Tuesday, May 23, 2023
More

    ชวนชม 4 วัดร้างในกรุงเทพมหานคร โบราณสถานที่ถูกลืมย่านฝั่งธน

    วัดร้าง คือมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่หลบซ่อนอยู่ในพื้นที่ชุมชนต่างๆ โดยกรุงเทพฯ มีวัดร้างจำนวนหลายสิบแห่ง ซึ่งเป็นวัดที่ถูกยกเลิกสถานะความเป็นวัดลง สันนิษฐานว่า บางวัดสร้างมาตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา หรือต้นรัตนโกสินทร์ และส่วนมากก็กลายสภาพเป็นวัดร้างในช่วงสมัยรัชกาลที่ 6 เนื่องจากจำนวนวัดที่เพิ่มมากขึ้น

    เมื่อยุคสมัยและค่านิยมเปลี่ยนไป คนเริ่มทำงานหลากหลายมากขึ้น ทำให้มีจำนวนพระสงฆ์กระจายไปในแต่ละวัดน้อยลง ไม่ค่อยมีคนที่บวชเป็นพระภิกษุตลอดชีวิต หรือบวชในระยะเวลานานๆ รวมถึงวัดหลายแห่งเป็นวัดของราษฎร ที่มีลักษณะเป็นเพียงวัดเล็กๆ ประจำชุมชน ไม่ใช่วัดหลวงขนาดใหญ่ ทำให้เมื่อวัดไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา สถานะของความเป็นวัดก็ไม่ครบองค์ประกอบ และกลายเป็นวัดร้างในที่สุด


    อย่างไรก็ตาม วัดร้างนั้น เป็นเพียงสถานะขององค์ประกอบการเป็นวัดที่ไม่ครบถ้วนเท่านั้น วัดร้างทั้งหลายจึงมีลักษณะคล้ายการควบรวมไปกับวัดใหญ่ที่อยู่ในบริเวณละแวกใกล้เคียงกัน ทำหน้าที่ดูแลร่วมกับชุมชน

    BLT ชวนสำรวจ 4 วัดร้างที่ตั้งอยู่ในย่านฝั่งธนบุรี อันมีประวัติศาสตร์น่าจดจำ

    1. วัดหลวงพ่อสุวรรณคีรี

    ตั้งอยู่ภายใน วัดคูหาสวรรค์วรวิหาร (วัดศาลาสี่หน้า) ถนนเพชรเกษม 28 เขตภาษีเจริญ

    เริ่มต้นที่ ชุมชนคลองบางหลวง และวัดคูหาสวรรค์ เดินลัดเลาะเข้าไปในตรอกเล็กๆ ที่ขนานไปกับคลอง จนเจอโรงเรียนสุธรรมศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็กในชุมชน ภายในบริเวณโรงเรียนก็จะเจอกับวิหารเล็กๆ ที่มีสถาปัตยกรรมแบบจีน จนแทบดูเหมือนศาลเจ้า ที่นั่น คือ วัดหลวงพ่อสุวรรณคีรี ที่หลงเหลืออยู่ สันนิษฐานว่าเป็นสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีพระพุทธรูปประธานปางสมาธิ ที่ชาวบ้านเรียกกันว่าหลวงพ่อสุวรรณคีรี เป็นวัดร้างเมื่อสมัยรัชกาลที่ 6 เพราะไม่มีพระจำพรรษาและยุบรวมกับวัดคูหาสวรรค์

    ภายหลังโรงเรียนสุธรรมศึกษามาเช่าสถานที่และได้รวมอาคารวิหารหลวงพ่อสุวรรณคีรีเข้าไว้ด้วยกันปัจจุบันยังมีประเพณีการแห่หลวงพ่อสุวรรณคีรีโดยการนำรูปแทนองค์จริงและแม้เป็นวัดร้างแต่ผู้คนก็ยังมาขอพรเรื่องสุขภาพการงานการเงินและบุตรหลาน

    2. วัดภุมรินทร์ราชปักษี

    ตั้งอยู่ภายใน วัดดุสิดารามวรวิหาร (วัดเสาประโคน) เชิงสะพานปิ่นเกล้า เขตบางกอกน้อย

