สวนศิลป์จุฬาฯ (Chula Art Park) แหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปกรรมระดับนานาชาติแห่งใหม่ ใจกลางกรุงเทพฯ จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่สะท้อนอัตลักษณ์และชีวิตชุมชนสามย่าน-สวนหลวง ผ่าน 15 ชุดผลงานศิลปกรรมประติมากรรม ซึ่งพร้อมให้ชมได้อย่างเต็มอิ่มตลอดเช้าจรดค่ำ (Day and Night Digital Arts Park)
งานศิลปะเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนสามย่าน-สวนหลวง
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : โครงการอุทยานศิลปะ หรือ “สวนศิลป์จุฬาฯ” (Chula Art Park) จัดทำขึ้นภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง “การใช้ผลงานศิลปะและการออกแบบเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตชุมชนสามย่าน-สวนหลวงอย่างยั่งยืน”
โดยความร่วมมือของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเครือข่ายสภาคณบดีศิลปะและการออกแบบแห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
“อุทยานศิลปะนี้จะเป็นแลนด์มาร์ก (Landmark) และเส้นทางท่องเที่ยวระดับนานาชาติแห่งใหม่ ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้ด้วยมนต์เสน่ห์ของชุมชนสามย่าน-สวนหลวง ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ ใจกลางเมืองและเป็นย่านการค้า มีอาหารอร่อยและวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนไทยเชื้อสายจีน
โดยชุดผลงานศิลปกรรมประติมากรรมจำนวน 15 ชิ้นนี้ ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยคณาจารย์จากมหาวิทยาลัย สมาชิกสภาคณบดีศิลปะและการออกแบบแห่งประเทศไทย
ที่เราสามารถเข้าชมได้ทั้งกลางวันและกลางคืน (Day and Night Digital Arts Park) ซึ่งจะมีบรรยากาศที่แตกต่างกันไป ด้วยพลังงานสะอาด ไม่ก่อมลพิษ เพราะเป็นพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์”
15 ผลงานศิลปกรรมประติมากรรมในสวนศิลป์จุฬาฯ
1.ไมตรี-ผูกพัน (Friendship and Connection) โดย อาจารย์ตระการ พนมวัน ณ อยุธยา
การดื่มชาเป็นวัฒนธรรมอันดีงามของชาวจีนมาแต่โบราณ ชาเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งมงคล เป็นความดีเป็นความอบอุ่น มีมิตรไมตรีที่ดีต่อกันเสมอมา
2.ชาวไทยเชื้อสายจีน: วิถีและศรัทธา (Thai people of Chinese Descent: Way of Life and Faith) โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศิริชัย พุ่มมาก
สะท้อนเรื่องราวรูปแบบวิถีชีวิตการค้าขายของชาวไทยเชื้อสายจีนในชุมชนสามย่าน รวมถึงบอกเล่าเรื่องราววัฒนธรรม ความเชื่อ ความศรัทธา อันทรงคุณค่า ที่ชาวไทยเชื้อสายจีนปฏิบัติสืบต่อกันมาจากอดีตสู่ปัจจุบัน
3.วัฒนธรรมความดีงามของชุมชนสามย่าน (The Samyan Community’s Culture of Goodness) โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ไกรสร ประเสริฐ
นำสัญลักษณ์รูปดาว มาพัฒนาสร้างสรรค์เป็นผลงานประติมากรรมเพื่อสื่อความหมายวัฒนธรรมที่ดีงามของชุมชนสามย่าน โดยใช้วัสดุที่เหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบัน มาสร้างประติมากรรม
4.ปอดกลางเมือง (City’s Lungs) โดย อาจารย์อุกฤษ วรรณประภา
เรื่องเล่า กระต่ายในจันทร์และดอกบัว สีทองเป็นตัวสื่อความหมาย คือ เรื่องราวในอดีตสู่การพัฒนาความเป็นย่านที่ทันสมัย เป็นจุดศูนย์กลางของเศรษฐกิจ การค้า และความเป็นเมืองแห่งอนาคต
5.ภาพสะท้อนของกระรอกน้อย (Reflection of a Little Squirrel) โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ทักษิณา พิพิธกุล
ประติมากรรมรูปลักษณ์โพลีกอน (Polygon) ออกแบบเป็นรูปทรงกระรอกกำลังทำท่าถ่ายภาพเซลฟี่ เพื่อเป็นภาพแทนของธรรมชาติที่ผ่อนคลายในพื้นที่เมืองที่มีความก้าวหน้าทางนวัตกรรมเทคโนโลยี
