ภายในห้องแกลเลอรี่บนชั้น 1 ของอาคารไปรษณีย์กลาง (ส่วนหลัง) ณ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ กรุงเทพฯ หรือ TCDC ในย่านบางรัก กำลังมีนิทรรศกาลที่ช่างน่่ารักน่าชม และชวนให้ไปร่วมขบคิดและเข้าอกเข้าใจถึงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความคิด และวิถีชีวิตอันเป็นลักษณะเฉพาะของผู้คนในประเทศเยอรมนีและไทยใน นิทรรศการสิ่งที่มองไม่เห็น (Invisible Things) จัดโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับ สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย
โดยเป็นนิทรรศการที่รวบรวมและจัดแสดงผลิตภัณฑ์ของใช้ในชีวิตประจำวันจากเยอรมนีและไทย จำนวน 50 รายการ ที่แม้จะดูเหมือนไม่มีอะไรพิเศษ แต่ทั้งหมดกลับแฝงเรื่องราวที่น่าเรียนรู้ในหลากมิติ ทั้งเสน่ห์ตัวตน วัฒนธรรม ความเชื่อ ไลฟ์สไตล์ และความคิดสร้างสรรค์ รวมไปถึงมุมมองต่อสิ่งของต่างวัฒนธรรม ผ่านคำถามว่าอะไรคือความเป็นไทย และอะไรคือความเป็นเยอรมัน ได้อย่างเด่นชัด โดยภัณฑารักษ์จากทั้ง 2 ประเทศ คุณฟิลิป คอนเวล-สมิธห์, คุณมาร์ติน เรนเดล และคุณพิบูลย์ อมรจิรพร
สำหรับไฮไลต์ผลิตภัณฑ์ที่นำมาจัดแสดง ไม่ว่าจะเป็น จมูกตัวตลก จากเครื่องหมายอัศเจรีย์สีแดง สู่สัญลักษณ์สร้างความสุขให้ผู้คน สะท้อนถึงความเป็นชนชาติที่เอาจริงเอาจังกับเรื่องตลกเป็นอย่างมาก ขัดจากภาพจำของผู้คนทั่วโลกที่มองว่าชาวเยอรมันเป็นคนที่ตึงเครียด รองเท้าแตะเบียร์เคนชต็อก ที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพผู้ใช้งานมากกว่าแฟชั่น จนได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วโลกมาถึง 245 ปี สติกเกอร์เปลี่ยนสีรถ สิริมงคลต้นทุนต่ำ แต่เพิ่มมูลค่าอบอุ่นใจเพียงแรกติด สะท้อนความเชื่อเรื่องโชคลาง ยังช่วยประหยัดงบไม่ทำสีใหม่ทั้งคัน รวมถึงกระบอกตั๋วรถเมล์ ในเสน่ห์เสียงการเขย่ากระบอกเป็นสัญญาณแจ้งเตือนให้ผู้โดยสารเตรียมชำระค่าโดยสาร ยังมาพร้อมกับฟังก์ชันการใช้งานสารพัดประโยชน์ นอกจากนี้ ยังฉายภาพยนตร์สั้นที่เล่าถึงการแลกเปลี่ยนมุมมองต่างวัฒนธรรมโดยกลุ่มนักศึกษาจากทั้งสองประเทศ ในโครงสร้างไม้ไผ่ที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาความสร้างสรรค์ที่อยู่รอบตัวอันนับไม่ถ้วน แต่มักถูกละเลย
ทั้งนี้ นิทรรศการดังกล่าวได้สัญจรไปจัดแสดงในหลายประเทศ ซึ่งสถาบันเกอเธ่จะเตรียมมุมแปะกระดาษ Post It เพื่อรับฟังความคิดเห็นที่มีต่อเยอรมัน และจะนำกลับไปจัดแสดงที่เยอรมนีต่อไป โดยนิทรรศการเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่วันนี้ – 15 กันยายน 2562
ที่ตั้ง ห้องแกลเลอรี่ ชั้น 1 อาคารไปรษณีย์กลาง (ส่วนหลัง) TCDC กรุงเทพฯ
เปิดทุกวันอังคาร – วันอาทิตย์ 10.30 – 21.00 น.
โทรศัพท์ 02-105-7400
เว็บไซต์ tcdc.or.th