ช่วงล็อกดาวน์เมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา Tattoo Colour ได้ส่งซิงเกิลใหม่ ‘ร้อนของ’ ออกมา ท่ามกลางความร้อนแรงของไวรัสมรณะ แม้ต้องกักตัวอยู่บ้าน แต่เชื่อว่าใครที่ได้ฟังผลงานใหม่ของทั้งสี่ ซึ่งเต็มไปด้วยสนุกสนาน คงพอที่จะมีเครื่องคลายเหงาได้ไม่มากก็น้อย จนเมื่อมีการผ่อนปรนระยะ 3 พวกเขาก็ส่ง ‘เซาเถอะ’ ตามมา ด้วยกลิ่นอายความเป็นอีสานบ้านเกิดของสี่หนุ่ม นับว่าเป็นสองเพลงแรกที่นำร่องอัลบั้ม ‘เรือนแพ ชุดที่ 6’
ซึ่งเบื้องหลังเมโลดี้และเนื้อเพลงที่เต็มไปด้วยความแปลกใหม่นั้น รังสรรค์ขึ้นจากการวิธีการทำเพลงที่แตกต่างไปจากเดิมของวง เมื่อ ดิม-หรินทร์ สุธรรมจรัส (ร้องนำ), รัฐ-รัฐ พิฆาตไพรี (ร้องและกีตาร์), จั๊มพ์-ธนบดี ธีรพงศ์ภักดี (เบส) และ ตง-เอกชัย โชติรุ่งโรจน์ (กลอง) ตัดสินใจย้อนวันวาน พาตัวเองกลับไปสู่ช่วงสมัยวัยรุ่นกันอีกครั้ง โดยได้รวมตัวอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน จำลองบรรยากาศเก่าๆ ที่เคยเป็นมาเมื่อตอนอยู่ขอนแก่น เพื่อระดมความคิดในการสร้างสรรค์เพลงชุดใหม่ ซึ่งไม่เพียงจะมีบทเพลงที่เขียนขึ้นร่วมกัน ยังได้เจอแนวทางที่พวกเขาจะยึดเป็นรูปแบบการทำงานของวงต่อจากนี้ไป
BLT Bangkok จะพาบุกถึงห้องประชุมในค่าย Smallroom เพื่อคุยเบื้องหลังการทำงานอัลบั้มชุดที่ 6 กับ Tattoo Colour ถึงรายละเอียดและเรื่องราวระหว่างกักตัวร่วมกัน จนได้เพลงที่พวกเขาออกตัวกันว่าร้อนของ อยากจะให้ทุกคนได้ฟังกันสุดๆ
ห่างหายจากการมีเพลงใหม่ไปร่วมๆ 3 ปี ตอนนี้ Tattoo Colour มีเพลงใหม่ออกมาแล้ว อยากรู้ว่าพวกคุณตื่นเต้นแค่ไหนกับงานเพลงอัลบั้มใหม่ เรือนแพ ชุดที่ 6
รัฐ: เราไม่ได้ตื่นเต้นแล้ว เพราะตอนทำอัลบั้มนี้ เราเช่าบ้านอยู่ด้วยกัน แล้วเหมือนกับว่ามันเห็นภาพกันมาแล้วว่าตอนทำสนุกกันมาก พอเอาสิ่งนี้ออกมาข้างนอกบ้าน มาทำให้เป็นเพลงจริงๆ ก็เลยไม่ได้เป็นเรื่องของคำว่าตื่นเต้น แต่เป็นเรื่องของการอยากถ่ายทอดความสนุก เปลี่ยนจากความตื่นเต้นเป็นอยากโชว์ของ
ดิม: เราอยากจะปล่อยผลงาน เพราะอย่างที่บอกว่าตอนอยู่ด้วยกัน พอเห็นภาพแล้วรู้สึกว่าต้องแบบนี้แหละ อยากไปให้ถึงแฟนเพลงเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ไม่ใช่หมายความว่าไม่ใส่ใจอะไรนะ ก็ต้องมานั่งแต่งตัว เหมือนกับแต่งตัวให้ลูกไปโรงเรียน ดีใจที่ลูกของเราจะได้ไปโรงเรียนสักที อย่างนั้นมากกว่า
ใครเป็นคนชวนว่าเราไปอยู่บ้านหลังเดียวกันเพื่อทำเพลงกันดีกว่า อะไรที่ตัดสินใจไปเช่าบ้านอยู่ด้วยกัน แล้วระหว่างการทำงานในบ้านหลังนั้นเป็นอย่างไรบ้าง
รัฐ: ผมเป็นคนชวน ก็ขังตัวเองอยู่ในบ้านกัน 7 วัน ด้วยสองเหตุผล เหตุผลแรกคือผมเริ่มตัน แต่อยากจะมีอัลบั้มใหม่นะ ซึ่ง Smallroom ก็ไม่ได้มากดดันเราว่าวันนี้พรุ่งนี้ต้องมีนะ เราอยากมีเอง แต่ก็คิดไม่ออก เลยคิดถึงเหตุผลที่สอง เมื่อก่อนตอนเป็นนักศึกษา เราอยู่ด้วยกัน เลยอยากได้ฟีลอย่างนั้นกลับมา เราเจอกันทุกวันก็จริง แต่เฉพาะตอนทำงาน มา Smallroom ไปทัวร์คอนเสิร์ต แต่มันไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันเหมือนตอนเด็กๆ ถ้าอย่างนั้นก็จำลองมันขึ้นมาแล้วกัน ก็ไปเช่าบ้านอยู่ด้วยกัน เผื่อจะมีไอเดียอะไรออกมาบ้าง โดยไม่ได้คาดว่าหวังว่าได้เพลงกี่เพลง ถ้าไม่ได้อะไรก็ได้อยู่ด้วยกัน แต่สิ่งที่ได้มาคือ หนึ่ง – ก็ได้เพลงมาอยู่นะ ถ้าเป็นเดโมก็ประมาณ 3-4 เพลง สอง – ได้วิธีการทำงาน เริ่มทำเพลงจากศูนย์ด้วยกัน ดูสิว่านั่งระดมความคิดรวมกันสี่คนแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ก็เป็นวิธีการทำงานที่สนุกดี