6.สถานีสามย่าน-สวนหลวง (Station) โดย ศาสตราจารย์กมล เผ่าสวัสดิ์
Station เป็นผลงาน Site Specific ที่สร้างบทสนทนาและประสบการณ์ระหว่างผู้ชมกับพื้นที่ กระตุ้นการรับรู้ของ Landscape และ Soundscape ของสามย่าน-สวนหลวง ผ่านการจำลองและความหมายของสถานีที่มีภาพตัวแทนของวัฒนธรรมชุมชน
7.สะพานอ่อน (Saphan On) โดย อาจารย์ ดร.พิชัย ตุรงคินานนท์
การเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ชุมชนบริเวณแยกสะพานอ่อน โดยได้มีการใช้สัญลักษณ์ของสะพาน แสงไฟ และแผนที่โบราณในการสื่อความหมายถึงการเปลี่ยนแปลงและการเชื่อมโยงอดีต-ปัจจุบัน ด้วยรูปแบบศิลปะมินิมอลอาร์ต
8.ดอกไม้กลางเมือง (City Center’s Flower) โดย อาจารย์กฤช งามสม
ภาพสะท้อนการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชุมชนย่านเซียงกงสวนหลวง-ปทุมวัน ที่ปรับตัวสามารถเบ่งบานเจริญขึ้นใหม่อีกครั้งเหมือนแสงสว่างจากดอกไม้ที่ทำจากชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์
9.สร้างการรับรู้วิถีชุมชนสามย่าน (Create the Acknowledgement of Samyan Communal Ways) โดย อาจารย์อนุพงศ์ สุทธะลักษณ์ และ อาจารย์เอกชัย สมบูรณ์
สะท้อนภาพวิถีพหุวัฒนธรรมชุมชนสามย่านจากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยการสร้างพื้นที่ศิลปะจากรูปทรงสัญญะอินฟินิตี้ (Infinity) ที่ประกอบด้วยประติมากรรมสื่อประสม ที่สื่อถึงความเปลี่ยนแปลงของชุมชนไปสู่อนาคตที่ไม่มีวันสิ้นสุด
10.ประตูสวรรค์สามย่าน (Samyan Heaven Gate) โดย อาจารย์อคราส พรขจรกิจกุล
โครงการศิลปะที่แสดงภาพแทนทางความคิดเรื่องการผสมผสานทางวัฒนธรรม “ซุ้มประตูโขง” และ “ไผฟาง” มาจากคติความเชื่อของคนไทยและคนจีน ศิลปินใช้รูปสัญญะดังกล่าวในการออกแบบเพื่อแสดงถึงการหลอมรวมทางวัฒนธรรม ซึ่งมีอิทธิพลจากการเคลื่อนตัวและปรับเปลี่ยนของผู้คน
11.กลิ่นอายหมอกมังกรจีน (Aura of the Chinese Dragon) โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ถนอมจิตร์ ชุ่มวงค์
“มังกร” เป็นสื่อสัญลักษณ์ของความเป็นคนจีนที่เข้ามาในสยามแต่อดีต และสามย่านเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่ยังคงกลิ่นอายของ ความเป็นจีน ร่องรอยวิถีชีวิตและความเชื่อถูกถ่ายทอดสอดแทรกในงานหัตถกรรมเครื่องจักสานอุปกรณ์ต่างๆ การประกอบเป็นรูปทรงแสดงความเป็นวัฒนธรรมจีน “กลิ่นอายหมอกมังกรจีน” เป็นสัญลักษณ์ของหัตถศิลป์ที่ซ่อนไว้ซึ่งวัฒนธรรมจีนในสามย่าน
12.สังสรรค์ (Party) โดย อาจารย์ศุภเดช หิมะมาน
ศูนย์รวมของสิ่งมงคลที่มาจากทั้งสี่ทิศถูกถ่ายทอดผ่านสัตว์มงคลและตัวอักษรจีน ให้ปรากฏบนประติมากรรมโคมไฟฉลุ ติดตั้งบนพื้นที่ที่ผู้คนมาร่วมสังสรรค์กัน
13.ประติมากรรมประแจจีน (Chinese Fret) โดย อาจารย์ธัญญารัตน์ ทองใจ
“ประแจจีน” หรือลายตะขอเกี่ยวทรัพย์เป็นลวดลายเชิงสัญลักษณ์และสื่อความเป็นมงคล การอวยพรให้เจริญก้าวหน้าที่แสดงถึงความต่อเนื่องอย่างไม่มีที่สิ้นสุด สร้างสรรค์ผ่านรูปแบบประติมากรรมปฏิสัมพันธ์
14.Hide and Seek โดย อาจารย์ภัทร นิมมล
วัฒนธรรมขับเคลื่อนไปผ่านการละเล่นและความไร้สาระของความเยาว์วัย พร้อมกับความกังวลถึงการเปลี่ยนแปลงทั้งในส่วนของค่านิยม ความเป็นอยู่ และเศรษฐกิจ
15.เรือ(น) (Junk) โดย อาจารย์ ดร.สมพงษ์ ลีระศิริ
งานประติมากรรมศิลปะเคลื่อนไหวสื่อผสม เชิงนวัตกรรม 3 มิติ แฝง “ปรัชญาชีวิต” ผ่านเรื่องเล่าของคนจีนโพ้นทะเลสื่อถึง “เสื่อ 1 ผืนและหมอน 1 ใบ” รวมถึงการดำเนินชีวิตผสมผสานคติแนวคิด วิถีชีวิตและความเชื่อ
สวนศิลป์จุฬาฯ (Chula Art Park)
– คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย