Tuesday, October 3, 2023
More

    5 มรดกโลกในอาเซียน วัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่และงดงามที่น่าไปเยือนสักครั้งในชีวิต

    มรดกโลกในกลุ่มประเทศอาเซียนนับว่ามีความหลากหลายผสมผสาน และโดดเด่นไม่น้อยไปกว่าภูมิภาคอื่นของโลก โดยเฉพาะความเชื่อ วัฒนธรรมและศาสนาที่แตกต่างกัน ก็ยิ่งทำให้มิติของมรดกโลกในดินแดนเอเชียอาคเนย์น่าค้นหายิ่งขึ้น

    พุกาม, เมียนมา


    มรดกโลกทางวัฒนธรรมที่มาแรงที่สุดของอาเซียนในช่วงปีที่ผ่านมา เพราะได้รับสถานะรับรองจากยูเนสโกไปเมื่อปีก่อน (2019) แต่อาณาจักรเก่าของเมียนมา ฉายาเจดีย์สองพันองค์ ก็เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักเดินทางมานานแล้ว

    ใครได้ไปเห็นความวิจิตรของอาณาจักรโบราณ ที่ยังหลงเหลือเจดีย์นับร้อยนับพันท่ามกลางป่าเขาโล่งกว้าง ทาบทาด้วยแสงอาทิตย์อัสดง หรือแสงแรกของวัน ก็ล้วนได้รับความประทับใจกลับมาทั้งนั้น ในเมืองพุกาม ยังมีวัดวาอารามเก่าแก่ โดยเฉพาะสถานที่สำคัญอันเป็น 1 ใน 5 มหาศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเมียนมานับถือ คือ มหาเจดีย์ชเวสิกอง (Shwezigon) ที่วิจิตรอร่ามเรืองด้วยสีทอง หรือจะลองไปล่องเรือสัมผัสวิถีชีวิตริมแม่น้ำอิรวดีก็ล้วนเป็นประสบการณ์น่าจดจำ

    โบสถ์บาโรก, ฟิลิปปินส์

    โบสถ์โรมันคาทอลิกทั้ง 4 แห่งบนดินแดนพันเกาะ บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในยุคสมัยของการล่าอาณา นิคมของประเทศตะวันตกได้เป็นอย่างดี จัดเป็นมรดกโลกแห่งคริสตศาสนาที่สำคัญ ไฮไลท์อย่างโบสถ์ซานออกุสติน ในกรุงมะนิลา เป็นหนึ่งในกลุ่มโบสถ์บาโรกแห่งฟิลิปปินส์ ที่เด่นชัดในความงดงามของสถาปัตยกรรมแบบสเปน ผนังโบสถ์ด้านหน้าตกแต่งด้วยเสาสไตล์ดอริก ตามแบบฉบับของสถาปัตยกรรมกรีกโบราณ เข้ากับผนังพื้นเรียบและบานประตูแกะสลักรูปนักบุญออกุสตินดูเรียบง่าย ซึ่งความสำคัญของโบสถ์แห่งนี้ นอกจากจะเป็นโบสถ์ที่มีความเก่าแก่มากที่สุดแล้ว ยังเป็นสถานที่เพียงหนึ่งเดียวในอินทรามูรอสที่รอดพ้นจากแรงระเบิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

