ตลาดมิวสิกสตรีมมิ่งทั่วโลกบูมต่อเนื่อง ด้วยยอดขายแซงหน้าทุกแพลตฟอร์มมา 2 ปีซ้อน ขณะที่ในไทยกระแสความนิยมก็มีมากขึ้น ด้วยยอดฟังมากกว่า 3,000 ล้านครั้ง ขยายตัวถึง 50% ซึ่งคนไทยฟังเพลงผ่านแอปฯ 90 นาที/วัน โดยในกรุงเทพฯ มีผู้ใช้งานสูงที่สุด
มิวสิกสตรีมมิ่ง แซงทุกแพลตฟอร์ม 2 ปีซ้อน
ข้อมูลจาก IFPI Global Music Report 2018 ได้เผยให้เห็นถึงภาพรวมของรายได้ในอุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกล่าสุดปี 2560 โดยมีมูลค่าทั้งหมดราว 1.73 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 5.36 แสนล้านบาท) มากกว่าปี 2559 ที่มี 1.60 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 4.96 แสนล้านบาท) และนับว่าสูงที่สุดในรอบ 10 ปี
ซึ่งที่น่าจับตามองคือ ตลาดมิวสิกสตรีมมิ่ง มียอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 อีกทั้งยอดขาย 2 ปีที่ผ่านมาสูงเป็นอันดับ 1 แซงหน้าตลาดฟิสิคัล (แผ่นซีดี เทป แผ่นเสียง) โดยปี 2560 ครองสัดส่วน 38% ของอุตสาหกรรมเพลง ด้วยมูลค่า 6.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 2.05 แสนล้านบาท) เติบโตขึ้น 41.1% จากปี 2559 ที่มีมูลค่า 5.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.61 แสนล้านบาท)
คนไทยฟังเพลงผ่านแอปฯ 10 ล้านคน
สำหรับตลาดมิวสิกสตรีมมิ่งในประเทศไทย จากผลสำรวจในรายงาน JOOX Inprogress 2019 ระบุถึงพฤติกรรมการฟังเพลงแบบสตรีมมิ่งของคนไทยในปี 2561 ว่า แอปพลิเคชันสำหรับฟังเพลงที่มีคนเลือกฟังมากที่สุดคือ JOOX ด้วยสัดส่วน 72% ตามมาด้วย Spotify 25% และ Apple Music 11%
คุณกฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) ผู้บริหาร JOOX ประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดมิวสิกสตรีมมิ่ง ไม่ได้แข่งขันกันรุนแรงมาก เนื่องจากยังเป็นช่วงที่ผู้ให้บริการดึงดูดให้คนไทยฟังเพลงแบบถูกลิขสิทธิ์ โดยผลสำรวจการใช้งานของคนฟังเพลงผ่านมิวสิกแอปพลิเคชัน JOOX ในปี 2561 พบว่า มีคนฟังเพลงมากกว่า 3,000 ล้านครั้ง คิดเป็นอัตราการเติบโต 50% เมื่อเทียบจากปี 2559 ซึ่งมีมากว่า 2,000 ล้านครั้ง โดย 93% ฟังผ่านสมาร์ทโฟน และมียอดดาวน์โหลดในไทย 68 ล้านครั้ง จากผู้ใช้ Android 84% และ iOS 16% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มี 50 ล้านครั้ง โดยมีคนฟังกว่า 10 ล้านคน
ขณะที่คนฟังจะใช้เวลาอยู่บนแอปพลิเคชัน JOOX เฉลี่ยวันละ 90 นาที ซึ่ง 70% ใช้งานระหว่างเดินทางบนรถ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลกที่มี 66% และยังฟังขณะเดินเท้าอีกกว่า 60% ซึ่งมีกลุ่มคนอายุ 18-34 ปี เป็นกลุ่มที่ฟังมากที่สุด ด้วยสัดส่วนถึง 79% ของคนฟังเพลงในแอปฯ ทั้งหมด อีกทั้ง 89.5% ของผู้ใช้งานเลือกฟังเพลงไทย โดยกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่มีผู้ใช้งานสูงที่สุด 55% ของคนฟังทั้งประเทศ
ปัจจัยที่ทำให้คนไทยหันมาฟังเพลงผ่านทางมิวสิกสตรีมมิ่งมากขึ้น เนื่องจากความเร็วของสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ดีขึ้น ปริมาณดาต้าในแพ็กเกจ และราคาอุปกรณ์สมาร์ทดีไวซ์ที่ถูกลง ซึ่งผู้ใช้งานก็มีแนวโน้มในการฟังเพลงที่มีคุณภาพความคมชัดสูง (High-quality) และมีความหลากหลายมากขึ้น ขณะเดียวกันมีแนวโน้มที่ฟังเพลงมากกว่าดาวน์โหลดเก็บไว้เพื่อเป็นเจ้าของ
