“เราจะมองเห็นแจ่มชัดด้วยหัวใจเท่านั้น สิ่งสำคัญไม่อาจเห็นได้ด้วยตา” วลีที่ทรงพลังที่สุดวลีหนึ่งในโลกวรรณกรรมนี้ คือถ้อยคำที่ตัวละครสุนัขจิ้งจอกเอ่ยกับเจ้าชายน้อย ซึ่งปรากฎอยู่ในเนื้อหาของวรรณกรรมเจ้าชายน้อย ที่ถูกตีพิมพ์ขึ้นมาในปี 1943 และกลายมาเป็นวรรณกรรมที่ช่วยสร้างการเติบโตภายในจิตใจสำหรับผู้อ่านทุกคนมาอย่างยาวนาน จนในปี 2020 นี้ นับเป็นปีที่เจ้าชายน้อยถือกำเนิดขึ้นมาบนโลกครบ 77 ปี ซึ่งจะมีที่ไหนให้เราได้สัมผัสโลกของเจ้าชายน้อยได้แบบสมจริงมากไปกว่า The Little Prince Museum
The Little Prince Museum พิพิธภัณฑ์เจ้าชายน้อยที่ยกดาว B 612 มาไว้กลางเมืองฮาโกเน่
พิพิธภัณฑ์ The Little Prince Museum หรือชื่ออย่างเป็นทางการ Museum of Saint-Exupery and The Little Prince เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อฉลองวาระครบ 100 ปี ของอองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี (Antoine de Saint-Exupery) ผู้เขียนเจ้าชายน้อย ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองฮาโกเน่ จังหวัดคานางาวะ ประเทศญี่ปุ่น โดยเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งเดียวของโลกที่ออกแบบในธีมของโลกเจ้าชายน้อยทั้งหมด ทั้งพื้นที่โดยรอบยังจัดวางโดยการจำลองจากเมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี 1990 ซึ่งเป็นปี และบ้านเกิดของผู้เขียนนั่นเอง ทำให้นอกจากตัวพิพิธภัณฑ์หลักแล้ว เราจะสัมผัสถึงความเป็นฝรั่งเศส และโลกของเจ้าชายน้อยอาทิเช่นดาวบี 612 ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ผ่านบรรยากาศทางเดิน พื้นที่สีเขียว อาคารต่าง ๆ ที่ประดับไปด้วยประติมากรรมคาแรคเตอร์หลายตัวจากวรรณกรรมเจ้าชายน้อย
โดยในส่วนของภายในตัวพิพิธภัณฑ์หลักนั้น จะแบ่งการจัดแสดงออกเป็นหมวด ๆ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของวรรณกรรมเจ้าชายน้อย ชีวประวัติของอองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี โซนประติมากรรมเจ้าชายน้อย โซนที่มีการรวบรวมหนังสือเจ้าชายน้อยเวอร์ชันภาษาต่าง ๆ ทั่วโลก และยังมีกิจกรรม Stamp Rally ที่จะให้ผู้มาเยี่ยมชมได้นำสมุดไปตามเก็บแสตมป์ในจุดต่าง ๆ ของพื้นที่ในพิพิธภัณฑ์ แล้วเอากลับไปเป็นที่ระลึกได้อีกด้วย และนอกจากตัวอาคารต่าง ๆ ถนนหนทาง และสวนสาธารณะแล้ว ภายใน The Little Prince Museum ยังมีร้านคาเฟ่อย่าง Restaurant Le Petit Prince ที่เสิร์ฟเมนูอาหารคาวหวานที่ได้แรงบันดาลใจในการรังสรรค์เมนูมาจากวรรณกรรมเจ้าชายน้อยนั่นเอง หรือจะเป็นร้านขายของที่ระลึกเกี่ยวกับเจ้าชายน้อยที่ไม่ว่าใครเผลอเข้าไปก็ต้องควักเงินจ่ายกันรัว ๆ จนหมดตัวแน่นอน