ดิม: รัฐเหมือนเป็นหัวหน้าวงนั่นแหละ ทุกคนก็บอกว่าอยากทำอะไร อยากจะลองอะไรก็บอกมา มีงานที่โหลดมากๆ บอกพวกกู งานเขาก็หลายทาง เลยตั้งโปรเจ็กต์นี้ขึ้นมาแบ่งเบาภาระเพื่อน
รัฐ: สิ่งสำคัญที่ได้จากบ้านหลังนั้นคือ เรียนรู้ในการทำงานด้วยกันอย่างไร ผมเลยรู้สึกว่าบ้านหลังนั้นก็มีประโยชน์ ในการทำให้เราช่วยกันทำงานเพลง แล้วหลังจากนี้หรืออัลบั้มต่อๆ ไป เราก็จะทำงานเพลงจากสี่คน ตอนนี้ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็ทำได้ เพราะได้เรียนรู้การทำงานจากบ้านหลังนั้นแล้ว
ดิม: อาจจะก่อนขึ้นคอนเสิร์ต 3-4 ชั่วโมง หรืออยู่ต่างจังหวัดด้วยกันก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมาเช่าบ้าน ต้องกักตัว คนไหนอยากได้ไอเดียอย่างไร เราก็จะรู้แล้ว
การอยู่บ้านหลังเดียวกัน 7 วันนั้น ให้ฟีลลิ่งเหมือนกับย้อนกลับไปอยู่บ้านด้วยกันที่ขอนแก่นแบบนั้นไหม
รัฐ: ไม่ถึงขนาดนั้น เพราะอยู่ด้วยกันที่ขอนแก่นมันนานกว่านั้น อันนี้ 7 วัน แล้วหลักๆ ก็ทำงานด้วย
ดิม: ตอนอยู่ขอนแก่นด้วยกัน ส่วนใหญ่คือรัฐทำเพลงเสร็จมาแล้ว แต่นี่เป็นคนละแบบ คือเริ่มต้นจากศูนย์ด้วยกัน
รัฐ: ถ้าให้เหมือนตอนอยู่ที่ขอนแก่น ไม่นับเรื่องทำงาน ตื่นมาก็ต้องชวนกันไปนั่นไปนี่ แต่นี่ตื่นมากินข้าวเที่ยง แล้วบ่ายสองก็ลงมาทำงาน ประมาณทุ่มนึงเบรกกินข้าวก่อน แล้วก็เข้ามาทำงานจนถึงสี่ทุ่มห้าทุ่ม ขึ้นไปพักผ่อน ข้างบนก็จะเป็นดาดฟ้า บรรยากาศสบายกว่า ก็กินเหล้านั่นแหละ กินไปสักพักก็คุยเรื่องอื่นไปไม่ได้ ก็ต้องเขียนเนื้อเพลง เพราะอยู่ข้างล่างเหมือนเป็นการหาไอเดียมากกว่า เลยไม่ค่อยเหมือนตอนอยู่ขอนแก่น ที่จะเหมือนคืออยู่ด้วยกันสี่คนเท่านั้น อีกอย่างคือตอนกินเหล้านั่นแหละ ซึ่งจัมพ์กับตงไม่ค่อยกินนะ แต่ไปไหนไม่ได้ก็ต้องมานั่งกิน ก็เอาเพลงมาอ้างว่าต้องเขียนให้เสร็จ
อย่างที่บอกว่าการทำงานเพลงต่างออกไป อยู่ด้วยกัน 4 คน ซึ่งพอเพลง 2 เพลงใหม่ออกมา สิ่งหนึ่งที่เห็นจากเครดิตคือทั้ง 4 คนมีส่วนร่วมในการเขียนเพลงทั้งเมโลดี้ เนื้อร้อง จะไม่ใช่เหมือนก่อนหน้าที่ รัฐ พิฆาตไพรี รับหน้าที่ขึ้นเพลงมาก่อน
รัฐ: บางคำคนนี้เขียน เมโลดี้คนนี้คิด ไอเดียมันก็รวมๆ กัน คือสี่คนไม่ได้มีใครเขียนมากกว่าใคร ก็จะสลับๆ กันไป
ซิงเกิลใหม่คือ ‘ร้อนของ’ กับ ‘เซาเถอะ’ ได้มาจากบ้านหลังนั้น
รัฐ: สองเพลงนี้ไม่ได้เกิดจากบ้านหลังนั้น แต่เกิดหลังจากบ้านหลังนั้น
จั๊มพ์: ตอนนั้นได้มาประมาณ 3 เพลงครึ่ง แล้วพอออกมาก็ได้เพลงร้อนของ และเซาเถอะเป็นเพลงสุดท้าย คือเราได้กระบวนการจากบ้านหลังนั้นมาแล้ว หลังจากนั้นเวลาไปทัวร์ ไปตามที่ต่างๆ เราก็เขียนเพลง ก็ค่อยๆ ทยอยออกมา
เพราะอะไรถึงเลือกปล่อยเพลงร้อนของ กับเซาเถอะ ซึ่งเป็นเพลงที่มีจังหวะเร็วทั้งคู่ออกมานำร่องงานเพลงชุดใหม่ ส่วนมากจะเห็นปล่อยเพลงเร็ว เพลงช้า อย่างละเพลงมาเบิกทางก่อน
ดิม: ด้วยความที่ Tattoo Colour เป็นวงที่มีเพลงช้าค่อนข้างเยอะ ซึ่งในหนึ่งลิสต์หนึ่งโชว์เราก็อยากเล่นทุกเพลงเลย พออยากเล่นทุกเพลงก็ใช้เวลานานมาก ทำให้เหลือเวลาเล่นเพลงสนุกสนานน้อยลงไป เราเลยอยากจะมีอัตราส่วนของเพลงเร็วเพิ่มเข้ามาหน่อย อยากได้ความฮิตของมันที่สามารถบรรจุเข้าไปในลิสต์ แล้วส่งผลกับเพลย์ลิสต์ให้สมูท ถ้าเพลงช้าออกมาใหม่แล้วติดตลาด เราก็เล่นเหมือนเดิม แต่อยากให้เพลงเร็วมันทำงานบ้าง
รัฐ: แล้วเราก็ชอบพูดว่าเพลงช้าเขียนแป๊บเดียว เพลงเร็วเขียนยากกว่า ซึ่งเป็นเรื่องจริง ช่วงที่เราอยู่ด้วยกัน ยังมีแรง ก็ทำเพลงเร็วสต็อกไว้ดีกว่า
