Thursday, October 5, 2023
More

    ANATOMY RABBIT ชีวิตศิลปินจากภูธรที่กระโดดสู่มหานครด้วยดนตรีที่เขารัก

    ในคลื่นลูกใหม่ของวงการเพลงไทย ชื่อของ Anatomy Rabbit วงดนตรีแนว Alternative Pop กำลังเป็นที่จับตามองกันไม่มากก็น้อย แม้ว่าวงจะเพิ่งมีอายุเพียง 2 ปี แต่สามารถก้าวขึ้นมาสู่แถวหน้าในหมู่วงดนตรีอิสระ ยืนยันจากเพลงออกมายัง? ซิงเกิลล่าสุดจาก ep.Hootok ที่ทะยานขึ้นอันดับ 4 ของคลื่นวิทยุออนไลน์อย่าง Cat Radio รวมถึงอีกหลายบทเพลงก่อนหน้าจากอัลบั้มแรก Holland Lop ที่ติดชาร์ตได้เช่นเดียวกัน อีกทั้งในรอบปีที่ผ่านมายังเป็นวงขาประจำสำหรับเทศกาลดนตรีหลักๆ ไม่ว่าจะเป็น Cat Expo, Future Fest หรือ บางกอกเฟส ฯลฯ และสิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือทั้ง โอ๊ก-สุพัฒน์กิจ ถวิลการ และ ทัช-ณัตฐพงษ์ สุทธิวงศ์กร ต่างก็ประจำการทำงานเพลงอยู่ที่ภูมิลำเนาอย่างอุดรธานี เราจึงชวนทั้งสองมาพูดคุยการเดินทางบนถนนสายดนตรี จนเป็นวงคลื่นลูกใหม่ที่ชวนให้ติดตามเป็นอย่างยิ่ง

    การเริ่มต้นของ Anatomy Rabbit

    โอ๊ก “เราสองคนมีวงหลักของ ตัวเอง ผมเป็นนักร้องนำและมือกีตาร์วง Wila ส่วนพี่ทัชเป็นมือกลองวง Jeebbs ซึ่งเราเล่นดนตรีที่ร้านเดียวกัน แล้วผมก็มีความคิดที่อยากสื่อสาร อยากทำไซด์โปรเจกต์ของตัวเอง ซึ่งตอนแรกจะทำคนเดียว เลยทักไปปรึกษากับพี่ทัชที่ตอนนั้นเริ่มอัดเพลงด้วยตนเอง แล้วพี่ทัชมีความสนใจเหมือนกัน เลยทำด้วยกันสองคน”


    ดนตรียุคโซเชียลกับโลกแห่งโอกาส

    โอ๊ก “ผมคิดว่าดีมากที่มีดิจิทัล เพราะไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนก็สามารถทำเพลงให้คนฟังได้ ชีวิตเราอาจจะเปลี่ยนเพราะยูทูบก็ได้ ตอนเปิดตัวเพลง Every Time ผมก็ไปตามเพจเพลงนอกกระแส ทักอินบ็อกซ์แนบลิ้งก์แล้วบอกว่าฝากเพลงด้วยครับ แต่ที่เป็นจุดเริ่มต้นของ โอกาสจริงๆ คือเป็นเพลงยังเยาว์ ได้เข้าชาร์ต Cat 30 และได้รับโอกาสให้ไปเล่น Cat Expo หลังจากนั้นก็ปล่อยเพลงตามลำดับ คนก็สนใจมากขึ้นๆ ซึ่งยุคนี้เราสามารถทำได้ด้วยตัวเอง แต่ก็อยู่ที่เราจะพยายามหาโอกาสให้ตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน เราก็เริ่มต้นจากความไม่รู้อะไรเลย แต่พยายามหาโอกาสให้ตัวเองได้มากที่สุด ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับเพลงว่าจะเดินทางไปได้ไกลแค่ไหน”

    ทำอย่างไรให้มีคนฟัง

    ทัช “ผมมองว่าถ้าเพลงถูกจริตเขา ก็จะทำให้ฟังเพลงของเรา ซึ่งเพลงจะ เดินทางไปของมันเอง เราไม่มีทางที่จะเอาเพลงไปโพสต์ในหน้าเฟซบุ๊กได้ทุกคน ถึงทำได้ถ้าเขาไม่ชอบจริงๆ เปิดแป๊บเดียวก็ปิด”

    ขาประจำเทศกาลดนตรี

    ทัช “ตอนแรกที่ทำวงก็ขอไปเล่น  ตามจังหวัดต่างๆ สักร้านหนึ่งเถอะ ไม่ได้หวังสูงขนาดนั้น พอได้ไปเล่นก็มีความท้าทายว่าเพลงเราต้องไปติดชาร์ตให้ได้ ถ้าวันหนึ่งทำได้ เราอาจจะมีงาน ซึ่งเพลงมันได้เดินทางไปสู่คนหลายๆ คน เหมือนมีฐานเพลงพอสมควร ทำให้ผู้ว่าจ้างกล้าที่จะให้เราไปเล่นในมิวสิกเฟสฯ ใหญ่ๆ ผมมองว่าเราก้าวเป็นสเต็ป เริ่มจากตอนแรกด้วยอัตราค่าจ้างที่น้อย เราก็เอาเงินที่ได้มาเพื่อเติมน้ำมันรถ เพราะเวลาไปเล่นคอนเสิร์ตก็จะขับรถไปกันเอง เหนื่อยแต่ว่าสนุก แล้วเป็นสิ่งที่เราต้องทำ ถ้าไม่ทำก็ไม่มีโอกาส”

    โอ๊ก “ปัจจุบันนี้ก็เป็นสเต็ปที่สองที่คนรู้จักมากขึ้น แต่ยังไม่เป็นที่สุดของเรา ซึ่งก็พยายามจะก้าวออกไปให้คนรู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี จากที่เราหวังจะทำอะไรที่สนุกๆ แล้วได้ผลตอบรับเกินกว่าที่เราคาดไว้ และให้ประสบการณ์ อันดับแรกเลยคือคนเขาเสียสละหลายอย่างเพื่อมาดูเรา เราอยากขอบคุณคนฟัง และคนจ้างงานด้วย เพราะเราเป็นวงที่อยู่ไกล ถ้าเทียบจากกรุงเทพฯ ด้วยเรื่องของการเดินทาง เขาก็ยังสละค่าเดินทางให้เราได้ไปเล่น บางทีเขาแค่อยากให้คนในพื้นที่ได้ดูเราเล่นเท่านั้นเอง”

    ก้าวต่อไปกับโอกาสสู่ค่ายเพลงในกรุงเทพฯ

    ทัช “มีคนชวนเยอะ แต่ที่ยังไม่ไปมีค่าย เพราะเราเริ่มด้วยตัวเอง ก็ยังแฮปปี้กับตรงนี้อยู่ แล้วตอนนี้เรามีผู้จัดการวง มีทีมงานที่เริ่มเข้าใจกัน ก็คิดว่าทำตรงนี้ไปก่อน การไปอยู่ค่ายเพลงไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี ก็เป็นความใฝ่ฝันที่อยากไป แต่สิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้มันตอบโจทย์กับวงมากที่สุดแล้ว วันหนึ่งถ้าอยากลองประสบการณ์ใหม่ๆ ก็ค่อยมาคุยกันอีกที”

    โอ๊ก “สำหรับตัวผมก็ขึ้นอยู่กับการคุยกัน ผมรู้สึกว่าตอนนี้สิ่งที่เราทำอยู่ก็โอเค บางคนอาจจะคิดว่าการเข้าค่ายเพลงเป็นอีกขั้นหนึ่งของตัวเอง อย่างนั้นก็ถูก แต่เราก็มองว่าจะไปได้อีกกี่ก้าวในรูปแบบที่ทำเอง แล้วอาจจะมีหลายสิ่งที่เรากังวล ผมเป็นเด็กบ้านนอกก็อาจจะไม่รู้เรื่องระบบอะไรมากมาย การทำงานก็อาจจะชะลอลงหรือเปล่า อยากให้เป็นการตัดสินของเรา เป็นสิ่งที่ดีที่สุดของเรามากกว่า อย่างที่พี่ทัชบอกว่าเราได้เริ่มอะไรมาด้วยตัวเอง แล้วมาถึงจุดนี้ส่วนใหญ่คือตัวเอง”