    ปรัมบานัน, อินโดนีเซีย

    กลุ่มวัดฮินดู ปรัมบานัน อยู่ในเมืองยกยาการ์ตา (Yogyakarta) เมืองแห่งอารย-ธรรมเก่าแก่ ภายในแนวกำแพงสี่เหลี่ยมอลังการไปด้วยเทวาลัยแบบศิลปะชวาภาคกลางตอนปลายในราชวงศ์สัญชัย ซึ่งนับถือศาสนาฮินดู บริเวณตรงกลางคือเทวาลัยขนาดใหญ่สร้างขึ้นด้วยหิน จำนวน 8 องค์ สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่เทพเจ้าในศาสนาฮินดู งดงามด้วยศิลปะที่ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศอินเดีย ศาสนสถานที่อลังการซ่อนตัวอยู่ในผืนป่าส่วนใหญ่พังทลายลงจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในช่วงศตวรรษที่ 17 และถูกหลงลืมไปเนิ่นนาน ปล่อยรกร้าง จนเข้าสู่ช่วงศตวรรษที่ 20 โบราณสถานแห่งนี้ก็ได้รับการบูรณะและเผยความยิ่งใหญ่กลับมาอีกครั้ง ถือเป็นศาสนสถานของศาสนาฮินดูที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย รวมถึงใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

    ทุ่งไหหิน, สปป.ลาว

    นับเป็นมรดกโลกใหม่เช่นกัน (รับรองในปี 2019) ความสำคัญของสถานที่แห่งนี้ คือ หลักฐานทางโบราณคดีที่มีอายุไม่น้อยกว่า 2,000-3,000 ปี หินทรงไหขนาดใหญ่ความสูงตั้งแต่ 1-3 เมตร จำนวนกว่าสองพันชิ้น กระจายไปทั่วแนวภูเขาในเมืองโพนสะหวัน แขวงเชียงขวาง ข้อสันนิษฐานโดยสังเขป ว่ากันว่าอาจเกี่ยวข้องกับพิธีศพ ใช้บรรจุร่างหรือกระดูก และอาจเป็นจุดที่ระบุตำแหน่งสำหรับการฝังศพ แต่หากเรื่องเล่าในเชิงตำนานก็ว่าเป็นไหบรรจุเหล้าที่นำมาฉลองชัยชนะของกษัตริย์ล้านช้าง (ประมาณสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น) รวมถึงข้อสันนิษฐานปรากฏการณ์ธรรมชาติที่น่ามหัศจรรย์และลึกลับ รูปแบบเดียวกับสโตนเฮนจ์ ประเทศอังกฤษ ทุ่งไหหินของประเทศลาว ได้รับการรับรองจากองค์การ  ยูเนสโก ภายใต้ชื่ออย่างเป็นทางการว่า Megalithic Jar Sites in Xiengkhuang – Plain of Jars

    มะละกาและจอร์จทาวน์,  มาเลเซีย

    สองเมืองสำคัญของประเทศมาเลเซีย พื้นที่ช่องแคบมะละกา ที่ราวกับว่าอาคารบ้านเรือนถูกหยุดเวลาเอาไว้ ให้คงความคลาสสิคของสถาปัตยกรรมดั้งเดิมเมื่อหลายร้อยปีก่อน ที่ผสมผสานกันแบบตะวันตกและตะวันออก ที่นี่เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นความรุ่งเรืองของการค้าขายในสมัยก่อน ทั้งยังกลมกลืนไปด้วยวัฒนธรรมของศาสนา อาหารการกิน เชื้อชาติ ที่หลากหลายอยู่ในเมืองเดียวกัน ไม่แปลกนักหากผู้มาเยือนจะตื่นตาตื่นใจไปกับสถาปัตยกรรมโคโลเนียลแบบชิโน-โปรตุกีส ที่ราวกับเป็นเมืองเก่าของชาวตะวันตก แต่วิถีชีวิตที่ขับเคลื่อนนั้น เป็นชาวจีน อินเดีย หรือชาวมลายูท้องถิ่น  

    ———————

    DO YOU KNOW?

    ประเทศที่มีมรดกโลกมากที่สุดคือ อินโดนีเซีย 9 แห่ง, เวียดนาม 8 แห่ง, ฟิลิปปินส์ 6 แห่ง, ไทย 5 แห่ง, มาเลเซีย 4 แห่ง, กัมพูชา 3 แห่ง, ลาว 3 แห่ง, เมียนมา 2 แห่ง, สิงคโปร์ 1 แห่ง