ดิม: ตอนอยู่ในบ้านก็มีเพลงช้าเสร็จแล้วหนึ่งเพลงนะ ไม่ใช่จะทำแต่เพลงเร็ว อารมณ์มาตอนไหน มีพยางค์ไหนแปลกประหลาด อยากสนุก คิดออกขึ้นมาก็ทำเมโลดี้ เขียนเนื้อเพลง ด้วยความที่รัฐบอกว่า Tattoo Colour อยู่ในจุดที่ว่าเขียนเพลงมากกว่าเรื่องรัก เรื่องคิดถึงแฟนเก่าได้อยู่เหมือนกัน เพราะว่าเราก็เป็นวงป๊อปสนุกสนานอยู่หนึ่งวง ฉะนั้นอยากจะมีคำว่า ขึ้นรถไฟเหาะตีลังกา หมักบ่มมาแล้วจนถึงดีกรี เบิ่ดคำสิเว่า เราก็สามารถใส่คำสนุกๆ เหล่านั้นลงไปได้ ก็กลายเป็นว่าเพลงชุดนี้มันสนุกขึ้นเยอะเลย คำก็ไม่ใช่คำที่รัฐคิดแล้ว มาจากตงคิด จั๊มพ์คิด ดิมคิด
จั๊มพ์: ผมมองว่ายุคปัจจุบันเพลงเร็วมันขาดหายไป ถ้าเราดูภาพง่ายๆ เวลาเราดูคอนเสิร์ตเฟสติวัล เห็นเพลงเร็วกี่เพลง เพลงช้ากี่เพลง เพลงเร็วที่ฮิตมันน้อยจริงๆ
ถามถึงสองเพลงที่ปล่อยออกมาทั้ง ร้อนของ กับเซาเถอะ แต่ละเพลงมีที่มาอย่างไร
ดิม: ร้อนของเริ่มต้นจากผม หลังจากที่เราเช่าบ้านอยู่ด้วยกันเสร็จแล้ว พอออกมาก็กลัวคนปรามาสว่า จะได้อะไรจากการเข้าค่ายครั้งนี้ ผมเลยบอกไปว่าได้มาเพียบเลย พี่รุ่งพร้อมมั้ย (รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารค่าย Smallroom) พร้อมเปิดให้ฟังเลย พี่รุ่งก็อุตส่าห์ห้าม เพราะผมมาคนเดียว วงไม่ได้มาด้วย แต่ผมก็เปิดให้ฟัง ตื่นเช้ามาก็ นั่งสรุปเหตุการณ์ว่าทำอะไรบ้าง อ้อ…เปิดเพลงให้พี่รุ่งฟัง ซวยแล้ว ต้องบอกวงอย่างไรดี จนเล่นคอนเสิร์ตที่ต่างจังหวัดเสร็จ เลยบอกวงว่าเพิ่งเปิดเพลงให้พี่รุ่งฟังนะ ทุกคนก็ด่าว่าไปเปิดทำไม ไม่รอทุกคน ซึ่งจริงๆ ต้องรอทุกคนมาขายพร้อมกัน แต่ผมไม่เข้าใจ เพลงเสร็จแล้ว อารมณ์ประมาณว่า นี่เป็นเพลงที่ผมได้เข้าถ้ำ ร่ำเรียนฝึกวิชามาสำเร็จแล้ว ผมภูมิใจ คิดแค่นั้น แต่วงคิดว่าต้องส่งพร้อมกัน มึงร้อนของนะ ถ้าอย่างนั้นเดี๋ยวแต่งอีกสักเพลงที่เป็นนิสัยของมึงเลยแล้วกัน ว่ามีนิสัยร้อนของ มีอะไรเก็บไว้ไม่ได้ ร้อนของก็จะเข้ากับคาแรกเตอร์คนอย่างนี้
การเป็นคนร้อนของ วงมองกันอย่างไร เขาเป็นคนที่ดีไหม ควรทำ ไม่ควรทำอย่างไร
รัฐ: พูดในแง่เพลงแล้วกัน เราสมมติตัวละครคล้ายๆ ดิมขึ้นมา แต่โอเวอร์กว่า คือเป็นคนที่เก็บอะไรไว้ไม่อยู่ จีบสาวโอเวอร์ทุกคำ อย่างท่อนฮุกที่พูดถึง เมื่อไรก็ตามที่ไฟส่องสะท้อน คือคิดว่าตัวเองเป็น God of อะไรสักอย่าง ถือว่าเป็นข้อดีในเชิงที่ว่าได้เพลงมาหนึ่งเพลง แต่เพลงนี้เป็นเพลงที่เขียนเนื้อนานที่สุด
แล้วเซาเถอะ เพลงนี้มาอย่างไร
รัฐ: หลังจากเขียนเพลงร้อนของแล้ว เราก็นัดกันเรื่อยๆ หาวันว่างมาเขียนเพลงกัน เพราะว่าตอนนั้นใกล้ปลายปีแล้ว จะทัวร์คอนเสิร์ตยาว ไม่มีเวลาแต่ง ก็นัดกันวันเสาร์อาทิตย์ วันเสาร์เข้ามาอยู่กับเพื่อนๆ ซึ่งนอกจากพวกเราแล้วก็จะมีเพื่อนๆ ในแก๊งเดียวกันอย่าง พี่บิว Lemon Soup (รังสรรค์ ปัญญาใจ) อ๊อฟ Rats Records (อนุชา โอเจริญ) พี่เอี่ยว The Richman Toy (ปุรวิชญ์ ขาวลออ) วันนั้นเราอยากทำเพลงจังหวะกลางๆ เลยมาแชร์ไอเดีย เปิดเพลงให้ฟังว่าทุกวันนี้มีเพลงแบบนี้นะ เพื่อบิลด์ตัวเอง จั๊มพ์ก็ฮัมเป็นเมโลดี้ขึ้นมาแล้วก็ปรบมือ จั๊มพ์ปรบมือซาวด์ดีว่ะ เลยไปอัดเสียงปรบมือในคอมพิวเตอร์ เสร็จแล้วปิดคอมพิวเตอร์กินเหล้าต่อ วันเสาร์นั้นก็หยุดเท่านี้ เพราะผมรู้สึกอุ่นใจกับการได้เสียงปรบมือ คงเพราะมันสนุกมั้งครับ วันต่อมาก็นั่งแชร์ไอเดียจากเสียงปรบมือ แล้วคิดถึงภาพคนร้องเพลงในโบสถ์หรือ Gospel จังหวะของเพลงประเภทนี้จะมีการร้องโต้ตอบกันสองข้าง ส่วนเนื้อเพลง