เรียกว่าสำหรับใคร ๆ ที่เป็นแฟนวรรณกรรมเล่มนี้ ซึ่งว่าด้วยการเดินทางของเจ้าชายน้อยไปตามดาวต่าง ๆ ที่มีเนื้อหาอันเรียบง่าย และแฝงไปด้วยความละมุนละม่อมในการทำความเข้าใจโลกผ่านสายตาแห่งวัยเยาว์ของเจ้าชายน้อย ที่จะทำให้เรารู้ซึ้งถึงคุณค่าของการคงไว้ซี่งความเป็นเด็กในตัวตน ความฝัน ความหวัง และความสัมพันธ์ที่มอบให้กันอย่างจริงใจ ทั้งยังชวนตั้งคำถามถึงการโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ของเรา ซึ่งสำหรับเราเองนั้น ทุกครั้งที่กลับมาอ่าน ก็จะได้ทบทวนตัวเอง และได้ความรู้สึกนึกคิดที่ตกผลึกใหม่ ๆ จากวรรณกรรมเล่มนี้อยู่เสมอ และเชื่อว่าแฟน ๆ เจ้าชายน้อยทุกคนก็คงจะได้รับในความรู้สึกดี ๆ ที่เกิดจากความคิดความอ่านอันชาญฉลาด และอ่อนโยนของ อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี ที่ปรากฎอยู่ในทุกถ้อยอักษรของวรรณกรรมเจ้าชายน้อยเช่นเดียวกับเรา
การเดินทาง เวลาเปิดปิด และค่าเข้าชมของ The Little Prince Museum
พิพิธภัณฑ์ The Little Prince Museum นั้น ตั้งอยู่ในเมืองฮาโกเน่ จังหวัดคานางาวะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในช่วงนี้ทำให้ตัวพิพิภัณธ์ต้องทำการปิดชั่วคราวจนถึงวันที่ 6 พฤษภาคม 2563 ทั้งนี้ในเวลาทำการปกติตัวพิพิธภัณฑ์จะมีรายละเอียดการทำการดังนี้
– ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 1,600 เยน / นักเรียน-นักศึกษา-ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป 1,100 เยน / นักเรียนระดับชั้นมัธยมต้นลงไป 700 เยน
– เวลาเปิด-ปิดทำการ เปิดทุกวันเวลา 09:00-18:00 น. และปิดทุกวันพุทธที่ 2 ของเดือน ยกเว้นเดือนมีนาคม และเดือนสิงหาคม
– การเดินทาง หากเริ่มต้นเส้นทางจากโตเกียว สามารถไปขึ้นรถบัสที่สถานีรถบัสด่วนชินจูกุ (Hight-Buses) เส้นทาง Odakyu Hakone สาย Hakone โดยจะใช้เวลาประมาณ 120 นาที เพื่อมาลงที่ป้าย “Kawamukai” / หรือสามารถขึ้นรถไฟชินคันเซ็น มาลงที่สถานี Odawara แล้วต่อรถบัส Hakone Tozan ที่เดินรถไปยัง Gendai เพื่อมาลงที่ป้าย Oujisama Museum ใช้เวลาเดินทางประมาณ 50 นาที
ขอบคุณข้อมูลกับรูปภาพประกอบ และสามารถดูรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับ The Little Prince Museum เพิ่มเติมได้ที่ http://www.tbs.co.jp/l-prince/?fbclid=IwAR1ziR98jMm0X8jaZsI4zNEf0sAq4EssSbJj3OOMbYu5wsHH8o7mP2VRAgE
การปรากฎตัวของเจ้าชายน้อยในประเทศไทย
วรรณกรรมเจ้าชายน้อยฉบับภาษาไทยได้รับการแปลครั้งแรกในปีพ.ศ. 2512 โดยสำนวนการแปลของคุณอำพรรณ โอตระกูล จัดพิมพ์จำหน่ายโดยสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพาณิช โดยถูกจัดให้อยู่ในหมวดวรรณกรรมเยาวชน ก่อนจะมีการนำมาพิมพ์ใหม่อยู่เรื่อย ๆ ในสำนวนการแปลของนักแปลหลายคน และหากนับฉบับแปลจากทั่วโลก วรรณกรรมเจ้าชายน้อยยังถือว่าเป็นหนังสือที่ได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ ถึง 380 ภาษา มากเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงคัมภีร์ไบเบิลเท่านั้น ทั้งตัววรรณกรรมยังถูกต่อยอดไปสร้างเป็นสื่อในอีกสารพัดรูปแบบทั้ง ละครเวที ภาพยนตร์ ละครเพลง แอนิเมชัน นิทรรศการ งานจิตรกรรม ฯลฯ จนไม่น่าแปลกใจที่วรรณกรรมชิ้นนี้จะยังได้รับความนิยมชมชอบจากหลาย ๆ คนมานานถึง 77 ปี