ทิศทางของ JOOX ในปี 2562 ซึ่งเป็นการก้าวสู่ปีที่ 4 จะเป็นเอ็นเตอร์เทนเมนท์แพลตฟอร์มเต็มรูปแบบ ซึ่งเชื่อมดนตรีเข้ากับการดำเนินชีวิตของคนยุคดิจิทัล โดยยึดกลยุทธ์ O2O2O (Online to Offline and back to Online Experience) ผสานแพลตฟอร์มออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่อุตสาหกรรมดนตรีไทย โดยมุ่งส่งเสริมผลงานศิลปินในหลากมิติ โดยเน้นโมเดล Collaboration Project ด้วยการนำศิลปินที่มีแนวเพลงต่างกัน มาทำงานร่วมกัน เพิ่มความแปลกใหม่ระหว่างศิลปินไทย และศิลปินจากประเทศอื่นๆ รวมถึงการถ่ายทอดสด Live Concert จากเกาหลี ที่ในปีนี้จะมีมากขึ้น
ในส่วนการพัฒนาแพลตฟอร์ม จะเน้นสร้าง Community ในกลุ่มคนรักเสียงดนตรี เนื่องจากความนิยมของฟีเจอร์ Karaoke ที่ปีก่อนมียอดการร้องสูงถึง 5 ล้านครั้ง และมีการแชร์เพลงที่ร้องแบบคาราโอเกะไปถึง 2.6 ล้านครั้ง โดยในปีนี้ยังจะเชิญชวน Influencer ในด้านต่างๆ เข้ามาสร้างความบันเทิงกับผู้ฟังมากขึ้น ผ่านฟีเจอร์ใหม่ JOOX VDO Karaoke ซึ่งจะเพิ่มลูกเล่นต่างๆ ด้านวิดีโอให้ทุกคนสนุกไปกับการร้องเพลงบนแพลตฟอร์ม ขณะเดียวกันยังใช้งานได้ทางคอมพิวเตอร์ผ่าน joox.com อีกหนึ่งช่องทางด้วย นอกจากนี้ ตั้งเป้าเพิ่มจำนวนผู้ใช้งานเป็น 12 ล้านคน ด้วยการรุกตลาดต่างจังหวัดมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันเริ่มฟังเพลงผ่านมิวสิกสตรีมมิ่งกันแล้ว
เจนวาย ผู้บริโภคหลักยุคเพลงดิจิทัล
เมื่อโลกแห่งการฟังเพลงได้เปลี่ยนสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกลุ่มคนฟังหลักคือคนรุ่นเจนวาย โดย คุณยุทธชัย เตยะราชกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บุคคลธนกิจธนาคารยูโอบี (ไทย) ได้ถอดรหัสพฤติกรรมการฟังเพลงของผู้บริโภคยุคดิจิทัล ว่า ในยุคที่กลุ่มคนมิลเลนเนียล หรือเจนวาย เป็นผู้บริโภคหลักในทุกอุตสาหกรรม เพราะเป็นเจเนอเรชันที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในไทย โดยมีจำนวนประมาณ 19 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 3 ของประเทศ นอกจากขนาดตลาดที่ใหญ่แล้ว คนกลุ่มนี้มีรายได้ค่อนข้างสูง แม้จะอยู่ในวัยหนุ่มสาวอายุเพียง 19-34 ปี และมีอัตราการใช้จ่ายต่อรายได้ที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับคนเจเนอเรชันก่อนหน้าในช่วงอายุเดียวกันอีกด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่เจนวายจะได้รับความสนใจจากทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมเพลง
คนเจนวายไม่ได้ใช้ชีวิตเหมือนพ่อแม่อีกต่อไป ดนตรีก็เช่นกัน โดยแก่นของคนรุ่นนี้คือ ความชอบ ความสนใจ และไลฟ์สไตล์ที่หลากหลาย มิอาจปฏิเสธได้ว่า ความชอบของคนเจนเนอเรชันนี้แตกต่างจากรุ่นก่อนๆ อย่างชัดเจน เห็นได้จากเพลงฮิตของยุคนี้ที่มีความหลากหลาย ทั้งแง่ของแนวเพลง และแนวดนตรี ต่างจากสมัยรุ่นคุณพ่อคุณแม่ที่เพลงฮิตส่วนมากจะเป็นแนวป๊อป แถมมีให้เลือกฟังไม่กี่แนว
