การแพร่ระบาดของ COVID-19 สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกในวงกว้างทั้งในภาคบริการและภาคอุตสาหกรรม โดยหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างสูงคงหนีไม่พ้นธุรกิจสายการบิน โดยคาดว่า รายได้ธุรกิจการบินสัญชาติไทยในปี 2020 มีแนวโน้มหดตัวราว 60% มาอยู่ที่ราว 1.21 แสนล้านบาท
ปลายมี.ค.หนักสุด ผู้โดยสารลดเกือบ 100%
สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (Intenational Air Transport Association: IATA) ได้ประเมินผลกระทบจาก COVID-19 ต่อธุรกิจการบินทั่วโลก (ณ 14 เม.ย. 2020) ภายใต้สมมติฐานที่จะมีการยกเลิกการ lock down การเดินทางภายในประเทศหลังไตรมาสที่ 2 ในปีนี้แต่การเดินทางระหว่างประเทศฟื้นตัวเพียง 50% ในไตรมาส 4 ปีนี้เนื่องจากการปลดล็อกการห้ามเดินทางระหว่างประเทศจะใช้เวลานานและยังมีผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ทำให้การเดินทางลดลงจึงทำให้ปริมาณการขนส่งด้านผู้โดยสาร (Revenue Passenger-kilometers: RPK) ทั่วโลกในปี 2020 ลดลงกว่า 48% ขณะที่รายได้ของสายการบินทั่วโลกจะหายไปมูลค่า 3.14 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือหดตัวราว 55%
ในส่วนของไทย COVID-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจการบินจนทำให้หลายสายการบินต้องหยุดให้บริการชั่วคราวตั้งแต่เดือนมี.ค. 2020 จนอย่างน้อยถึงสิ้นเดือนเม.ย. 2020 โดยในเส้นทางระหว่างประเทศสายการบินสัญชาติไทยต่างหยุดให้บริการบินทั้งหมดเช่น Thai lion air ในช่วง 25 มี.ค. – 30 มิ.ย. 2020, Thai airways ในช่วง 25 มี.ค. – 31 พ.ค. 2020, Thai AirAsia ในช่วง 27 มี.ค. – 24 เม.ย. 2020 เป็นต้น
โดยเป็นผลจากปริมาณผู้โดยสารในเส้นทางระหว่างประเทศที่เริ่มปรับลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปลายเดือนม.ค. 2020 และปรับลดลงมากยิ่งขึ้นภายหลังสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (Civil Aviation Authority of Thailand: CAAT) ออกแนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ทำการบินมายังไทยซึ่งบังคับให้ผู้เดินทางต้องมีใบรับรองแพทย์และประกันสุขภาพจึงทำให้ปริมาณผู้โดยสารระหว่างประเทศใน 5 สนามบินหลักของท่าอากาศยานไทย (Airports of Thailand: AOT) ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจนเกือบ 100%
ส่วนเส้นทางภายในประเทศสายการบิน Thai AirAsia และ Thai Lion air ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดจากปริมาณผู้โดยสารรวมกันกว่า 50% ได้เริ่มหยุดบินตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมี.ค. 2020 ตามปริมาณผู้โดยสารทั้งชาวต่างชาติและชาวไทยที่เริ่มปรับลดลงจนกระทั่งณต้นเดือนเม.ย. 2020 ปริมาณผู้โดยสารในสนามบินภูมิภาค 22 แห่งลดลงกว่า 98% ต่อวันทั้งนี้สายการบินที่ขอหยุดบริการชั่วคราวสามารถขออนุญาตจาก CAAT เพื่อกลับมาบินก่อนกำหนดได้
ทั้งนี้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ประกาศขยายเวลาห้ามเครื่องบินเข้าไทยถึง 31 พ.ค. 63 ยกเว้นเที่ยวบินใช้ในราชการ, เที่ยวบินขอลงฉุกเฉิน, ขอลงทางเทคนิคโดยไม่มีผู้โดยสารออกจากเครื่อง, เที่ยวบินทางการแพทย์, เที่ยวบินรับส่งบุคคลกลับประเทศไทยหรือกลับภูมิลำเนาและการขนส่งสินค้า
ธุรกิจการบินพึ่งพิงนักท่องเที่ยว
ด้านศูนย์วิจัย EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ประเมินว่ารายได้ธุรกิจการบินสัญชาติไทยในปี 2020 มีแนวโน้มหดตัวราว 60% มาอยู่ที่ราว 1.21 แสนล้านบาทภายใต้สมมติฐานการฟื้นตัวในธุรกิจสายการบินอย่างค่อยเป็นค่อยไปแบบ U-Shape ในลักษณะเดียวกับการประมาณการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในไทยของ EIC กรณี base case โดยการฟื้นตัวจาก COVID-19 จะค่อนข้างช้ากว่าการฟื้นตัวจากไวรัส SARS และ MERS ที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วแบบ V-Shape เพราะ COVID-19 ติดต่อได้ง่ายกว่าและยังแพร่กระจายไปยังทั่วโลกจึงสร้างผลกระทบต่อสายการบินอย่างรุนแรงกว่าจากการหยุดให้บริการการลดค่าใช้จ่ายการลดจำนวนเครื่องบินและในบางรายอาจได้รับผลกระทบถึงขั้นปิดกิจการจากสมมติฐานดังกล่าวโดยคาดการณ์ดังนี้
1) รายได้ธุรกิจการบินสัญชาติไทยจากเส้นทางระหว่างประเทศจะหดตัวกว่า 65% มาอยู่ที่ราว 8.2 หมื่นล้านบาทโดยมีปัจจัยหลักจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งมีสัดส่วนราว 80% ของผู้โดยสารเส้นทางระหว่างประเทศทั้งหมดซึ่ง EIC คาดการณ์ในกรณี base case ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยจะลดลงราว 67% จาก 39.8 ล้านคนในปี 2019 เหลือเพียง 13.1 ล้านคนในปี 2020 และปัจจัยรองจากการหดตัวของชาวไทยที่ไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้อีกด้วยซึ่งเป็นผลจากมาตรการห้ามเดินทางออกนอกประเทศของรัฐบาลหลายประเทศจากการแพร่ระบาดโรค COVID-19 ความกังวลของนักเดินทางกับการติดเชื้อและสภาวะเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอยทำให้รายได้ลดลงส่งผลให้รายได้ของสายการบินลดลงตามไปด้วย
2) รายได้จากเส้นทางบินภายในประเทศมีแนวโน้มลดลง 45% มาอยู่ที่ราว 3.9 หมื่นล้านบาทโดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศลดลงและอีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของการเดินทางภายในประเทศของชาวไทยจากความกังวลในการระบาดของโรค COVID-19 รวมถึงรายได้ที่ลดลงจากปัญหาสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศเช่นเดียวกัน
สายการบินทั่วโลกมีเงินสำรองไม่เกิน 3 เดือน
การขาดรายได้จากการหยุดให้บริการจะส่งผลให้สภาพคล่องของสายการบินสัญชาติไทยส่วนใหญ่ลดลงมากและสามารถรับภาระค่าใช้จ่ายที่ยังคงเหลืออยู่ซึ่งมีสัดส่วนราว 30% ของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนได้เพียงประมาณ 3 เดือนเท่านั้นจากการประเมินมูลค่าเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดรวมกับเงินลงทุนชั่วคราวจากงบการเงินณสิ้นปี 2019 และไม่รวมวงเงินกู้เพิ่มเติมควบคู่ไปกับการประมาณภาระค่าใช้จ่ายของสายการบินที่คาดว่ายังคงเหลืออยู่จากการหยุดให้บริการ
โดยแบ่งเป็น 1. ภาระค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนผันแปร (variable cost) ซึ่งคิดเป็น 2/3 ของต้นทุนทั้งหมดเช่นค่าเชื้อเพลิงค่าบริการผู้โดยสารค่าบริการเดินอากาศค่าเบี้ยเลี้ยงเดินทางเป็นต้นซึ่งสายการบินสามารถลดค่าใช้จ่ายได้ค่อนข้างมากราว 90%
และ 2. ภาระค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนคงที่ (fixed cost) กับต้นทุนกึ่งคงที่ (semi-fixed cost) ซึ่งคิดเป็นราว 1/3 ของต้นทุนทั้งหมดเช่นค่าเช่าเครื่องบินค่าซ่อมและบำรุงเครื่องบินค่าจอดเครื่องบินเงินเดือนพนักงานค่าคืนตั๋วค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเป็นต้นซึ่งสายการบินมีโอกาสลด/เลื่อนค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ราว 25-30% เช่นการขอลดเงินเดือน/เลิกจ้างพนักงานและผู้บริหารการเจรจาต่อรองกับ supplier และ outsource การระงับใช้เครื่องบินก่อนกำหนดหรือการปรับเครื่องไปใช้ขนส่งสินค้าแทนและการขอให้ผู้โดยสารเปลี่ยนเที่ยวบินหรือเก็บเป็นวงเงินแทนการให้คืนค่าโดยสารเป็นต้นโดยการลดรายจ่ายทั้งหมดจะทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายที่ยังคงเหลืออยู่ราว 30% ของรายจ่ายทั้งหมดในแต่ละเดือน
