หลังปล่อยซีรีส์ออริจินัลเน็ตฟลิกซ์ เรื่องแรกของไทยอย่าง “เคว้ง” และสารคดีออริจินัลเน็ตฟลิกซ์ เรื่องแรกของไทยอย่าง BNK48: One Take ล่าสุด เน็ตฟลิกซ์ ก็ถึงคราวออกภาพยนตร์ออริจินัลเน็ตฟลิกซ์ เรื่องแรกของไทยอย่าง “The Maid” ภาพยนตร์แนวสยองขวัญที่ครบรสไปด้วยความหลากหลายของการนำเสนอ
โดย The Maid หรือชื่อไทยว่า สาวลับใช้ นั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร และความน่าสนใจ มีอะไรบ้าง ไปหาคำตอบจากผู้กำกับ The Maid อย่าง ลี ทองคำ ที่เคยได้รางวัล ผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และรางวัลกรังปรีซ์ ในเวที 24-Hour Film Festival ในรัฐออร์แลนโด 2 ปีซ้อน
อีกทั้งยังได้ซาวด์ เอ็นจิเนียร์ของเรื่องอย่าง ไตรเทพ วงศ์ไพบูลย์ ผู้เคยสร้างสรรค์เสียงประกอบทั้งในภาพยนตร์ไทย และต่างประเทศมามากมาย ทั้งยังเป็นสมาชิกวงอิเล็กทรอนิกส์อย่าง Kidnappers และกรรมการผู้จัดการ บริษัท กันตนา ซาวด์ สตูดิโอ มาร่วมเติมสีสันความสยองขวัญอีกด้วย
Q&A กับผู้กำกับ–ลี ทองคำ
คอนเซปต์การสร้าง The Maid คืออะไร ?
จุดตั้งต้นแต่เดิมของ The Maid นั้น มาจากคอนเซปต์ของการควบรวมละคร 12 ตอนยาว ๆ ด้วยการบีบให้อยู่ในรูปแบบภาพยนตร์ความยาวประมาณ 1.45 ชั่วโมง แต่คงความสยองขวัญไว้ในทุกส่วน ทั้งการแคสติ้งนักแสดงที่หลายคนคุ้นหน้ากันดีในบทบาทหนังสยองขวัญอยู่แล้ว และมีการบิดสคริปต์ให้มันมีความต่าง และได้อารมณ์ร่วมในหลาย ๆ ด้านนอกจากแนวสยองขวัญ
แนวทางการเล่าเรื่องของ The Maid เป็นอย่างไร ?
The Maid เป็นภาพยนตร์แนวสยองขวัญที่เล่าเรื่องด้วยการแบ่งเป็น 3 Chapter ซึ่งมีความแตกต่าง และครบรส ทั้งดราม่า สยองขวัญ หักมุม และอีกหลายแนวที่รอให้ผู้ชมไปสัมผัสกัน ชนิดที่จะสร้างความเต็มตื้นทางอารมณ์ตามมาตรฐานของภาพยนตร์คุณภาพเรื่องหนึ่ง
เล่าถึงการทำงานสร้าง The Maid ให้ฟังหน่อย ?
นอกจากหน้าที่กำกับแล้ว ผมยังรับหน้าที่ตัดต่อ ดูแลการเล่าเรื่อง ฯลฯ ของการสร้างหนังเรื่องนี้ด้วย และมีการแคสติ้งนักแสดงที่หลายคนคุ้นหน้ากันดีในหนังสยองขวัญ อย่างพลอย ศรนรินทร์, สาวิกา ไชยเดช, ธีรภัทร์ สัจจกุล ฯลฯ เพื่อมาสร้างความสยองขวัญกันอย่างเต็มที่
ทั้งยังมีการทดลองแนวทางใหม่ ๆ เพื่อดูขอบเขตในการยอมรับของวงการภาพยนตร์ไทยตอนนี้ ในประเด็นละเอียดอ่อนต่าง ๆ ซึ่งผู้ชมจะได้เห็นกันในตัวภาพยนตร์
เห็นลิงมีบทบาทในภาพยนตร์ The Maid ด้วย แล้วลิงมีความสำคัญอย่างไร ?
ส่วนของตัวละครลิงนั้น หากดูรอบแรก และได้รู้ Mood and Tone ของภาพยนตร์เรียบร้อย พอมาดูรอบสอง เชื่อว่าทุกคนจะสามารถตีความการเข้ามามีบทบาทของลิง และตีความนัยอื่น ๆ ที่เสนออยู่ในภาพยนตร์ได้ชัดขึ้นแน่นอน
เสน่ห์ของภาพยนตร์ The Maid คืออะไร ?