    บริเวณตรงข้ามวัดดุสิดารามวรวิหาร เป็นที่ตั้งของ วัดภุมรินทร์ราชปักษี โดดเด่นด้วยวิหารสูงตั้งอยู่โดดเดี่ยว มีพระประธาน (หลวงพ่อดำ)ปางมารวิชัย สมัยอยุธยา มีพระอัครสาวกที่กำแพงเป็นงานปั้นนูนต่ำ เพื่อให้เหลือพื้นที่ในวิหารมากขึ้น ภายนอกอาคารมีลักษณะแบบโค้งสำเภา คาดว่ามีการบูรณะ สัญลักษณ์กระต่ายพระจันทร์ นกยูงพระอาทิตย์ จุดเด่นคือ มีเมขลา กับ รามสูร ฝั่งตรงข้ามพระประธานเป็นภาพกำแพง 7 ชั้นแทนสวรรค์ทั้ง 6 ชั้นและวิมานมีการแบ่งตัวสี

    ในสมัยรัชกาลที่ 6 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ตรวจสอบวัดแห่งนี้ ปรากฏว่ามีพระภิกษุอยู่จำพรรษาเพียงรูปเดียว จึงโปรดเกล้าฯให้ยุบรวมเข้ากับวัดดุสิดารามวรวิหาร ส่วนของพระอุโบสถหน้าบันทำเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑและมยุรารำแพน ประดับกระจกสีที่ยังพอมีให้เห็นบ้าง

    3. วัดน้อยทองอยู่

    ตั้งอยู่ภายใน วัดดุสิดารามวรวิหาร (วัดเสาประโคน) เชิงสะพานปิ่นเกล้า เขตบางกอกน้อย

    สำหรับ วัดน้อยทองอยู่ เป็นอีกหนึ่งวัด ที่มีสถานะเป็นวัดร้าง แต่ก็แทบจะไม่หลงเหลือความเป็นวัดใดๆ เลย เพราะเหลือแต่องค์พระปรางค์ที่คล้ายซากปรักหักพัง ปกคลุมด้วยแมกไม้ เหตุที่วัดน้อยทองอยู่ เหลือเพียงพระปรางค์องค์เดียวเป็นหลักฐานที่ปรากฏในวันนี้ เนื่องจากวัดโดนระเบิดทางอากาศสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ใน พ..2489 จนได้รับความเสียหายอย่างมาก ทางราชการจึงประกาศให้รวมเข้ากับวัดดุสิดารามฯอีกวัดหนึ่ง

    4. วัดสวนสวรรค์

    ตั้งอยู่ภายใน วัดคฤหบดี ถนนจรัญสนิทวงศ์ 44 เขตบางพลัด

    วัดสวนสวรรค์ ซ่อนตัวในซอยจรัญสนิทวงศ์ 44 ปัจจุบันวัดคฤหบดีเป็นผู้ดูแล วัดหลงเหลือแค่วิหาร กับ เจดีย์ มีเสมาแบบพิเศษหักมุม บางจุดมีซุ้มทรงกูบ รับกับมุมอาคาร สันนิษฐานว่าน่าจะมีการบูรณะในช่วงรัชกาลที่ 1 วัดแทบไม่ปรากฏหลักฐานใด แต่ที่มาของชื่อวัดมาจากหน้าบันลายปูนปั้น ที่เป็นรูปพระอินทร์ จึงว่าเป็นสวนของพระอินทร์ หรือ สวนสวรรค์ นั่นเอง ในประวัติศาสตร์ของวัดคฤหบดีว่า วัดสวนสวรรค์ มีฐานะเป็นวัดราษฎร์ และร้างไปเมื่อ พ..2463 และได้รวมเข้าด้วยกันใน พ..2519

    ภายในอุโบสถประดิษฐานหลวงพ่อดำ มีพระอัครสาวก นั่งถวายอัญชลี ด้านนอกมีพระปรางค์เล็ก 2 องค์ ซึ่งสูงชะลูดแบบรัตนโกสินทร์ ซึ่งอาจจะมีเจ้านายวังหน้าเป็นผู้ปฏิสังขรณ์ เพราะไม่ไกลจากวัดบวรมงคลที่อยู่ในความดูแลอุปถัมภ์ของวังหน้า


    Special Thanks : The Passport และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย