Tuesday, May 23, 2023
More

    เลียบคลองบางกอกน้อย ตามรอยนิราศของสุนทรภู่

    ชวนเดินทางเลาะลัดคลองบางกอกน้อย ตามรอยเส้นทางนิราศของสุนทรภู่ มหากวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งได้ร้อยเรียงเรื่องราวการเดินทางอันผ่านสถานที่สำคัญในอดีต ซึ่งครั้งนี้จะพาไปไหว้พระ 4 วัดโบราณ และเยี่ยม 1 ชุมชนเก่าแก่ ที่มีเสน่ห์และความสำคัญที่ควรค่าแก่การมาสัมผัส


    A วัดดุสิดารามวรวิหาร
    เดิมชื่อวัดเสาประโคน เนื่องจากเคยมีเสาประโคนปักอยู่บริเวณใกล้ๆ กับพระอุโบสถ ซึ่งเป็นเสาที่ใช้ปักหลักเขตแดนของบ้านเมืองในช่วงกรุงธนบุรีและต้นรัตนโกสินทร์ ดังปรากฏในนิราศภูเขาทอง ที่สุนทรภู่ได้ประพันธ์ขึ้นเมื่อตอนเดินทางผ่านวัดนี้เพื่อไปอยุธยาดังกลอนบทหนึ่งว่า …ถึงอารามนามวัดประโคนปัก ไม่เห็นหลักลือเล่าว่าเสาหิน เป็นสำคัญปักแดนในแผ่นดิน มิรู้สิ้นสุดชื่อที่ลือชา… โดยหลังสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงศรีสุนทรเทพ พระราชธิดารัชกาลที่ 1 ทรงบูรณะวัดแห่งนี้ โดยมีหลักฐานสำคัญคือซุ้มเสมาทรงกรุช้างครอบอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะในช่วงนั้น ซึ่งอยู่รอบพระอุโบสถสถาปัตกรรมแบบหย่อนท้องสำเภาอันเป็นหลักฐานชี้ว่าสร้างตั้งแต่สมัยอยุธยา ภายในประดิษฐานพระประทานที่เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะแบบอยุธยา ตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังภาพเทพชุมนุมทศชาติชาดก พุทธประวัติตอนมารผจญ และตอนเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นภาพที่ยกย่องกันว่างามยอดเยี่ยมของยุครัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นฝีมือของช่างในราชสำนักสมัยรัชกาลที่ 3



    ที่ตั้ง ซอยวัดดุสิตาราม


    B ชุมชนบ้านบุ
    บริเวณปากคลองบางกอกน้อยมีชุมชนเก่าแก่ ซึ่งมีชื่อเสียงด้านหัตถกรรมโบราณ คือขันลงหิน ภาชนะที่นิยมใช้กันในสมัยก่อน โดยสืบทอดวิชามาจากบรรพบุรุษที่อพยพมาหลังจากกรุงศรีอยุธยาแตกเมื่อกว่า 250 ปี ซึ่งสุนทราภู่กล่าวในนิราศสุพรรณว่า …ยลย่านบ้านบุตั้งตีขัน ขุกคิดเคยชมจันทน์แจ่มฟ้า… การทำขันลงหินเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน ปัจจุบันเหลือเพียงโรงงานขันลงหินเจียม แสงสัจจา ของคุณเมตตา เสลานนท์ รายเดียวในเมืองไทย ซึ่งยังคงรูปแบบวิธีดั้งเดิม อันเป็นงานฝีมือที่ต้องใช้ความปราณีตและความพละกำลัง โดยยังคงทำขันด้วยมือในทุกขั้นตอน สำหรับคำว่าลงหิน มาจากการขัดผิวให้เรียบด้วยหิน ส่วนบุหมายถึงการตีขึ้นรูป อันนับเป็นภูมิปัญญางานช่างฝีมืออีกหนึ่งแขนงที่นับวันลมหายจะโรยรินลงทุกที