เสน่ห์อย่างหนึ่งของภาพยนตร์สยองขวัญที่เชื่อว่าน่าจะดึงดูดให้หลาย ๆ คนติดอกติดใจ น่าจะเป็นเรื่องซีนกับจังหวะเสียงต่าง ๆ ที่สร้างความตกใจให้กับคนดูอย่างเรา ๆ เป็นระยะ โดย The Maid นับเป็นภาพยนตร์อีกเรื่องที่ตอบโจทย์ในด้านของการใช้เสียงมาสร้างอารมณ์ร่วมให้กับผู้รับชมได้เป็นอย่างดีซึ่งเราโชคดีที่ได้คุณไตรเทพวงศ์ไพบูลย์มาดูแลเรื่องเสียงให้หนังครบอรรถรสขึ้น
Q&A กับซาวด์ เอ็นจิเนียร์–ไตรเทพ วงศ์ไพบูลย์
การทำซาวด์เสียงใน The Maid มีความยากง่ายอะไรบ้าง ?
การได้มาลงแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเน็ตฟลิกซ์ ซึ่งมีระบบเสียง High-Quality Audio ทำให้ความพิถีพิถันของซาวด์ต่างๆที่ใส่มานั้นสามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มประสิทธิภาพที่สุด
โดยจริง ๆ ในหนัง The Maid เราพยายามเก็บเสียงจริงให้ได้มากที่สุด แต่ว่าบางครั้งก็ยังมีส่วนที่เสียงจริงโดดกับตัวหนัง จึงจำเป็นต้องใช้เสียงพากย์ทับลงไป ผสมกัน โดยสำหรับคนทำซาวด์ก็อยากใช้เสียงจริงทั้งหมด ซึ่งที่อยู่ในหนังก็ใช้เสียงจริงมากกว่าพากย์ทับ
การรับชมสตรีมมิ่ง The Maid ในอุปกรณ์ที่ต่างกัน มีผลต่อการได้รับอรรถรสของเสียงที่ต่างกันไหม ?
จุดนี้นับว่าเป็นข้อดีของเน็ตฟลิกซ์ตอนนี้ เพราะว่าเน็ตฟลิกซ์ได้คิดค้นระบบที่เรียกว่า High-Quality Audio ซึ่งเสียงที่ออกมาจะเทียบเท่ากับเสียงในโรงหนัง หรือเสียงในสตูดิโอที่เราทำ ส่วนของดีไวซ์ที่คนดูใช้ชม ถ้าเป็นแบบโฮมเธียเตอร์ หรือสมาร์ททีวี ก็จะได้อรรถรสเหมือนกับในสตูดิโอ แต่ถ้าดีไวซ์ประเภทมือถือก็ยังได้ Quality แบบที่เราทำเป็นสเตอริโอชัดเจนเช่นกัน
โดยต้องบอกว่า ซาวด์ในหนังเรื่องนี้ มีความสำคัญอย่างมากต่อเนื้อเรื่อง ซึ่งหนังแนวสยองขวัญมีส่วนที่ทำให้สามารถใส่ลูกเล่นของซาวด์ต่าง ๆ เข้าไปได้มาก แต่ว่าเราก็ต้องครีเอทเสียงขึ้นมาใหม่อยู่เรื่อย ๆ เพื่อให้เข้ากับสไตล์การรับชมในแต่ละยุคสมัยของบ้านเรา และต้องหาลูกเล่นใหม่ ๆ ในจังหวะการใส่ซาวด์ เพราะหลายคนที่ดูหนังแนวสยองขวัญเยอะ ๆ พอเจอจังหวะซาวด์เดิม ๆ อาจจะไม่ตกใจ ทำให้หนังเรื่องใหม่ เราก็อาจจะต้องใช้วิธีการเลื่อนซาวด์ขึ้นหรือลงไปจากปกติ ซึ่งเป็นส่วนที่ค่อนข้างสำคัญในการทำหนัง The Maid
เรียกได้ว่านอกจากการเป็นภาพยนตร์ออริจินัลเน็ตฟลิกซ์ เรื่องแรกของไทยแล้ว “The Maid” ยังเป็นอีกงานที่สร้างแนวทางใหม่ ๆ ของวงการภาพยนตร์บ้านเรา และยังเป็นผลิตผลการทำงานของบุคลากรไทยที่อาจนับได้ว่า ขึ้นชั้นระดับโลกไปแล้ว