“เสียงดังดั่งระฆังวัด ทนทานมากกว่าร้อยปี และมีตะเข็บ 8 ชั้น” คือนิยามของบาตรพระทำมือแห่งบ้าน บาตร ชุมชนหัตถกรรมเก่าแก่กว่า 200 ปี ในย่านวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร (ภูเขาทอง) ริมคลองมหานาค
ชุมชนบ้านบาตร เป็นชุมชนโบราณที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มีชื่อเสียงด้านการทำบาตรพระ อาจเรียกได้ว่าเป็นชุมชนแห่งเดียวในประเทศไทยและในโลกที่มีการทำบาตรพระด้วยมือตามแบบอย่างโบราณ
ครูหิรัญ เสือศรีเสริม ครูช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2559 ผู้พลิกฟื้นชุมชนบ้านบาตรให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เล่าให้ฟังว่า รุ่นคุณปู่ย้ายมาตั้งรกรากอยู่ละแวกนี้ตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ต่อมารุ่นคุณพ่อก็ยึดอาชีพนี้มาตลอด แต่เมื่ออุตสาหกรรมผลิตเปลี่ยนแปลงไป การผลิตบาตรด้วยมือถูกแทนที่ด้วยบาตรปั๊ม ทำให้คนเลิกลาไปประกอบอาชีพอื่น จนปี 2514 กลับมารวมกลุ่มกันอีกครั้ง ปัจจุบันมีบ้านทำบาตร 6-7 หลัง มีช่างกว่า 30 คน เมื่อมีงานสั่งทำเข้ามาก็จะกระจายไปให้แต่ละบ้านทำ สร้างรายได้ในชุมชน
ต่อมาภาครัฐมีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้บ้านบาตรเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บาตร จึงให้การสนับสนุน ตั้งกลุ่มอนุรักษ์ไทยและภูมิปัญญาไทย (ชุมชนบ้านบาตร) ขึ้น มีผู้คนสนใจเข้ามาเรียนรู้ ซึ่งครูหิรัญสอนให้ฟรี ไม่คิดค่าใช้จ่าย
สำหรับขั้นตอนการทำบาตรมี 8 กระบวนการ ได้แก่ 1. ทำขอบบาตรเพื่อกำหนดรูปร่าง 2. ตัดแผ่นเหล็ก 3. การเชื่อมประสานรอยตะเข็บ 4. ตีตะเข็บ 5. ออกแบบรูปทรง 6. ตีเม็ด 7. ตะไบ และ 8. การลงดำหรือการทำสี โดยบาตร 1 ใบ จะใช้เวลาทำประมาณ 3 วัน โดยช่างจะแบ่งหน้าที่กันทำแต่ละขั้นตอน
ล่าสุด ครูหิรัญมีโอกาสได้ทำบาตรพระจากเหล็กน้ำพี้ ซึ่งมีความเชื่อว่าเป็นเหล็กมงคล ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งหากทำสำเร็จ จะกลายเป็นบาตรน้ำพี้ใบแรกของโลก โดยขั้นตอนการทำนั้นจะยากกว่าบาตรทั่วไป เพราะเหล็กน้ำพี้มีความแข็งแกร่ง ทนทานกว่าแร่เหล็กทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันความนิยมในบาตรพระทำด้วยมือเริ่มลดน้อยลง เหลือเพียงการผลิตขึ้นเพื่อจำหน่ายเป็นของที่ระลึกและรับสั่งทำจากพระภิกษุสงฆ์เท่านั้น ซึ่งหากได้มาเยือนชุมชนบ้านบาตรแห่งนี้ เราก็จะยังคงเห็นชุมชนที่มีชีวิตตามแบบฉบับของตนเอง ถือเป็นแหล่งความรู้ด้านศิลปะที่หาชมได้ยากอีกด้วย
ผู้สนใจงานหัตถศิลป์ของชุมชนบ้านบาตรสามารถติดต่อได้ที่ กลุ่มอนุรักษ์บาตรไทยและภูมิปัญญาไทย (ชุมชนบ้านบาตร) เลขที่ 124/1 ถนนบริพัตร แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กทม. โทร. 086 104 9639
ครูหิรัญ เสือศรีเสริม – ทายาทรุ่นที่ 6 ชุมชนบ้านบาตร
“ผมทำบาตรมาตั้งแต่อายุ 12 ขวบ สืบทอดมาตั้งแต่สมัยปู่ เมื่อมีโอกาสพลิกฟื้นชุมชนบ้านบาตรอีกครั้งก็อยากจะเผยแพร่ออกไปสู่คนรุ่นต่อไป ผมเปิดสอนทำบาตรฟรี จะคนในหรือคนนอกชุมชนมาเรียนได้หมด เปิดกว้าง ไม่หวงวิชา เพราะเราต้องการอนุรักษ์บาตรไทยสืบต่อไป”
ฉัตรชัย แก้วมาลา – อายุ 19 ปี ลูกศิษย์ครูหิรัญ ชุมชนบ้านบาตร
“ผมเรียนทำบาตรกับครูหิรัญได้ 2 ปี ตอนนี้ทำขั้นตอนตีตะเข็บ ตีเม็ด ต่อบาตรได้ เมื่อมีนักเรียนนักศึกษามาทำรายงานที่ชุมชน ผมก็เป็นลูกมือครูหิรัญสอนทำบาตรให้พวกเขาด้วย ผมมีเป้าหมายจะยึดการทำบาตรเป็นอาชีพ เพื่ออนุรักษ์ศิลปะทำบาตรไทยไว้ให้คนรุ่นหลังได้รู้จัก”