    ที่ตั้ง แยกบางขุนนนท์ ซอยจรัญสนิทวงศ์ 32 (ข้างวัดสุวรรณาราม)


    C วัดศรีสุดารามวรวิหาร
    ในอดีตมีชื่อว่าวัดชีปะขาว สันนิษฐานสร้างมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งต่อมาในรัชกาลที่ 1 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระพี่นางเธอของรัชกาลที่ 1 ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์ ต่อมารัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระอุโบสถใหม่ สิ่งสำคัญภายในวัดคือ พระศรีอริยเมตไตรยที่ประดิษฐานในวิหาร ที่มีลักษณะแตกต่างจากทั่วไป กระหม่อมไม่มีเนื้อนูนซึ่งสื่อถึงการรอมาตรัสรู้ในอนาคต นอกจากนี้ที่นี่ยังเป็นสำนักเรียนของสุนทรภู่ในวัยเด็ก ซึ่งกล่าวไว้ในนิราศสุพรรณว่า …วัดปะขาวคราวรุ่นรู้ เรียนเขียน ทำสูตรสอนเสมียน สมุดน้อย เดินระวางระวังเวียน หว่างวัดปะขาวเอย เคยชื่นกลืนกลิ่นสร้อย สวาทห้องกลางสวน… โดยมีอนุสาวรีย์สุนทรภู่ รวมถึงหลวงพ่อโต ที่เป็นแม่พิมพ์ขององค์จริงซึ่งประดิษฐานภายในที่วัดโนนกุ่ม (วัดสรพงษ์) จ.นครราชสีมา 


    ที่ตั้ง ซอยวัดศรีสุดาราม ถนนบางขุนนนท์


    D วัดชลอ
    สุนทรภู่ได้เขียนไว้ในนิราศพระประธมเมื่อผ่านหน้าวัดชลอว่า วัดชลอใครหนอชลอฉลาด เอาอาวาสมาไว้อาศัยสงฆ์ ช่วยชลอวรรักษาว่าพี่รักทรง ให้มาลงเรือร่วมพรมที่นอน ซึ่งสมัยก่อนเวลาเดินเรือต้องมาหยุดชะลอบริเวณแห่งนี้เนื่องจากเป็นทางแยก โดยสิ่งสำคัญในวัด ได้แก่ อุโบสถหลังเก่าที่สร้างตั้งแต่สมัยอยุธยา มีสถาปัตยกรรมที่แอ่นโค้งแบบท้องเรือสำเภา ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะแบบอยุธยา รวมถึงอุโบสถหลังใหม่ด้านสถาปัตยกรรมแบบเรือสุพรรณหงส์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก สักการะ ซึ่งประดิษฐานหลวงพ่อดำ และหลวงพ่อมงคลแสนสุข ให้ได้มากราบสักการะ


    ที่ตั้ง เยื้องซอยบางกราย-ไทรน้อย 22


    E วัดบางอ้อยช้าง
    วัดแห่งนี้ปรากฏในนิราศพระประธมของสุนทรภู่ว่า …บางอ้อยช้างโอ้ช้างที่ร้างโขลง มาอยู่โรงรักป่าน้ำตาไหล พี่คลาดแคล้วแก้วตาให้อาลัย เหมือนอกไอยราร้างฝูงนางพังฯ… สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ปัจจุบันอุโบสถเป็นหลังใหม่ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะแบบสุโขทัย ประดับด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังด้วยศิลปะสีอะคริลิกโทนร้อนอันวิจิตรงดงาม นอกจากนั้นยังมีพิพิธภัณฑ์วัดบางอ้อยช้าง รวบรวมของเก่าแก่ที่สำคัญในชุมชน ตู้ธรรมโบราณที่เก็บรักษาคัมภีร์ใบลาน

    รวมถึงพระรูปมาฉายาลักษณ์ ร.5 เมื่อครั้งเสด็จมาพระราชทานทอดผ้ากฐิน ซึ่งนับว่าเป็นมรดกล้ำค่าของชุมชน


    ที่ตั้ง ซอยบางกรวย-ไทรน้อย 29