ปัญหาสภาพคล่องของสายการบินนี้ยังส่งผลให้บริษัทจัดอันดับเครดิตอย่าง Tris rating ได้ปรับลดอันดับเครดิตของบางสายการบินในช่วงต้นเดือนเม.ย. 2020 และแสดงความกังวลเป็นพิเศษต่อสภาพคล่องของสายการบินโดยทาง Tris rating ให้ความเห็นต่อสายการบินหนึ่งว่า “จะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐทั้งในด้านการเงินและสภาพคล่องเพื่อให้สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้จนกว่าการเดินทางทางอากาศจะคืนสู่ภาวะปกติ”
นอกจากนี้สายการบินต่างๆทั่วโลกยังประสบปัญหาสภาพคล่องเช่นเดียวกันโดย IATA พบว่าสายการบินทั่วโลกราว 75% มีเงินสำรองเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายไม่เกิน 3 เดือน
สายการบินไทยปรับตัวลดค่าใช้จ่าย
สายการบินสัญชาติไทยหลายสายการบินได้เร่งปรับตัวด้วยการลดค่าใช้จ่ายพร้อมทั้งหารายได้เพิ่มเติมเพื่อรักษาตัวให้อยู่รอดผ่านพ้นวิกฤต COVID-19 การหยุดให้บริการทั้งในเส้นทางระหว่างประเทศและในประเทศในช่วงที่ผ่านมาทำให้หลายสายการบินต้องปรับกลยุทธ์การดำเนินการด้วยการพยายามลดค่าใช้จ่ายที่ยังคงเหลืออยู่ซึ่งมีโอกาสลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ราว 25-30% ดังวิธีที่การกล่าวไปแล้วข้างต้นแล้วโดยเฉพาะด้านค่าใช้จ่ายพนักงานที่คิดเป็น 15% ของต้นทุนทั้งหมดพร้อมทั้งการพยายามหาช่องทางในการหารายได้เพิ่มเติมเช่น Thai airways พยายามเน้นให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศเพิ่มขึ้นและให้ครัวการบินไทยปรับมาขาย meal box, snack box และเบเกอรี่ผ่านทางร้านค้าและทางออนไลน์ส่วน Thai AirAsia มีการเปิดขายตั๋วล่วงหน้าและขายเบเกอรี่และเครื่องดื่มผ่านทางเดลิเวอรี่และ Nok air จัดโปรโมชัน “ซื้อก่อนบินทีหลัง” ด้วยการขาย voucher ล่วงหน้าเพื่อนำไปใช้ในช่วง 1 มิ.ย. 20 – 31 ธ.ค. 2020 เป็นต้นไป
อีกทั้งในช่วงต้นเดือนพ.ค. 2020 หลายสายการบินได้เตรียมกลับมาให้บริการเส้นทางในประเทศบางส่วนซึ่งอาจจะช่วยสายการบินได้เล็กน้อยเนื่องจากความต้องการเดินทางภายในประเทศยังซบเซาโดยในเดือนเม.ย. 20 อัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (load factor) เส้นทางภายในประเทศคาดว่าจะอยู่ที่เพียงราว 15%-20% ขณะที่อัตรา load factor ที่ทำให้สายการบินในไทยดำเนินการคุ้มทุนและมีกำไรในสถานการณ์ปกติจะต้องมากกว่า 70%-80% ขึ้นอยู่กับประเภทสายการบินเนื่องจากมีการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรงในธุรกิจการบิน
นอกจากนี้มาตรการเว้นระยะห่างที่นั่งตาม social distancing จะกดดันให้การขนส่งผู้โดยสารต่อเที่ยวลดลงอีกเช่นในกรณีเครื่องบินรุ่น Airbus a320 หากมีการห้ามใช้ที่นั่งตรงกลางจะทำให้จำนวนที่นั่งหายไปราว 1/3 ของที่นั่งทั้งหมดเป็นต้นจึงอาจส่งผลให้สายการบินมีโอกาสปรับเพิ่มค่าโดยสารเพื่อชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นซึ่งอาจไม่เหมาะกับสถานการณ์ความต้องการเดินทางในปัจจุบันที่ยังอ่อนตัวอยู่อย่างไรก็ดีสายการบินจะได้อานิสงส์จากต้นทุนที่ลดลงตามราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างรุนแรงพร้อมทั้งส่วนลดค่าบริการของทางภาครัฐเช่นค่าบริการเดินอากาศค่าจอดเครื่องบินเป็นต้น
รัฐไทยจะช่วยธุรกิจสายการบินได้อย่างไรบ้าง
