุ์ 

    สะท้อนความทรงจำถึงโรงภาพยนตร์ในวัยเยาว์ของเขาที่ขอนแก่น ซึ่งไม่หลงเหลืออีกแล้ว สถานที่ซึ่งเคยเป็นแหล่งรวมแสง และเรื่องราวที่หล่อหลอมความเป็นตัวตนและสังคม ผ่านการเล่าเรื่องตามขนบภาพยนตร์ไทย และโฆษณาชวนเชื่อในยุคสร้างชาติ

    ภาพโรงภาพยนตร์เก่าที่เหลือแต่โครงผุพังเหมือนซากโครงกระดูกซึ่งปัจจุบันกลายเป็นที่อาศัยของนกพิราบนับร้อยตัว ถูกนำเสนอเทียบเคียงกับภาพลำน้ำโขงยามค่ำคืน และเบื้องหลังของวิดีโอเหล่านี้คือฉากหมอลำจากสตูดิโอของคณะ  หมอลำที่ขอนแก่น เป็นภาพท้องพระโรงอันว่างเปล่า สีสันตระการตาของฉากนี้ถูกทำให้เลือนรางด้วยความมืด และบางครั้ง ก็สว่างไสวด้วยแสงวูบวาบจากวิดีโอ 

    องค์ประกอบด้านเสียงใน A Minor History

    สำหรับองค์ประกอบด้านเสียง อภิชาติพงศ์ทำงานร่วมกับ อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร ผู้ซึ่งออกแบบเสียง และมิกซ์เสียงให้ผลงานของเขาทุกชิ้น เสียงที่แว่วมาตามซอกหลืบอาคารโรงภาพยนตร์เก่า เสียงกระพือปีกของนกพิราบ เสียง  Bang ! หรือ ปัง ! ซึ่งมีที่มาจากเสียงปะทุในหัวของอภิชาติพงศ์ 

    และเชื่อมโยงกับเสียงในผลงาน Fever Room และ ภาพยนตร์ Memoria เป็นเสียง ปัง ! ที่กระตุ้นเตือนความทรงจำ และปลุกให้ตื่นจากการหลับใหลอันยาวนาน และในผลงานนี้ เป็นครั้งแรกที่อภิชาติพงศ์ได้สร้างงานร่วมกับ เมฆ’ครึ่งฟ้า กวีรุ่นใหม่ชาวอีสาน ผู้ซึ่งเกิดและเติบโตริมฝั่งแม่น้ำชี เขาได้แต่งเรื่อง 

    และพากย์เสียงด้วยตัวเอง โดยสวมบทชายหนุ่ม และคนรักขณะที่พวกเขาเดินพลอดรักริมโขง ซึ่งเมฆ’ครึ่งฟ้า ใช้เทคนิคการพากย์เลียนแบบภาพยนตร์ และละครวิทยุในอดีต

    เรื่องเล่าจากจิตวิญญาณสองฝั่งแม่น้ำโขง

    ประวัติศาสตร์อาจเป็นนิยาย หรือเรื่องแต่งที่มีหลักฐานให้สืบค้น ในผลงานนี้เรื่องแต่งและเรื่องเล่าเกี่ยวกับศพที่ผุดขึ้นมาจากแม่น้ำเป็นประจำ ปะทะกับตำนานความเชื่อเร้นลับเรื่องพญานาค ที่ฝังรากลึกอยู่ในวิถีชีวิต และจิตวิญญาณของผู้คนสองฝั่งโขง 

    ความตายของพญานาค การฆาตกรรม และการสูญหายของนักเคลื่อนไหวทางการเมืองผู้ถูกปิดกั้น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เรื่องราวของพวกเขายังคงวนเวียนอยู่ดั่งตำนานที่ไม่อาจเลือนหายไปจากความทรงจำ และรอการค้นพบความจริง 

    ผลงานไว้อาลัยความไร้เดียงสาจากอดีตของอภิชาติพงศ์

    ผลงานนี้ผสมผสานการเล่าเรื่องด้วยสื่อต่าง ๆ ที่อภิชาติพงศ์คุ้นเคยในวัยเยาว์ ทั้งภาพยนตร์ การพากย์เสียง ละครวิทยุ และการแสดงหมอลำ การเล่าเรื่องแบบลูกผสมนี้ ล่องลอยอยู่ระหว่างพื้นที่แห่งความจริงและความฝัน สะท้อนถึงความเสื่อมสลายของความทรงจำ และภาพที่ถูกสร้าง 

    สำหรับอภิชาติพงศ์ ผลงานนี้เป็นการบันทึกและรวบรวมซากความทรงจำต่าง ๆ เป็นการร่ำลา และไว้อาลัยความไร้เดียงสาจากอดีต และเป็นการตื่นขึ้นมาเฝ้ามองความรุนแรงที่ไม่อาจพูดถึงได้ในสังคมไทย

    นิทรรศการ A Minor History ภาคแรก

    19 สิงหาคม – 14 พฤศจิกายน 2564

    –  เข้าชมฟรี (เฉพาะนัดหมายล่วงหน้าในวันศุกร์ – เสาร์)

    – เวลา 11:00 – 18:00 น.

    100 Tonson Foundation ซ.ต้นสน (BTS เพลินจิต)

    – อีเมล : hello@100tonsonfoundation.org 

    – โทรศัพท์ : + 669.8789.6100 

    – FB Inbox : m.me/100TonsonFoundation  

    – LINE : @100tonson (หรือคลิก lin.ee/Ht8UYVH)