ดิมพูดมาว่าแม่อยากให้มีเพลงอีสานบ้าง เพราะเราเป็นคนขอนแก่น ผมก็อยากมีมานานแล้ว แต่หาจุดไม่ได้ จุดนี้ดีเพราะเป็น Gospel แล้วมาจากเสียงปรบมือ ซึ่งสำหรับ Tattoo Colour ถือว่าใหม่แล้ว เพราะปกติจะคิดจากคอร์ด ถ้างั้นซาวด์อีสานน่าจะเป็นไปได้ เราก็หาคำอีสานมาใส่กัน แต่ก็มีกำแพงว่าไม่ใช่ทุกพยางค์จะเป็นภาษาอีสาน อยากให้มีความเป็นไทยด้วย แล้วไม่อยากเล่าอีสานในแบบเป็นสิ่งที่ต้อยตำ่ ฉันเป็นคนบ้านาหลงรักเจ้าผู้สูงส่ง เราต้องภูมิใจในความเป็นอีสานมากกว่านั้น ต้องการจะสร้างว่าอีสานเป็นชาติพันธุ์ที่ยิ่งใหญ่ อีสานคือความสนุก คือม่วน
ดิม: เราไม่ได้บ่นว่าเขาทิ้งไปหาคนขับรถเบนซ์ น้ำตาอ้ายหลั่งรินกินกับเหล้าโท ไม่ได้เป็นแบบนั้น ไม่ได้เล่าเรื่องชนชั้น แต่มองความเป็นอีสานเป็นเรื่องสนุก การเลือกใช้คำก็เอาที่คนไทยทุกคนฟังเข้าใจ
รัฐ: ได้คำว่าเซาเถอะมา เพราะเป็นคำที่เราแซวกันเองอยู่แล้ว พอเซาก็เซาเถอะเด้อ เผอิญว่าคำนี้พ้องเสียงกับภาษาไทย ฟังว่าเศร้าเสียใจ มันได้สองความหมาย ก็ไหลยาวไปจนท่อนดิสโก้ เพลงนี้เขียนสองวันเสร็จพอดี ซึ่งเพื่อนเราที่ฟังเพลงอีสานลึกๆ ฟังเพชรพิณทองเข้าใจทุกคำ เขาชอบเพลงนี้ แต่ก็ถามด้วยความงงว่า ทำไมใช้เซาเถอะ ไม่ใช้เซาเถาะ ผมเลยบอกว่าเซาเถาะคือออริจินัล คนอีสานเขาเรียก แต่เราต้องการเซาเถอะ เพราะว่าอยากให้คนไทยฟังเป็นเศร้าเถอะได้ด้วย และการที่คนอีสานพูดเซาเถอะก็ไม่ผิด
ทำเพลงมาถึงอัลบั้มที่ 6 เพราะอะไรที่หนุ่มๆ จากขอนแก่นถึงเพิ่งจะมีเพลงที่มีเนื้อร้องเป็นภาษาถิ่น
รัฐ: หาจุดไม่เจอ วันที่มีแต่เสียงปรบมือ ผมดีใจมากเลย ได้ใส่แล้วเว้ย ยังไงก็ไม่ปล่อยคอนเซปต์นี้
แสดงว่าอยากจะทำอะไรแบบนี้มานานแล้ว
จั๊มพ์: มีความพยายามที่เราจะใช้คำอีสาน แต่วงยังยังหาความลงตัวให้กับจุดนี้ไม่ได้สักที
พอดีกับที่คนฟังเปิดรับภาษาท้องถิ่นด้วยไหม
รัฐ: ผมว่าคนฟังเปิดรับนานแล้ว เราเพิ่งทำได้มากกว่า
ตง: เมื่อเกือบสิบปีก็มีวง Cell จาก สปป.ลาว คนก็พร้อมฟังนะ
จั๊มพ์: อย่างในไทยเราก็เห็น Boyjozz เป็นดนตรีฟังก์ที่ใช้ภาษาใต้
ดิม: เราไม่ถึงขนาด นกน้อย อุไรพร ก็ต้องทำที่เป็นกลิ่นของเราด้วย ทำให้ดูหรู ไม่ใช่แค่เซิ้ง แค่โจ๊ะอย่างเดียว ซึ่งจริงๆ เพลงนี้ไม่ได้ตั้งใจทำออกมาเพื่อเป็นซิงเกิล จากร้อนของก็มีเพลงต่อคิวอยู่ ซึ่งเพลงนี้ทำเสร็จเกือบหลังสุด แต่แซงคิวขึ้นมาเลย เพราะพี่รุ่งฟังแล้วรู้สึกว่าฟังง่ายเหมือนเพลงร้อนของ แล้วก็เป็น Tattoo Colour ดี เป็นอีสานดี ลองมาเล่นกันสักทีแล้วกัน
ได้เห็นเสียงตอบรับอย่างหนึ่งในหน้าฟีด คือชื่นชมว่าเพลงเซาเถอะมีซาวด์ที่แปลกใหม่
รัฐ: เราตั้งใจเหมือนกัน เพราะพอเป็นใช้ภาษาอีสานแล้ว ก็กลัวเหมือนกันว่าคนจะมองว่าเป็นซาวด์อีสาน แต่ในเมื่อเป็นภาษาอีสานแล้วยิ่งต้องทำให้มันบาลานซ์กันด้วย เลยออกมาเป็นดิสโกที่ทันสมัยที่สุดเท่าที่วง Tattoo Colour จะประคองได้ พยายามทำให้ใหม่ขึ้น แต่ก็มีโซโล่กีตาร์สำเนียงเพลงอีสานบ้าง ไหว้ครูนิดนึง แล้วปกติเพลงเร็วของ Tattoo Colour จะถมให้หนาๆ หน่อย ก็ทำให้ซาวด์คลีนขึ้น คือเล่นไม่ต้องเยอะแต่ชัด
กระแสเพลงที่ร้องจากภาษาถิ่น ทั้งอีสาน เหนือ ใต้ กลายเป็นเรื่องที่ยอมรับอย่างแพร่หลายแล้ว กับการที่ศิลปินเอาภาษาบ้านเกิดของตัวเองมาใส่ในผลงานของตัวเอง คุณมองปรากฏการณ์นี้อย่างไรกัน
จั๊มพ์: ผมว่ามันสร้างข้อได้เปรียบของคนแต่ละถิ่น เหมือนกับว่าโครงสร้างภาษามีการบีบหลายๆ อย่าง ทำให้เราไม่สามารถใช้คำบางคำได้อย่างเข้าปาก เลยเหมือนมีบางคำที่ใช้แล้วข่มขืนโน๊ต แต่ภาษาถิ่นจะไม่ถูกวรรณยุกต์มาบีบมาก