สำหรับไทยความร่วมมือระหว่างภาครัฐภาคธุรกิจการบินและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการวางแผนการดำเนินการจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การฟื้นตัวของธุรกิจการบินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพโดยการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของภาครัฐและผู้ประกอบการสายการบินถึงรูปแบบการฟื้นตัวของการเดินอากาศจะทำให้มีทิศทางการดำเนินการที่สอดคล้องกันมีการเตรียมความพร้อมได้อย่างตรงจุดและเหมาะสมกับแผนการกลับมาให้บริการของผู้ประกอบการ
โดย EIC คาดว่ารูปแบบการฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงที่เหลือของปี 2020 ตามการป้องกันแพร่ระบาดและแรงกดดันจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่เข้าสู่ภาวะถดถอยโดยเริ่มจากเส้นทางบินภายในประเทศหากยกเลิก lock down เหมือนกับในจีนและเกาหลีใต้ที่สายการบินเริ่มเปิดให้บริการภายในประเทศโดยเฉพาะตามความต้องการเดินทางเพื่อทำธุรกิจซึ่งบางส่วนอาจลดลงจากการใช้ VDO Conference จากนั้นหากสถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้นและความกังวลในการติดเชื้อลดลงจะทำให้ประชาชนซึ่งอยู่ที่บ้านเป็นระยะเวลานานต้องการเดินทางท่องเที่ยวและทำให้การเดินทางเพิ่มขึ้น
ส่วนในเส้นทางระหว่างประเทศการฟื้นตัวคาดว่าจะช้ากว่าเนื่องจากมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศจะกินระยะเวลานานก่อนยกเลิกโดยความต้องการเดินทางเพื่อธุรกิจและการศึกษาจะฟื้นตัวก่อนเช่นกันส่วนความต้องการเดินทางท่องเที่ยวจะเริ่มฟื้นในเส้นทางระยะสั้น (short-haul) เนื่องจากนักท่องเที่ยวใช้เวลาวางแผนล่วงหน้าไม่นานนักหรือในเส้นทางที่เดินทางไปยังประเทศที่ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดและอนุมัติฟรีวีซ่าและสุดท้ายการเดินทางในเส้นทางระยะยาว (long-haul) จะเริ่มฟื้นตัวและทำให้การเดินทางในเส้นทางระหว่างประเทศฟื้นตัวเพียง 50% ในช่วงปลายปี 2020
อีกทั้งภาครัฐอาจขอความร่วมมือกับสายการบินในการให้บริการเดินอากาศในเส้นทางที่จำเป็นและครอบคลุมจุดหมายปลายทางที่สำคัญซึ่งจะช่วยให้เกิดการฟื้นตัวของธุรกิจอย่างทั่วถึงพร้อมทั้งช่วยแก้ไขและอำนวยความสะดวกในด้านกฎระเบียบต่างๆเช่นการขออนุญาตเดินอากาศการต่ออายุใบอนุญาตของบุคลากรและการเจรจากับหน่วยงานกำกับในต่างประเทศเป็นต้นและสุดท้ายการสร้างกลไกความร่วมมือของภาครัฐภาคธุรกิจสายการบินและภาคสาธารณสุขเพื่อช่วยกันในการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดและหาข้อสรุปแนวทางการเดินอากาศในช่วงฟื้นตัวที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดซ้ำเช่นการวางแผนคัดกรองผู้โดยสารการจัดทำแผนที่นั่ง (seating policies) เพื่อเว้นระยะห่างที่นั่งและการปรับปรุงแพ็กเกจอาหารบนเครื่องบินเป็นต้น
อย่างไรก็ดีภาครัฐยังต้องพิจารณารายละเอียดในหลายมิติถึงความเหมาะสมและรูปแบบในการให้ความช่วยเหลือแก่สายการบินของไทยที่ได้รับผลกระทบโดยธุรกิจการบินถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นธุรกิจหลักที่ช่วยสนับสนุนธุรกิจต่อเนื่องอีกหลายธุรกิจเช่นธุรกิจท่องเที่ยวโรงแรมร้านอาหารเป็นต้นซึ่งจะช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศและช่วยให้เกิดกระจายรายได้สู่ชุมชนได้อย่างรวดเร็วทำให้การช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นสิ่งที่ค่อนข้างจำเป็น
โดยอาจจะต้องพิจารณาในอีกหลายประเด็นให้รอบคอบก่อนหากจะให้ความช่วยเหลือทั้งรูปแบบการให้ความช่วยเหลือระดับความเหมาะสมในการช่วยเหลือและประโยชน์ที่จะได้รับอีกทั้งยังต้องพิจารณาถึงฐานะการคลังของประเทศซึ่งจะต้องนำไปช่วยเหลือแก่ธุรกิจอื่นๆและประชาชนอีกจำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแพร่ระบาดเช่นเดียวกัน