เปิดใช้งานเรียบร้อยกับ “สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา” (Chao Phraya Sky Park) โดยนับเป็นสวนสาธารณะข้ามแม่น้ำแห่งแรกของไทย ที่หลังจากนี้น่าจะได้รับความนิยมในการไปเยือนมากทีเดียว BLT จึงอดไม่ได้ที่จะยก 8 พิกัดน่าเที่ยวในระยะเดินไปก็ได้ นั่งรถก็แป๊ปเดียวจาก สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา ให้ทุกคนได้ไปตามเที่ยวกัน
อาคารไปรษณียาคาร – อยู่ห่างประมาณ 230 เมตรจาก สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา
ไปรษณียาคาร หรือเดิมสะกดว่า ไปรสะนียาคาร นับเป็นอาคารที่ตั้งดั้งเดิมของกรมไปรษณีย์ และที่ทำการไปรษณีย์แห่งแรกของประเทศไทย โดยปัจจุบันถูกใช้เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ที่เปิดจัดแสดงข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของไปรษณีย์ไทย โดยตัวอาคารก่อสร้างครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2414 เพื่อใช้เป็นที่ทำการของกรมไปรษณีย์โทรเลข ก่อนจะถูกทุบทิ้งเมื่อปี พ.ศ. 2525 เพื่อเปิดทางให้กับการก่อสร้างสะพานพระปกเกล้า
ต่อมาไปรษณียาคาร ได้ถูกสร้างขึ้นใหม่ ในปี พ.ศ. 2546 โดยคงรูปแบบสถาปัตยกรรมของตัวอาคารตอนแรกไว้ เพื่อให้เป็นอนุสรณ์สถานสำคัญอีกแห่งของไทย และกลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ของการไปรษณีย์ไทยอย่างทุกวันนี้
อาคารไปรษณียาคาร ตั้งอยู่ที่ เชิงสะพานพระปกเกล้า (ฝั่งพระนคร) แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กทม. 10200 / ตอนนี้พื้นที่ภายในพิพิธภัณฑ์ ยังคงปิดให้บริการ แต่เราสามารถมาเยี่ยมชมสถาปัตยกรรมภายนอกของตัวอาคารได้ตลอดเวลา / ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-831-3934
สะพานพระพุทธยอดฟ้า – อยู่ห่างประมาณ 500 เมตรจาก สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา
สะพานพระพุทธยอดฟ้า เป็นสะพานที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2472 เนื่องในโอกาสสถาปนากรุงเทพมหานครครบ 150 ปี เปิดใช้งานเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2475 ตัวสะพานมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ (Phra Phuttha Yodfa Bridge, Memorial Bridge)
ตัวสะพานจะเป็นโครงเหล็กที่มีขนาด 229.76 x 10 x 7.30 ความยาว x ความกว้าง x ความสูง (ม.) ทำหน้าที่เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เชื่อมการคมนาคมระหว่างฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีของกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันพื้นที่โดยรอบสะพานยังมีสวนสาธารณะ ลานกีฬา และตลาดนัดกลางคืน ให้ได้มาเดินเที่ยวอีกด้วย
สะพานพระพุทธยอดฟ้า ตั้งอยู่ที่ ถ.ตรีเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กทม. 10200 / สะพานพระพุทธยอดฟ้า มีพื้นที่ส่วนทางเดินเท้าให้ประชาชนได้มาเดินเล่นกันได้ตลอดเวลา
วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร – อยู่ห่างประมาณ 1 กิโลเมตรจาก สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา
วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ที่ตั้งอยู่ใกล้เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งธนบุรี ก่อสร้างขึ้นมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) โดยเริ่มสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2371-2379 ภายในวัดประกอบไปด้วยปูชนียวัตถุ และถาวรวัตถุสำคัญหลายชิ้น
เริ่มจากพระอุโบสถ วิหารพระพุทธนาคศักดิ์สิทธิ์ อุทยานเขามอ (เขาเต่า) เจดีย์ท่านขรัวแก้ว หรือจะเป็นพระบรมธาตุมหาเจดีย์ ที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนจากสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา
วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ตั้งอยู่ที่ 24 ถ.ประชาธิปก แขวงวัดกัลยา เขตธนบุรี กทม. 10600 / เบอร์โทรศัพท์ 02-466-1693 / www.watprayoon.com
วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร – อยู่ห่างประมาณ 1.1 กิโลเมตรจาก สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา
วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร เป็นวัดที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2368 และน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระอารามหลวง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ได้พระราชทานนามว่า “วัดกัลยาณมิตร” และทรงสร้างพระวิหารหลวง และพระประธานพระราชทาน เป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ชื่อ “พระพุทธไตรรัตนนายก” หรือ หลวงพ่อโต และบริเวณหน้าวิหารหลวง ยังเป็นที่ตั้งของหอระฆังที่จัดเก็บหนึ่งในระฆังที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยด้วย
วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ที่ ถ.อรุณอมรินทร์ตัดใหม่ แขวงวัดกัลยา เขตธนบุรี กทม. 10600 / เบอร์โทรศัพท์ 086-709-2829 / FB : วัดกัลยาณมิตร วรมหาวิหาร
วัดซางตาครู้ส – อยู่ห่างประมาณ 1.2 กิโลเมตรจาก สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา
วัดซางตาครู้ส หรือโบสถ์ซางตาครู้ส (Santa Cruz Church) คือโบสถ์คริสต์นิกายโนมันคาทอลิกที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในซอยกุฎีจีน โดยนับเป็นอาคารหลังที่สามของการสร้างขึ้นเพื่อทดแทนอาคารวัดหลังเดิมที่เสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา ซึ่งตัววัดเป็นอาคารรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา และสถาปัตยกรรมฟื้นฟูคลาสสิก โดยมีจุดเด่นอยู่ที่ยอดโดมแบบอิตาลีซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับโดมแห่งมหาวิหารฟลอเรนซ์ และติดตั้งกระจกสีที่บอกเล่าเรื่องราวทางคริสต์ศาสนาอย่างสวยงาม
วัดซางตาครู้ส ตั้งอยู่ที่ 112 ซ.กุฎีจีน แขวงวัดกัลยา เขตธนบุรี กทม. 10600 / เบอร์โทรศัพท์ 02-472-0154 / watsantacruz.org
ชุมชนกุฎีจีน – อยู่ห่างประมาณ 1.3 กิโลเมตรจาก สวนลอยฟ้า
แน่นอนว่ามาวัดซางตาครู้สแล้ว จะไม่ให้แวะเที่ยว ชุมชนกุฎีจีนด้วย ก็ดูจะเสียเที่ยว เพราะนับเป็นย่านชุมชนเก่าแก่ของฝั่นธนบุรีที่รุ่มรวยไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม จากผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทั้งชาวไทย จีน ฝรั่ง มอญ ฯลฯ โดยภายในพื้นที่ชุมชนจะมีสถาปัตยกรรม พิพิธภัณฑ์ และร้านอาหารท้องถิ่นให้เราเดินเที่ยวกันได้อย่างเพลิน ๆ ทั้งวัน
ชุมชนกุฎีจีน ตั้งอยู่ที่ 271 ซ.กุฎีจีน 3 ถ.เทศบาลสาย 1 แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กทม. 10600 / เบอร์โทรศัพท์ 08-1772-5184 / FB : Baan Kudichin Museum / baankudichinmuseum.com
ศาลเจ้ากวนอู (คลองสาน) – อยู่ห่างประมาณ 1.6 กิโลเมตรจาก สวนลอยฟ้า
ศาลเจ้าเก่าแก่ที่เป็นศาสนสถานสำคัญที่สุดหลังหนึ่งของชาวชุมชนคลองสาน ที่สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2279 สมัยอยุธยาตอนปลายในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปัจจุบันตัวศาลเจ้าตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในชุมชนสมเด็จย่า ใกล้กับสวนสมเด็จย่า ซึ่งได้รับความเคารพนับถือจากชาวบ้านในพื้นที่ ตลอดจนผู้มีจิตศรัทธาจากแหล่งอื่น ๆ ที่แวะเวียนมาสักการะที่ศาลเจ้าแห่งนี้อย่างไม่ขาดสายในแต่ละวัน
ศาลเจ้ากวนอู ตั้งอยู่ที่ ซ.สมเด็จเจ้าพระยา ซ.หลังอุทยานสมเด็จย่า กทม., 354/3 สุดเกษม / เบอร์โทรศัพท์ 02-439-6309 / FB : ศาลเจ้ากวนอู ตลาดสมเด็จเจ้าพระยา คลองสาน
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร – อยู่ห่างไปประมาณ 1.6 กิโลเมตรจาก สวนลอยฟ้า
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร หรือที่เราพูดกันติดปากว่า วัดแจ้ง เป็นวัดโบราณที่สร้างในสมัยอยุธยา นับเป็นพุทธศาสนสถานที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร โดยไฮไลต์ของวัดอรุณฯ ที่น่าจะดึงดูดผู้คนให้เข้ามาเยี่ยมชมได้มากที่สุด คงหนีไม่พ้น พระปางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร กับองค์พระปรางก่ออิฐถือปูน ที่ประดับไปด้วยเปลือกหอย กระเบื้องเคลือบ จานชามเบญจรงค์สีต่าง ๆ ในลายดอกไม้ ใบไม้ ฯลฯ ดูงดงาม น่าเลื่อมใส
โดยพระปรางค์วัดอรุณฯ นับเป็นภาพแทนของการท่องเที่ยวไทยที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน ทั้งรอบพระปรางค์ใหญ่วัดอรุณฯ ยังประกอบไปด้วยพระปรางค์เล็ก 4 องค์ ที่ประดิษฐานอยู่ทั้ง 4 ทิศ ซึ่งแน่นอนว่า พระปรางค์วัดอรุณฯ นั้น นับเป็นทัศนียภาพสุดสวยที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนจาก สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา
วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ที่ 158 ถ.วังเดิม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กทม. 10600 / เบอร์โทรศัพท์ 02-891-2185 / FB : สำนักงานกลางวัดอรุณราชวราราม / www.watarun1.com/th / วัดอรุณฯ จะกลับมาเปิดให้เข้าชมภายในวัดอีกครั้งในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563