รัฐ: ความยากของภาษาไทยคือให้ความสำคัญกับวรรณยุกต์มากๆ เลย พอวรรณยุกต์เพี้ยนความหมายเปลี่ยน แต่ภาษาถิ่นมันออกจากกฎนี้ไปแล้ว เลยเขียนสนุกขึ้น อย่างเพลงลูกทุ่งสตริงสมัยนี้ ทำนองก็เหมือนสตริงนี่แหละ แต่พอใส่ภาษาอีสานเข้าไปแล้ว มันอิสระในการลงเมโลดี้มากเลย แล้วก็ดีขึ้น ดังขึ้นด้วย ถือเป็นข้อได้เปรียบอันหนึ่ง
ชื่ออัลบั้มเรือนแพ ชุดที่ 6 มีที่มาจากไหน
ตง: คำว่าเรือนแพ มาจากว่าแต่ละจังหวัดจะมีร้านอาหารชื่อเรือนแพ แดดร่มลมตกคนมารวมกันช่วงตอนบ่ายๆ ก็กินเหล้ากัน เป็นบรรยากาศของความสนุกสนาน เฮฮา ครื้นเครง แล้วเป็นบรรยากาศเหมือนตอนที่เราเช่าบ้านอยู่ด้วยกัน อีกอย่างการทำเพลงของเราคือเวลาคิดอะไรไม่ออก พอมีใครใช้คำว่าเรือนแพคือตันแล้ว สมมติว่า ฉันนัดเธออยู่ที่… เรือนแพ แสดงว่าตันแล้ว ก็เป็นคำที่น่ารักดี เลยหยิบมาใช้ แล้วเติมคำว่าชุดที่ 6 เข้าไป เพราะเป็นอัลบั้มชุดที่ 6 ของเรา ก็จะเหมือนชื่ออัลบั้มเพลงลูกทุ่ง
ดิม: แบบก๊อต จักรพรรณ์ หัวแก้วหัวแหวน ชุดที่ 8 ดูมีคำสร้อยคำท้าย อย่างที่บอกเรือนแพตามต่างจังหวัดก็จะมีบรรยากาศแบบกินเหล้าต้ังแต่บ่ายแล้ว บรรยากาศของเราก็เป็นอย่างนั้น ภาพจะเป็นแบบ รัฐไปเที่ยวเรือนแพกับกูมั้ย รับรองไม่ได้เพื่อการพักผ่อนหรอก หนักด้วยซ้ำ การเข้าค่ายของเราก็หนักเหมือนกัน ทั้งคิด ทั้งทำงาน
4 ใน 6 อั้ลบั้มที่ผ่านมาของ Tatto Colour ตั้งชื่อเป็นภาษาไทย ทั้ง ชุดที่ 8 จงเพาะ, ตรงแนวๆ, สัตว์จริง และล่าสุด เรือนแพ ชุดที่ 6 อยากรู้ว่าอะไรถึงตั้งชื่ออัลบั้มด้วยภาษาไทย
รัฐ: อัลบั้มแรกก็ไม่นับเป็นภาษาอังกฤษ Hong Ser อัลบั้มที่ 2 Pop Dad ก็ตอบสนุกนะ ทำไมถึง Pop Dad ก็ป๊อปพ่อไง (หัวเราะ)
ดิม เป็นเพลงป๊อปรุ่นพ่อ เพราะเราชอบฟังแบบนี้ แล้วเพลงชุดนี้กลิ่นดนตรีก็เหมือนฟังเทปของพ่อ แต่จริงๆ แล้วก็คิดจากภาษาไทยก่อน แล้วค่อยเป็นภาษาอังกฤษ ส่วนอัลบั้มแรกตั้งชื่อว่า Her Song แล้วไปเขียน Hong Ser คือเขียนกวนๆ
ตง: พี่แหน ภรรยาของพี่รุ่ง บอกว่าให้กรอกข้อมูลเพื่อเอาไปทำข้อมูลบริษัท ชื่อวงอะไร Tatto Colour มีสมาชิกใครบ้าง รายชื่อเพลง จนมาถึงชื่ออัลบั้ม ผมก็ถามรัฐว่าชื่อ Her Song ใช่ไหม ก็ตอบมาว่าเออๆ Her Song Hong Ser นั่นแหละ ผมเลยบอกว่างั้นเอา Hong Ser นะ เขารู้แหละว่า Her Song ก็เลยได้ชื่อ Hong Ser มาเลย
ดิม: จากความที่ไม่ตั้งใจก็กลายเป็นภารกิจประจำอัลบั้มในการหาชื่อ อย่างชื่อเพลงก็คือ Thumbnail ของคลิป สมมติเพลงขาหมู คนเห็นคำว่าเกลียดความรักกับขาหมู อันไหนจะคลิกมากกว่ากัน พอ Hong Ser มาแล้ว จะทำยังไงก็ได้นี่หว่า (หัวเราะ) ชุดที่ 2 ชื่อชุดที่ 8 จงเพราะ ก็ไปกันใหญ่แล้ว ตรงแนวๆ ก็มี AR คนหนึ่งบอก เอาแบบเสียงตอนตั้งสายกีตาร์มั้ย ตรงแนวๆ แล้วมันตรงแนวทางพวกมึงเลย อยากทำเหมือนเดิม เหมือนชุดที่แล้ว สุดท้ายก็เกิดความยากขึ้นเรื่อยๆ คือเพลงแต่งไม่ยากหรอก ชื่อเพลง ชื่ออัลบั้มก่อนดีกว่า มันต้องคิดกันหน่อย ถ้ามันได้ก็ดี ถ้าไม่ได้ก็ต้องหาให้ได้
ความคืบหน้าของอัลบั้มใหม่ตอนนี้สักกี่เปอร์เซ็นต์แล้ว
รัฐ: เราอัดเสร็จแค่สองเพลงนี้ เพราะติดโควิด-19 แต่เดโมทำประมาณ 7 เพลงแล้ว อัลบั้มนี้มี 10 เพลง ไม่รวมเพลงพิเศษ เพราะช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เราทำเพลงพิเศษขึ้นมาเพลงหนึ่งชื่อว่า Isolationship โดยเขียนเมโลดี้แล้วให้แฟนคลับที่อยู่บ้านเขียนเนื้อเพลงมา เป็นกิจกรรมร่วมกับแฟนเพลง เป็นวิธีการทำงานที่ไม่ต้องจ่ายค่าเนื้อเพลง (หัวเราะ)
ดิม แฟนเพลงแต่ละคนก็เขียนได้ดี สามารถเข้าไปดูโพสต์นั้นได้ เราก็ยังเก็บไว้อยู่
