“Pride Month” งานฉลองที่เกิดขึ้นมาจากการต่อสู้อย่างกล้าหาญของชาว LGBTQ+
หากจะให้เห็นภาพการเกิดขึ้นของ “Pride Month” เราต้องเดินทางย้อนไปในช่วงทศวรรษที่ 1960s ในเมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้มีการออกกฎหมายห้ามไม่ให้ประชาชนแต่งตัวผิดตามเพศสภาพโดยกำเนิด ทั้งยังมีการห้ามเปิดให้บริการบาร์เกย์ทั่วเมือง ซึ่งนับเป็นช่วงที่ชาว LGBTQ+ (Lesbian – เลสเบี้ยน / Gay – เกย์ / Bisexual – ไบเซ็กชวล / Transgender, Transsexual – บุคคลข้ามเพศ และ Queer – บุคคลที่ไม่มีเพศกำหนดตายตัว) ต้องเผชิญกับความกดดันจากความไม่ยอมรับของทางสังคมอย่างหนักหน่วง
โดยจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของชาว LGBTQ+ เริ่มขึ้นในวันที่ 28 มิถุนายน 1969 ที่บาร์เกย์ สโตนวอลล์ อินน์ (Stonewall Inn) เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้ทำการจับกุมผู้ที่เข้าไปใช้บริการในบาร์ รวมถึงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งถูกกระทำรุนแรงกว่าปกติ จึงเกิดเป็นการลุกฮือของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่เดินหน้าลุกขึ้นสู้ต่อการถูกกดขี่อย่างไม่เป็นธรรมจากทั้งตัวบทกฎหมาย บรรทัดฐานของสังคมในตอนนั้น และเหล่าผู้มีอำนาจที่ทำการกดขี่ข่มเหงมายาวนาน
ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ถูกเรียกขานต่อมาในชื่อว่า “เหตุจลาจลสโตนวอลล์” ที่กินระยะเวลานาน 6 วัน และกลายมาเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศตามกฎหมายของชาว LGBTQ+ ในสหรัฐอเมริกา และในปีต่อมาก็ได้มีการจัดงานรำลึก “เหตุจลาจลสโตนวอลล์” ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการวันแห่งเสรีภาพบนถนนคริสโตเฟอร์ โดยใช้วันเสาร์สุดท้ายของเดือนมิถุนายน เป็นวันจัดงานแห่งเสรีภาพบนถนนคริสโตเฟอร์ เกิดเป็นวันสากลสำหรับการเรียกร้องความเท่าเทียมในสังคมของชาว LGBTQ+ เรื่อยมา
ต่อมาในปี 2000 ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บิล คลินตัน (Bill Clinton) ก็ได้ประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็น เดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาว LGBTQ+ ในชื่อ (Gay & Lesbian Pride Month) และ 9 ปีต่อมาในปี 2009 ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา บารัก โอบามา (Barack Obama) ก็ได้ประกาศให้เดือนมิถุนายน เป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (Lesbian, Gay, Bisexual, and Transgender Pride Month) และกลายเป็นเดือนแห่งเทศกาลการฉลองของชาว LGBTQ+ ที่รู้จักกันในชื่อ “Pride Month” มาจนถึงปัจจุบัน
4 ภาพยนตร์ช่วยเพิ่มความเข้าใจ และยอมรับในความหลากหลายทางเพศ
Moonlight (2016)
ภาพยนตร์ดราม่าเข้มข้นเจ้าของรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากออสการ์ปี 2017 ที่นำเสนอเรื่องราวของเด็กชายผิวสีที่เป็น LGBTQ+ ซึ่งมีการเพิ่มความลึกของประเด็นเรื่องความหลายหลายทางเพศ ด้วยการใส่ความเป็นคนชายขอบ คนผิวสีให้กับตัวละครหลัก โดยเล่าผ่าน 3 ช่วงชีวิตของตัวละคร ซึ่งฉายภาพความเป็นคนนอกของตัวละครหลัก ได้อย่างเจ็บปวด และชวนสะท้อนใจถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคม และความแปลกแยกของเด็กชายผิวสี ซึ่งเกิดจากอคติทางเพศของคนในสังคมที่ปรากฎอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้
ชมตัวอย่างภาพยนตร์กันก่อน
Call Me by Your Name (2017)
ภาพยนตร์สร้างจากนิยายเนื้อหากินใจนี้ เป็นเรื่องที่นำเสนอภาพความรักของชาว LGBTQ+ ผ่านโลเคชั่นที่สวยงามของอิตาลีในยุค 80 ซึ่งนอกจากจะนำเสนอเรื่องราวความรักของสองตัวละครชายต่างวัยได้อย่างลึกซึ้ง และชวนรวดร้าวแล้ว ยังเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับความนิยมจนเกิดการตามรอยของแฟน ๆ ทั่วโลกด้วย โดยภาพสวย ๆ ของภาพยนตร์เรื่องนี้ ส่วนหนึ่งยังเกิดมาจากผลงานของผู้กำกับภาพชาวไทยอย่าง คุณสยุมภู มุกดีพร้อม ที่เป็นผู้กำกับภาพของภาพยนตร์เรื่องนี้นั่นเอง
ชมตัวอย่างภาพยนตร์กันก่อน
รักแห่งสยาม (2007)
ภาพยนตร์ไทยที่เป็นเหมือนบันทึกสำคัญของการทลายกรอบบางอย่างที่ยึดมั่นกันมานานของคนในสังคมไทย กับการนำเสนอภาพความรักของวัยรุ่นชายสองคนที่เป็นชาว LGBTQ+ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องใหม่สุด ๆ ในวงการภาพยนตร์ไทย หรือแม้กระทั่งในสังคมบ้านเราตอนนั้น และกลายเป็นภาพยนตร์ไทยที่สร้างอิมแพ็คเกี่ยวกับประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศได้อย่างทรงพลังที่สุดเรื่องหนึ่งของสังคมเรา
ชมตัวอย่างภาพยนตร์กันก่อน
Out (2020)
ภาพยนตร์แอนิเมชันขนาดสั้นของค่ายพิกซาร์ (Pixar) ที่มีการใช้ตัวละครหลักเป็นเกย์ครั้งแรกของทางค่าย โดยทำขึ้นมาเพื่อส่งต่อเรื่องราวดี ๆ ที่ช่วยสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางเพศแก่ผู้ชม ซึ่งเรื่อง Out นับเป็นแอนิเมชันที่อยู่ในโปรเจกต์ “Pixar’s SparkShorts” ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้บรรดานักทำแอนิเมชันอิสระ ได้มีโอกาสแสดงผลงานใหม่ ๆ โดยไม่มีการจำกัดกรอบ โดย Out จะเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตัวละครหลักที่เป็น LGBTQ+ ซึ่งได้เรียนรู้เกี่ยวกับความสำคัญของการเป็นตัวของตัวเองแบบเปิดเผย และสามารถมีความสุขได้โดยไม่ต้องปิดบังตัวตนที่แท้จริง