Wednesday, December 7, 2022
More

    พื้นที่ชุ่มน้ำ ระดับเวิลด์คลาส แห่งพัทลุง

    เมื่อแสงแรกของทะเลสาบบริเวณคลองปากประออกมาทักทาย ยามเช้าของบริเวณปากคลองปากประ ในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จึงเป็นช่วงเวลาทองที่ไม่เคยว่างเว้นจากนักท่องเที่ยวผู้โหยหาของขวัญจากธรรมชาติ

    นักเดินทางขาจรซึ่งมาที่นี่ครั้งแรกมักล่องเรือออกมาแต่เช้าตรู่ และหอบหิ้วความหวังที่จะได้ภาพวิถีชีวิตประมงพื้นบ้านอันเป็นเอกลักษณ์อย่างการยกยอ อันหมายถึงยอจับปลาขนาดยักษ์ที่มีลักษณะไม้ไผ่ยาวแผ่กว้างออกเป็น 4 แฉก อยู่บนโครงไม้คล้ายนั่งร้านเรียงรายอยู่เหนือผิวน้ำ กลายเป็นทิวทัศน์คล้ายจิตรกรรมลายเส้น ขีดเขียนไว้กลางทะเล


    ยอเหล่านี้สร้างไว้เพื่อใช้หาปลาลูกเบร่ สายพันธุ์เดียวกับปลาไส้ตันหรือปลากะตัก บางครั้งก็อาจได้ปลาชนิดอื่นติดมาบ้าง และนับเป็นระยะเวลาประมาณ 40 ปีแล้วที่คลองปากประเริ่มมีการใช้ยอ วิถีประมงรูปแบบพอเพียงไม่ทำลายธรรมชาติ เพราะแค่วางยอลงไปในน้ำรอให้ปลาว่ายเข้ามาเองแล้วก็ยกขึ้น มีข้อห้ามเดียว คือ อย่าสร้างขวางทางน้ำ

    แม้ว่าในวันนี้วิถีประมงพื้นบ้านเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อย่างเห็นผล แต่การยกยอ เป็นเพียงเครื่องเคียงเท่านั้น เมื่อเทียบกับเมนูหลักของการท่องเที่ยวในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา (เขตจังหวัดพัทลุง) นั่นคือ อาณาเขตกว้างใหญ่ของพื้นที่ชุ่มน้ำที่ครอบคลุมพื้นที่สามจังหวัด ได้แก่ พัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นแหล่งรวมสายพันธุ์นกมากมายประมาณ 187 ชนิด ทั้งนกประจำถิ่น และนกอพยพในช่วงฤดูหนาว อันมาจากความอุดมสมบูรณ์ของทุ่งหญ้าลาโพ (หญ้าแขม) และป่าพรุเสม็ดขาว ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านหลังแรกของนกนานาชนิดได้ฟูมฟักหลบลมหลบฝนและสัตว์นักล่า และระบบนิเวศกับวิถีชีวิตที่ดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนนี่เอง ทำให้ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ควรค่าแก่การไปเยือนสักครั้งในชีวิต