การปล่อยเพลงออกมาในช่วงโควิด-19 มองในแง่การโปรโมท เป็นช่วงเวลาที่ดีไหม วงหวังผลไว้อย่างไร
รัฐ: ตอนส่งเดโม เราวางแผนกับพี่รุ่ง ว่าจะปล่อยเดือนละเพลง เต็มที่ห่างกันไม่เกินเดือนครึ่ง เลขกลมๆ มีนาหนึ่งเพลง เมษาหนึ่งเพลง พฤษภาหนึ่งเพลง ปลายปีก็ออกไปเจ็ดแปดเพลงแล้ว ปีหน้าก็ซื้ออัลบั้มกันได้แล้ว แต่พอโควิด-19 มา ก็ต้องถางออกไป
ดิม: ถามว่าถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากจะเลื่อนปล่อยเพลงหรอก ถ้าไม่ปล่อยเพลงตอนนี้ ศิลปินในค่ายที่มีคิวปล่อยเพลงตามเราก็เซไปหมด
รัฐ: จริงๆ เราจะปล่อยกันปลายเดือนมีนา ก็เลื่อนมาปลายเดือนเมษา เพราะตอนที่โควิด-19 มาใหม่ๆ ก็คุยกันว่าควรปล่อยมั้ย จะลงทุนทำโปรดักชันไปฟรีๆ หรือเปล่า แต่สุดท้ายก็ต้องปล่อย ถ้าเกิดรอก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะจบ เราก็ไม่สามารถมาพบเจอกัน มาอัดเพลงได้ ไม่สามารถประชุมเอ็มวีได้ ก็เว้นประมาณ 2 เดือน พอกลับมาเราก็อยากจะปล่อยเซาเถอะแล้ว แต่ว่าเอ็มวียังไม่ได้ถ่าย เลยปล่อย Lyric Video ไปก่อน
คงไม่มีศิลปินเคยเจอแบบนี้ ปล่อยเพลงแล้วมาเจอสถานการณ์ไวรัสระบาด แบบนี้วงได้รับประสบการณ์อะไรกัน ได้เรียนรู้อะไรบ้าง
รัฐ: ถ้าดูกระแสในแฟลตฟอร์มต่างๆ หรือยูทูบ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก คนก็มาเห็นเท่าเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงมากๆ เลยคือ เวลาที่เราไม่ได้ไปเล่นคอนเสิร์ต เจอแฟนเพลง ทำให้เพลงของเราไม่ได้ไปอย่างที่ใจหวัง เพราะเราเป็นวงที่เล่นสดแล้วคนถึงจะเก็ต อย่างเพลงเซาเถอะ ยังไม่มีเอ็มวี คนอาจจะชอบตัวเพลง อาจจะชอบ Lyric Video ที่มีภาษาต่างๆ แต่สุดท้ายแล้ว คนรอเราดูเล่นสด แล้วเราก็รอที่จะเล่นเพลงนี้เหมือนกัน แต่ก็เชื่อว่าอีกไม่นาน
จั๊มพ์: เล่นออนไลน์ก็ไม่ได้อย่างนั้น
มีเหตุการณ์โรคระบาดมากระทบกับช่วงที่แพลนจะปล่อยเพลงใหม่ เจอแบบนี้เฟลกันไหม
ดิม: ถ้าเฟลเราไม่ปล่อยเพลงที่สองออกมาติดๆ กันแบบนี้ ไม่เคยมีอะไรที่ต้องเฟล เพราะว่าอย่างที่บอกคือเซหมด ไม่ใช่แค่เซเฉพาะ Smallroom แต่เป็นงานของพวกเราด้วย พวกเรายังเหลือเพลงให้เล่นอีกเยอะเลย ร้อนของเหมือนกับเป็นทัพบุกตีหัวเมืองก่อน
รัฐ: ถ้าเฟล ก็นี่แหละเราอุตส่าห์ร้อนของมาอย่างดี โดนโควิด-19 ซัดมาทีเดียวหายร้อนเลย แทนที่จะร้อนของแล้วเราอัดเพลงทุกเดือน แต่อย่างน้อยเราก็ถือว่าได้ทำเพลงยุคโควิด-19 ซึ่งหลายวงอาจจะไม่ได้ทำ
แพลนชีวิตนักดนตรีกันอย่างไรต่อไปในยุค New Normal
รัฐ: ช่วงที่ผ่านมาเราก็พยายามจะมีกิจกรรม Live ให้เยอะหน่อย เราก็ไม่เกียงเรื่องออนไลน์ นักดนตรีอยู่บ้านๆ ก็เซ็ง ตอนนี้กราฟมันดีขึ้นแล้ว ทำให้เราได้กลับมาเล่นดนตรีได้เร็วขึ้น ยิ่งผ่อนปรนเฟส 5 ร้านก็เริ่มมีวงดนตรีเล่นแล้ว แต่เราอาจจะยัง
แสดงว่าเร็วๆ นี้ Tattoo Colour จะยังไม่มีเล่นสด
รัฐ: อยากมีนะ แต่ตอนนี้ยัง
ถ้าให้เปรียบเทียบวงการเพลงไทยช่วงนี้เป็นรอยสัก มันจะเป็นรูปอะไร
ตง: รถถัง เพราะว่าช่วงนี้ดุดัน มีการแข่งขันกันสูง
ดิม: สักกระจกหกด้านแล้วกัน ดูหลากหลายดี คือตอนนี้พี่ๆ น้องๆ อย่าง เขียนไขและวานิช Whal & Dolph พี่เล็ก Greasy Cafe จุลโหฬาร กล้าคิดกล้าทำกัน สังคมไทยเราก็เปิดรับกว้างขึ้น แล้วมีตลาดรองรับ ไม่จำเป็นต้อง GMM Grammy RS Smallroom ทุกวันนี้ลงยูทูบดังก็ดังเลย
จั๊มพ์: รูปแม่น้ำ ผมมองตรงข้าม มันเหมือนหลากหลายแต่รู้สึกว่านิ่ง ศิลปินใหม่เยอะแต่รู้สึกว่าเพลงที่ออกมาไม่ได้แปลกใหม่ เลยดูเหมือนเป็นแม่น้ำที่ไหลไปเอื่อยๆ นานๆ ทีถึงจะมีของที่น่าสนใจลอยมาบ้าง อย่าง The Toys ก็เหมือนเปิดเขื่อนใหม่ แล้วคนอื่นก็ตามไปหมด