การฟังเพลงถือเป็นไลฟ์สไตล์หนึ่งของผู้คนมายาวนานจนก้าวสู่ยุคดิจิทัล ที่การฟังเพลงเป็นเรื่องง่าย เข้าถึงโลกแห่งเสียงเพลงเพียงสมาร์ทโฟนเครื่องเดียว และง่ายยิ่งขึ้นด้วยการฟังผ่านมิวสิกสตรีมมิ่ง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ปัจจุบันตลาดมิวสิกสตรีมมิ่งได้ช่วยให้อุตสาหกรรมเพลงที่ซบเซามาตั้งแต่ปี 2547 – 2557 ด้วยมูลค่าที่ลดลงต่อเนื่องมา 11 ปี กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง จากตัวเลขมูลค่าที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 3 ปีให้หลัง และสิ่งที่น่าคิดคือ ยังทำให้การฟังเพลงแบบถูกลิขสิทธิ์ ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
____________________
คุณกฤตธี มโนลีหกุล – กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย)
“การฟังเพลงผ่านสตรีมมิ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ผู้คน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก โดยนิยมฟังผ่านสมาร์ทโฟนถึง 75% ตลาดเพลงในประเทศไทยถือว่ามีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ด้วยยอดสตรีมกว่า 3 พันล้านครั้งบน JOOX ในปีที่ผ่านมา มิวสิคคอนเทนต์ใหม่ๆ และเอ็มวียังเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดผู้ฟัง เรามีโอกาสต้อนรับศิลปินหน้าใหม่จากหลากหลายแนวเพลงที่มีบทบาทสำคัญบทแพลทฟอร์มของเรา และเราจะยังเดินหน้าพัฒนา JOOX ให้เป็นพื้นที่แห่งความบันเทิงด้านเสียงเพลง เพื่อตอบสนองทุกคนในอุตสาหกรรมเพลง”
[English]
More Than 10 Million Thais Enjoy Music Streaming
Music streaming service has been increasingly growing around the world, including Thailand, where locals listen to an average of 90 minutes of online music each day.
Information from IFPI Global Music Report 2018 suggested that the value of the global music industry hit a 10-year high and was worth 17.3 billion US dollars in 2017, compared with 16 billion US dollars in 2016.
For the music streaming sector, growth has continued for 13 years and its value even surpassed that of the physical market in 2017, with a total worth of 6.6 billion US dollar and a market share of 38%.
In Thailand, JOOX Inprogress 2019 stated that 72% of Thai customers of music streaming service have chosen JOOX free music-streaming application to enjoy online music, while 25% of them have opted for Spotify and 11% have chose Apple Music.
JOOX said that competition in Thailand has not intensified as the industry has been busy with the efforts to encourage listeners to go for copyrighted music while piracy remains a problem.
Thais have become more familiar with music streaming because of stable and good internet signal strength, attractive mobile data packages and more affordable smart devices.
The largest segment of online music service users in Thailand is undoubtedly the millennials, who represent one-third of the Thai population, or around 19 million.