รัฐ: ผมคิดว่าเป็นเหมือนแผงตลาดที่ใหญ่ขึ้น ถ้าสักไว้กลางหลังก็สักเป็นสตรีทสวยๆ มีตลาด มีของขาย เพราะรู้สึกว่าตอนนี้เพลงทุกแนวสามารถอยู่บนแผงได้หมดเลย เราเป็นคนที่เดินเข้าไปในนั้นแล้วจะหยิบ จะซื้อ จะชิม ทุกแนวมีโอกาสรอดเท่าเทียมกันมาก บางเพลงภาษาสแปนิชก็ดังกว่าเพลงบนบิลด์บอร์ดได้แล้ว สิ่งที่เกาหลีใต้พยายามทำก็ใกล้จะทำได้แล้ว หรือว่าเพลงอินเดียฮิปฮอป ผมเชื่อว่าอุตสาหกรรมเพลงไทยก็พยายามจะทำแบบนี้ สักวันหนึ่งก็อาจจะถูกผลักมาอยู่หน้าตลาดหรือแผงใหญ่ขึ้นได้ คนที่ได้เปรียบจริงๆ คือคนฟัง คนที่เหนื่อยคือคนแม่ค้าที่ต้องขยันตะโกน แล้ววงเราก็อยู่ในตลาดนี้ด้วย ก็พยายามตะโกนอยู่เหมือนกัน อีกอย่างที่บอกว่าเป็นแผงตลาด เพราะนิสัยของคนเจนฯ นี้ บางทีกัดขนมปังหนึ่งคำไม่ชอบแล้วทิ้งนะ ไม่รอให้ถึงไส้ข้างใน เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้พอดี ก็เป็นหน้าที่ของเราแล้ว จะบอกว่าสนุกขึ้นก็ถูก แต่เหนื่อยขึ้นก็ใช่
Tattoo Colour โลดแล่นอยู่ในวงการเพลงมากว่า 14 ปีแล้ว ชวนมองตัวเองกันหน่อยว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ วงมีวิวัฒนาการเป็นอย่างไร
ตง: เหมือนชีวิตคน มีการเปลี่ยนแปลง มีการเติบโต ตามสิ่งเร้าที่เกิดขึ้น แล้วก็มีการดำเนินไปของชีวิต วงก็คือคนเหมือนกัน มีอะไรก็รู้จักปรับตัวเก่งขึ้น เพราะว่าเราอยู่ในวงการมากขึ้น มี Source มากขึ้น ด้วยความที่โลกสมัยนี้มันเร็วด้วย อยากรู้อะไรก็รู้ได้เร็วขึ้น วงก็ต้องปรับตัวตามวิวัฒนาการ
จั๊มพ์: เห็นตั้งแต่เป็นคนที่ไม่ค่อยกลัวอะไร อยากทำอะไรก็ทำ เห็นคนๆ หนึ่งประสบความสำเร็จ เห็นอีโก้ เรื่องความถดถอยของวงว่าเกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง แล้วได้เห็นวงหลุดจากเหตุของปัญหาบางอย่าง แล้วก็ใช้ชีวิตต่อไปได้
ดิม: ผมแฮปปี้ขึ้นในเรื่องการแสดงความคิดเห็น มีความเปิดกว้างในการฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ปกติผมไม่ได้ฟังจั๊มพ์เรื่องการเขียนเนื้อเพลงหรอก พอจั๊มพ์เริ่มพูดมันก็มีอะไรของมัน ตงก็มีเมโลดี้ของมัน รัฐคุยกันอยู่แล้ว เพิ่งจะปีสองปีที่เราทำงานกันแบบนี้ แต่ที่ผ่านมาก็ผ่านอะไรกันมาเยอะ ดีไม่ดีมันมีอยู่แล้ว
รัฐ: ระยะเวลา 14 ปี เทียบได้เป็นสามเฟส เฟสแรกมองเห็นวัยรุ่นใสๆ ผมคิดถึงตอนทำเพลงที่ Smallroom ไฟแรง ใสๆ คือสมองไม่ได้มีความรู้อะไรเลย มีแต่ความอยากเท่านั้น แล้วอยากให้จบแค่หนึ่งอัลบั้มนั้น หมายความว่าเราตั้งเป้าความสำเร็จแค่อัลบั้ม Hong Ser เพราะพอเสร็จ Hong Ser อีกหนึ่งปีเราก็จะเรียนจบปีสี่ คงจะได้ไปทำงานของแต่ละคน ผมอาจจะหาทางเป็นโปรดิวเซอร์ นี่คือสุดยอดแล้วสำหรับเฟสแรก แต่พอได้ทำต่อในเฟสที่สอง คืออัลบั้มชุดที่ 8 จงเพาะ ได้เห็นวงดนตรีวงหนึ่งที่ดังเร็วมากแล้วมีข้อเสียอย่างไร เหมือนหนังวงดนตรีทั่วไป พอดังเร็วแล้วจะมีความอีโก้คับฟ้ามาก ผมเป็นทั้งหมดเลย มองหน้ากันสี่คนรู้เลยว่าใครทำเรื่องแย่ๆ มาบ้าง แล้วมาถึงเฟสสาม ทุกคนเป็นผู้ใหญ่แล้ว ลดความอีโก้ลงไปเยอะเลย มีเหตุผลมากขึ้น รับฟังกันมากขึ้น ทำงานตั้งใจมากขึ้น ที่ผ่านมาเราแย่ทุกอย่าง แต่ตั้งใจทำงานนะ และเริ่มเห็นผลกรรมของตัวเองในช่วงนั้น มันตามมาทันแล้ว บางคนเกิดขึ้นกับชีวิตครอบครัว บางคนเกิดขึ้นกับงาน บางคนเกิดขึ้นกับสุขภาพ บางคนเกิดขึ้นกับภาพลักษณ์ หรือความสัมพันธ์บางอย่างกับทั้งตัวเอง ที่บ้าน หรือค่ายก็ตาม ซึ่งผมชอบตัวเองในเฟสนี้มากกว่าเฟสที่สองเยอะ แต่ยังไม่เท่าเฟสที่หนึ่ง อาจจะมีสักวันหนึ่งที่เราโตขึ้นไปกว่านี้ แล้วทำให้กลับไปเฟสที่หนึ่ง เพราะเฟสที่หนึ่งมีความบริสุทธิ์ก็จริง แต่มีจิตวิญญาณมาก เชื่อว่าวันหนึ่งในเฟสที่สี่ เราอาจจะมีความสุขกว่านี้ ทำเพลงเพื่อบางอย่างมากกว่านี้ หรืออาจจะไปอีกรูปแบบหนึ่ง มีผลลัพธ์หรือเป้าหมายมากกว่านี้ สนุกขึ้นหรือว่าปลดปล่อยขึ้น แต่ว่าในเฟสสามนี้ ผมเชื่อว่าจะทำผลงานออกมาได้ดี ก็รอหลังโควิด-19 ที่จะมีอัลบั้มออกมา
ในช่วงชีวิตเฟสสองมีสิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่ง อย่างที่บอกว่าวงดังจากเฟสแรกเร็ว ทำให้เกิดเอฟเฟกต์หนึ่งคืออีโก้ แล้ว กลับลำมาเป็นผู้ใหญ่ในเฟสสามนี้ได้อย่างไร
รัฐ: มันมีความรู้สึกว่าในเมื่อเราก็เป็นมาหมดแล้ว พรีเซนเตอร์ก็เป็นแล้ว รู้สึกว่าสุดแล้ว เราก็ตั้งคำถามว่าแล้วยังไงต่อ ก็ต้องทำงานเพลงต่อ เพราะมันคือสิ่งที่เราอยากทำ สิ่งที่ผ่านมามันไม่พิสูจน์อะไร นอกจากเพลง เราก็ค่อยๆ ถอยออกมา เพื่อกลับมาที่การทำเพลงดีกว่า ถ้าจะบอกอะไรหรือช่วยแนะใครได้บ้าง ความโด่งดังเป็นสิ่งที่ดี แสดงว่าคุณทำงานมาหนักพอ สมควรจะได้รับมันแน่ๆ แต่พอได้รับปุ๊บ ก็ขอให้คิดว่าเรามาถึงจุดนี้ได้ยังไง ต้องเป็นเพราะเพลงหรือไอเดียครีเอทีฟของคุณบางอย่าง อย่าลืมกลับไปดูแลตรงนี้ คุณก็จะเป็นศิลปินที่เจ๋งยาวๆ ได้
จั๊มพ์: เวลาประสบความสำเร็จจากที่ทำงานหนักมาแล้ว การที่เราไม่ลดมาตรฐานตัวเองลงจะทำให้ต่อยอดไปได้ ไม่ใช่แค่ว่าประสบความสำเร็จแล้วก็ดับไป มันเป็นไปได้ที่บางคนผ่านมาผ่านไปก็มี อยู่ที่ว่าเราทำงานต่อแค่ไหน ทำงานหนักแค่ไหน วางตัวอย่างไร
ตง: ดีใจได้ ยินดีกับความสำเร็จได้ แต่อย่าเหลิง
จั๊มพ์: อย่ารีบลุ่มหลงกับความสำเร็จ ค่อยๆ ชิมไป แล้วจะกินได้นาน
Tattoo Colour มีความฝันอะไรที่อยากจะทำอีกไหม
ตง: อยากทำงานเพลงไปเรื่อยๆ สร้างมาตรการให้กับประเทศหรือวงการว่า อาชีพเล่นดนตรีก็เป็นอาชีพที่มีความเชื่อถือได้ อย่างเวลาไปสถานบันทางการเงินต่างๆ หรือสักวันหนึ่งถ้ามีใบประกอบอาชีพนักดนตรีก็จะดี
ดิม: เราอยากจะเป็นเหมือนกับพี่ๆ คาราบาว Paradox Potato ที่ไม่ว่าอายุจะเท่าไรก็ยังทำเพลงกันอยู่ แล้วยังมีแฟนเพลงรอรับฟังเสมอ ซึ่งถ้าให้ผมไปทำอย่างอื่น ก็คงทำไม่ค่อยเป็นเท่าไร แต่ที่เราเก่งเรารู้อยู่แล้ว ก็ต้องทำให้มันดีที่สุด อะไรที่ผิดพลาดมาแล้วก็มานั่งแก้ให้มันคม ทำให้เป็นอาชีพได้ ไม่ใช่เป็นแค่คำพูด ซึ่งสิ่งที่ทำให้เราอยู่ตรงนี้ได้คือคุณภาพ แล้วเราต้องเน้นขึ้นเรื่อยๆ เป็นงานคราฟต์ทำมือที่ต้องทำให้เนี้ยบ เพราะตลาดมันกว้างขึ้น
จั๊มพ์: สำหรับผมเหมือนคนเกษียณอายุแล้ว เป็นคนเกษียณอายุที่ยังคงไปสนุกกับเพื่อนๆ เพื่อนอาจจะยังไม่เกษียณหรอก ผมรู้สึกว่าความสำเร็จที่ใช้ชีวิตมามันอร่อยเหาะแล้ว มันได้รับมามากพอ เรามีโอกาสได้ทำเพลง ซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ยังเป็นวงที่มีเพลงฮิตติดตลาดไม่รู้เท่าไรต่อเท่าไร มีคอนเสิร์ตใหญ่ แล้วไม่ได้มีแค่ครั้งเดียว ล่าสุดก็เล่นที่หอแสดงดนตรีมหิดลสิทธาคาร (คอนเสิร์ต Tattoo Colour X Thailand Philharmonic Orchestra) หลังจากครั้งนั้นผมก็นึกไม่ออกว่าเราจะเล่นคอนเสิร์ตที่ใหญ่ไปกว่านั้นได้อย่่างไร มันผ่านจุดที่เติมเต็มความรู้สึกของการเป็นนักดนตรีแทบจะสมบูรณ์แล้ว ที่เหลือก็คงใช้ชีวิตให้สนุก
รัฐ: ผมไม่อยากให้วงนี้แตก เราจะไม่ไล่ใครออก อยากให้อยู่ไปเรื่อยๆ ต่อให้จะมีใครแก่ขึ้นหรือไปทำโปรเจ็กต์อื่นก็ตาม แต่อยากให้วงนี้ยังรันอยู่